นักวิทยาศาตร์กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการฝันของสัตว์มากกว่าที่เคย แม้แต่กับมนุษย์เองยังไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมเราถึงฝัน หรือบอกได้ว่าทำไมความฝันถึงสำคัญ แต่การเรียนรู้เรื่องความฝันของสัตว์ดูจะยากยิ่งกว่า การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าสัตว์อาจมีการนอนหลับระยะ REM (เป็นระยะที่มนุษย์เกิดความฝัน) และอาจฝันในเรื่องที่มันมองเห็น .
“ผมคิดว่าการฝันช่วยให้เรามีวิธีอธิบายความสามารถด้านสติปัญญาจำนวนมากให้กับสัตว์ ซึ่งรวมถึงอารมณ์ ความทรงจำ และแม้แต่จินตนาการ” เดวิด เอ็ม. เปนญา-กุซมาน (David M. Peña-Guzman) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟรานซิสโก และผู้เขียนเรื่อง ‘When Animals Dream : The Hidden World of Animal Consciousness’ กล่าว
แมวบ้านเป็นสัตว์ตัวแรกๆ ที่ได้รับการวิจัยเกี่ยวกับความฝัน เกิดขึ้นในปี 1960 โดย มิเชล โจวเวต (Michel Jouvet) เขาเรียนรู้ว่าส่วนหนึ่งที่เรียกว่า พอนส์ (Pons) ในก้านสมอง ดูเหมือนจะเป็นตัวควบคุมการนอนหลับระยะ REM เขาจึงเอาบางส่วนของมันออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเมื่อพวกมันหลับ แมวเริ่มเคลื่อนไหวราวกับว่าตื่นอยู่ ออกล่า กระโดด ดูแลขน และทำท่าป้องกันตัวจากภัยคุกคามที่มองไม่เห็นอย่างดุดัน
เขาเรียกมันว่าเป็นการนอนหลับที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ เมื่อร่างกายนิ่งแต่จิตใจยังคงตื่นตัวเต็มที่ ทำให้เห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองที่กำลังหลับใหลของแมว หนูที่วิ่งในเขาวงกตก็เช่นกัน เมื่อพวกมันวิ่งตอนกลางวัน พวกมันก็วิ่งซ้ำอีกครั้งในเส้นทางเดิมขณะหลับ ภาพเขาวงกตที่มองเห็นเมื่อตอนกลางวันปรากฎขึ้นอีกครั้งขณะหลับ พวกมันได้ยินและแม้กระทั่งรับรู้อารมณ์ที่เคยเกิดขึ้นขณะวิ่งในระยะ REM ของการนอนหลับ
“หลายสิ่งบ่งชี้ว่าสัตว์มีการสัมผัสประสบการณ์อีกครั้งระหว่างการนอนหลับ” วิสันระบุ “ ผมพอใจที่จะเรียกสิ่งนี้ความฝัน”
ในปี 2000 นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าเซลล์ประสาทในสมองส่วนหน้าของนกซีบร้าฟินซ์ (Zebra Finch) จะสร้างสัญญาณในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปขณะที่พวกมันกำลังร้องเพลง และในขณะหลับ สมองของพวกมันก็ทำซ้ำในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะจำลองเพลงที่นกได้ยินและร้องในวันนั้น
หลังมีการวิจัยเพิ่มเติมกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นกฟินซ์กลายเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีโครงสร้างการนอนหลับหลับคล้ายคลึงกับมนุษย์ ซึ่งรวมถึงระยะ REM นอกจากนี้พวกมันยังขยับกล้ามเนื้อเสียงเพื่อให้เข้ากับเสียงเพลงในสมองขณะหลับ อีกทั้งยังสร้างรูปแบบต่าง ๆ ของเพลง โดยรวบรวมข้อมูลทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ ขณะตื่นตัว และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ปรับปรุงได้ด้วยการแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาเพื่อเสริมการเรียนรู้ในสภาวะเหมือนฝัน
ปลาม้าลาย (Zebrafish) ก็เช่นกัน ขณะนอนหลับ ระยะ REM ของปลาเหล่านี้จะไม่มีการขยับกล้ามเนื้อที่สร้างการเต้นของจังหวะหัวใจ และมีการทำงานของสมองคล้ายตอนที่ตื่นอยู่ ความแตกต่างที่โดดเด่นคือพวกมันไม่ได้ขยับดวงตา การค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการนอนหลับแบบ REM ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดความฝันอาจมีวิวัฒนาการมาอย่างน้อย 450 ล้านปีก่อน ก่อนที่สัตว์บกและสัตว์น้ำจะวิวัฒนาการแยกจากกัน
“เมื่อ 20 ปีที่แล้วผู้คนมักบอกว่าปลาไม่มีการนอน” ฟิลิปป์ มัวร์เรน (Philippe Mourrain) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว “แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าลักษณพฤติกรรมเหล่านั้นยังคงมีอยู่ตั้งแต่แมลงไปจนถึงแมงมุมและสัตว์มีกระดูกสันหลัง และในการนอนหลับแบบ REM นั้น คุณจะสูญเสียการควบคุมระบบการกำกับดูแลที่สำคัญที่สุดของคุณ วิวัฒนาการจะไม่เก็บสภาวะที่เปราะบางเช่นนี้ไว้ถ้ามันไม่สำคัญ”
แต่ทำไมความฝันถึงสำคัญ? การนอนหลับระยะ REM ที่ยังคงอยู่ในวิวัฒนาการหมายความว่าแม้แต่ปลาก็อาจฝัน? ขึ้นอยู่กับนิยามของคุณ แต่สำหรับมัวