หยั่งรู้ จิตใจสัตว์ : พวกมันคิดอะไร คิดเหมือนมนุษย์ไหม คำตอบคือ ‘ได้’

จิตใจสัตว์ :จากหนูที่รู้จักเห็นอกเห็นใจไปถึงลิงขี้บ่น สัตว์บางชนิดมีอารมณ์ความรู้สึกซับซ้อนไม่ต่างไปจากมนุษย์

ผมเลี้ยงชาร์ลี สุนัขพันธุ์บลัดฮาวนด์ที่ดมกลิ่นได้แย่อย่างน่าขายหน้า มาแปดปีแล้ว มันทักทายผมอย่างลิงโลดทุกครั้งที่ผมกลับเข้าบ้าน แม้กระทั่งหลังจากออกไปซื้อของชำประเดี๋ยวเดียว ผมจะได้ยินเสียงมันสะบัดหางกระทบพื้นดังตุ้บๆๆอยู่ในห้องข้างๆเวลาที่ผมหัวเราะ มันร่วมยินดีกับผม แม้ตอนที่มองไม่เห็นผม

ถึงจะผูกพันกันเช่นนี้ ผมก็มักนั่งข้างๆมันบนโซฟา กอดมัน และถามภรรยาว่า “คุณว่ามันรักผมไหม” “รักสิคะ!” เธอตอบอย่างออกจะรำคาญอยู่บ้าง ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะผมถามเธอบ่อยเหลือเกิน

กิจวัตรนี้เกือบจะเป็นพิธีกรรมประจำบ้านไปแล้ว ผมสงสัยว่าชาร์ลีคิดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า เวลาเห็นมันอาบแดดอยู่บนระเบียงหน้าบ้าน ผมมักครุ่นคิดถึงคำถามที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่น สมองของสัตว์มีความละม้ายคล้ายสมองมนุษย์มากน้อยแค่ไหน สัตว์ชนิดอื่นมีความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำแบบเดียวกับเราหรือเปล่า

นักชีววิทยาทางทะเล เดวิด ชีล นำไฮดีไปเลี้ยงไว้ในบ้านที่เขาอยู่กับลูกสาวเพื่อสังเกตพฤติกรรมของหมึกสาย เวลาชีลจิบชายามเช้า ไฮดีจะยืดเหยียดร่างกายเหมือนทำโยคะอยู่ในตู้ เวลาครอบครัวดูโทรทัศน์ ไฮดีก็ดูโทรทัศน์ เวลาพวกเขากลับบ้าน มันจะว่ายวนไปมา (ภาพถ่าย: ควินตัน สมิท, PASSION PLANET)
ลิงกังญี่ปุ่นจ้องเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกเขม็ง ลิงบางชนิดดูจะจดจำภาพตัวเองที่พวกมันเห็นได้ เหมือนกับพวกเอป นักวิทยาศาสตร์ใช้สิ่งที่เรียกว่าการทดสอบส่องกระจกเพื่อดูว่าสัตว์มีความตระหนักรับรู้ถึงตัวตนของมันเองหรือไม่ (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์)

ในฐานะมนุษย์ เรายังคงถือว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตสุดพิเศษ แตกต่างจากสัตว์อื่นๆโดยพื้นฐาน แต่ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รวบรวมหลักฐานแสดงความฉลาดของสิ่งมีชีวิตอื่นๆจำนวนมาก กานิวแคลิโดเนียใช้กิ่งไม้เล็กๆเกี่ยวตัวอ่อนแมลงจากรังในต้นไม้ หมึกสายหลายชนิดแก้ปริศนาได้และอำพรางโพรงที่มันอยู่ด้วยการวางหินบังปากโพรง เราไม่มีข้อสงสัยแล้วว่า สัตว์หลายชนิดมีความสามารถในการรู้คิดที่น่าทึ่ง แต่ความสามารถเหล่านั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาอัตโนมัติอันซับซ้อน เป็นไปเพื่อการเอาชีวิตรอดและการสืบพันธุ์ล้วนๆ หรือมีอะไรมากกว่านั้น

การศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเรื่องราวที่ได้จากการเฝ้าสังเกตในธรรมชาติ เช่น วาฬเพชฌฆาตที่ลากซากลูกวาฬไปมาหลายสัปดาห์ เผยให้เห็นว่าสัตว์หลายชนิดมีอะไรหลายอย่างเหมือนมนุษย์ยิ่งกว่าที่เคยคิดกันไว้มาก ช้างเศร้าเป็น โลมารู้จักเล่นเพื่อความสนุก หมึกกระดองมีบุคลิกโดดเด่นเฉพาะตัว นกราเวนดูจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาวะอารมณ์ของนกราเวนตัวอื่นๆ ไพรเมตหลายชนิดมีมิตรภาพแน่นแฟ้น ในสัตว์บางชนิด เช่น ช้างและวาฬเพชฌฆาต ตัวสูงวัยจะถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ให้พวกที่อายุน้อยกว่า สัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด รวมถึงหนู รู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจและความเมตตา

นักพฤติกรรมศาสตร์ในสัตว์จากรูรัลคอลเลจ สกอตแลนด์ ถ่ายภาพหมูเพศเมีย ซึ่งมีแสงจากไฟวงแหวนฉายจับ และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์วิเคราะห์โดยใช้ขั้นตอนวิธีหรืออัลกอริทึม เพื่อศึกษาการแสดงสีหน้าอันซับซ้อน (ภาพถ่าย: อีฟกีเนีย อาร์บูเกวา)
แกะตัวหนึ่งพินิจพิจารณาชุดตัวเลขเพื่อเลือกตัวเลขที่มันถูกสอนให้จดจำ แกะเก่งเรื่องนี้ พวกมันจดจำใบหน้า ซึ่งเป็นทักษะเชิงสังคมระดับสูงได้ด้วย (ภาพถ่าย: อีฟกีเนีย อาร์บูเกวา)

ภาพที่เริ่มปรากฏของการมีความรู้สึกนึกคิด และชีวิตภายในที่ซับซ้อนในบรรดาสิ่งมีชีวิตจำนวนมากจนน่าแปลกใจเหล่านี้ เทียบได้กับการปฏิวัติมุมมองที่เรามีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลก เราไม่เคยคิดว่าสมองสัตว์เป็นเรื่องที่คู่ควรต่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มาก่อนจนกระทั่งราวสามสิบปีที่แล้ว “และความรู้สึกของสัตว์ก็เป็นเรื่องของคนเพ้อฝันเท่านั้น” ฟรันส์ เด วาล นักพฤติกรรมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอเมอรี ผู้ศึกษาพฤติกรรมของไพรเมตมาตลอดชีวิต บอก เด วาล เป็นหนึ่งในคนแรกๆที่ผลักดันให้เกิดการยอมรับในสำนึกรู้ของสัตว์ เขาบอกว่า นักวิทยาศาสตร์เริ่มยอมรับว่าสัตว์บางชนิดมีความรู้สึกนึกคิดเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน แต่แย้งว่าประสบการณ์ของพวกมันเทียบไม่ได้กับของมนุษย์ จึงหามีความสำคัญไม่

บัดนี้ นักพฤติกรรมศาสตร์บางคนเชื่อว่า “กระบวนการภายในของสัตว์หลายชนิดซับซ้อนไม่ต่างจากกระบวนการภายในของมนุษย์” เด วาล บอกและเสริมว่า “ข้อแตกต่างก็คือ เราแสดงออกทางภาษาได้ เราบรรยายความรู้สึกต่างๆได้” หากผู้คนยอมรับความเข้าใจใหม่นี้อย่างกว้างขวาง นั่นอาจกระตุ้นให้เกิดการทบทวนความสัมพันธ์และการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆของมนุษย์ครั้งใหญ่ “ถ้าเรายอมรับว่าสัตว์มีอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงแมลงด้วย นั่นจะเกิดความหมายในแง่ศีลธรรมครับ” เด วาล บอก

น็อปฟี สุนัขพันธุ์ออสเตรเลียนเชปเพิร์ดที่มหาวิทยาลัยเวียนนาทำการศึกษา รู้จักนอนนิ่งๆในเครื่องเอ็มอาร์ไอ นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสมองสุนัขและพบว่ามีกิจกรรมทางสมองในบริเวณใกล้เคียงกับที่พบในสมองมนุษย์ คำชมทำให้สมองส่วนรับรู้รางวัลของสุนัขทำงาน (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์)
แชงกา ชิมแปนซีที่สวนสัตว์ไลพ์ซิกในเยอรมนี ซึ่งนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์ทำการศึกษา สำรวจกล้องถ่ายภาพความร้อน เวลามนุษย์รู้สึกเครียด จมูกจะเย็นลง นักวิทยาศาสตร์พบว่า จมูกของชิมแปนซีก็เย็นลงเช่นกันเวลาฟังคลิปเสียงหรือดูคลิปวิดีโอชิมแปนซีต่อสู้กัน การเห็นผู้ที่ตนรู้จักดูเหมือนได้รับบาดเจ็บให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าชิมแปนซีรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (ภาพถ่าย: เซบัสทีอาน ชึทเทอ และโยฮันนา เอ็คเคิร์ท, MPI FOR EVOLUTIONARY ANTHROPOLOGY)

กระนั้น การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจสมองของสัตว์ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ และเป็นประเด็นขัดแย้งด้วย นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่า การจะรู้ว่าสิ่งมีชีวิตอื่นคิดอย่างไรนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย “การหยิบยื่นความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยให้สัตว์สักตัวด้วยการพิจารณาพฤติกรรมของมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นแค่การคาดเดาครับ” เดวิด เจ. แอนเดอร์สัน นักประสาทชีววิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ผู้ศึกษาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกในหนู แมลงวันผลไม้ และแมงกะพรุน บอก นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ความโศกเศร้าและความเห็นอกเห็นใจในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ต้องเผชิญข้อกล่าวหาว่านำมุมมองหรือคุณลักษณะต่างๆของมนุษย์ไปครอบทับสิ่งที่ตนศึกษา

วิธีเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น คือการทดสอบการอนุมานต่างๆที่ได้จากพฤติกรรมสัตว์ เดวิด ชีล นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยอะแลสกาแปซิฟิก ผู้ศึกษาหมึกสาย บอก “แนวคิดที่ว่าสุนัขมีความผูกพันแนบแน่นกับมนุษย์บางคนนั้นชัดเจนมาก แต่สุนัขคือสัตว์เลี้ยง หมาจิ้งจอกทำแบบเดียวกันได้หรือเปล่า หมาป่ามีภาวะอารมณ์นั้นหรือไม่ วาฬเพชฌฆาตรู้สึกผูกพันกับสมาชิกในฝูงในระดับเดียวกันไหม โลมาผูกมิตรกับปลาสักฝูงหรือนักดำน้ำสักคนได้ไหม การรู้เองโดยสัญชาตญาณทำให้ความคิดของเราหลงทางได้ตลอดเวลา จะมีคนคิดว่า นั่นไม่จริง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ไม่ใช่มิตรภาพแน่ๆ กับคนที่คิดว่า ไม่นะ บ้าหรือเปล่า คุณกำลังบอกว่าสัตว์ไม่รู้สึกรู้สาอะไร”

นกราเวนมีความสามารถในการรู้คิดที่น่าทึ่ง ความทรงจำเฉียบคมทำให้มันจดจำได้ว่า บุคคลหนึ่งๆ ใจดีหรือใจดำ พวกมันแสดงทักษะทางอารมณ์ที่ซับซ้อน เช่น การปลอบใจนกราเวนที่แพ้การต่อสู้ และการปรับตัวรับบทบาทของตนในเครือข่ายสังคมอย่างกระตือรือร้น (ภาพถ่าย: ทิม แฟล็ก)
นกแมกพายซึ่งอยู่ในวงศ์นกกาเหมือนนกราเวน เป็นหนึ่งในสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่กี่ชนิดที่ผ่านการทดสอบ ส่องกระจก เมื่อเห็นจุดบนร่างของตนเองที่มองเห็นได้จากการส่องกระจกเท่านั้น พวกมันพยายามจะลบออก บ่งชี้ว่าพวกมันรู้ว่าสิ่งที่เห็นคือตัวเอง (ภาพถ่าย:ทิม แฟล็ก)

หากการนำมุมมองของมนุษย์ไปครอบทับเป็นอุปสรรคต่อวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผมก็ผิดที่ทำเช่นนั้น ผมชอบดูคลิปวิดีโอที่สัตว์แสดงพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งบ่งชี้ภาวะอารมณ์สารพัด ควายในสวนสัตว์พยายามอย่างหนักที่จะใช้เขาพลิกเต่าหงายท้องให้คว่ำลง จากนั้นก็เงยหน้ารับเสียงให้กำลังใจของกองเชียร์ด้วยท่าทางที่ดูพึงพอใจยิ่ง แพนด้าไถลตัวลงเนินที่มีหิมะปกคลุมก่อนจะลุยขึ้นไปทำซ้ำอีก ลิงที่นั่งปอกกล้วยอยู่ริมคลองและอ้าปากค้างอย่างเสียดายเมื่อกล้วยตกน้ำ ผมจะเปิดคลิปวิดีโอแบบนี้ให้ภรรยาดูตลอดเวลาพร้อมใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้ม การคิดว่าชีวิตรอบตัวเราเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกทำให้ผมมีความสุข

แน่ละว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับจริงๆก็คือ อารมณ์ความรู้สึกไม่ได้วิวัฒน์เฉพาะในมนุษย์ โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งเหล่านี้คือภาวะภายในที่ขับเคลื่อนให้สัตว์กระทำบางอย่าง เราอาจคิดว่าความหิวและความกระหายไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก แต่มันเหมือนกันตรงที่เป็นภาวะภายในที่ผลักดันให้เกิดการกระทำได้เช่นเดียวกัน ชีลบรรยายว่าสิ่งเหล่านี้คืออารมณ์แรกเริ่ม “เวลาปวดปัสสาวะ เราจะลุกจากเตียงตอนเช้าวันเสาร์ที่นอนตื่นสายได้เพื่อไปห้องน้ำ เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น เราแค่ต้องไปครับ” เขาอธิบาย

อินบัล เบน-อามี บาร์ทัล นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ บอกว่า “หนูมีองค์ประกอบพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจค่ะ” ในการศึกษาหนึ่ง เธอทดสอบว่าพวกมันจะปล่อยหนูที่ถูกขังในท่อหรือไม่ และพบว่า พวกมันจะช่วยเฉพาะหนูที่อยู่ในกลุ่มสังคมของตนเท่านั้น (ภาพถ่าย: เปาโล แวร์โซเน)
วาฬเบลูกาในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งหนึ่งที่เมืองฮามาดะ ประเทศญี่ปุ่น พ่นวงแหวนฟองอากาศเล่น การเล่นอาจวิวัฒน์ขึ้นเพื่อสร้างความผูกพันเชิงสังคมและเรียนรู้ทักษะต่างๆ แต่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสัตว์ก็ชอบความสนุกสนานเช่นกัน (ภาพถ่าย: ฮิโรยะ มินะคุจิ, MINDEN PICTURES)

อารมณ์แรกเริ่ม เช่น ความกลัว กระตุ้นการกระทำบางอย่าง แม้ว่าอารมณ์บางอย่าง เช่น ความรักและความโศกเศร้า อาจดูลึกซึ้งกว่า แต่ก็ไม่ต่างกันในเชิงคุณภาพ “งานด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้ ล้วนบ่งชี้ไปยังแนวคิดที่ว่า อารมณ์ความรู้สึกใดๆที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะล่องลอยและยากจับต้องเพียงใด ล้วนเกิดขึ้นจากอารมณ์แรกเริ่มเหล่านี้” ชีลบอก

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เข้าใจได้ไม่ยากที่สัตว์น้อยใหญ่นานาชนิด ตั้งแต่เห็บหมัดไปจนถึงชิมแปนซี มีอารมณ์ความรู้สึก บ้างดิบเถื่อน บ้างละเอียดซับซ้อน

เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ

ติดตามสารคดี พวกมันคิดอะไรอยู่ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/559422


อ่านเพิ่มเติม  สัตว์ป่ารุกคืบสู่เมือง เมื่อยามถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหดหาย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.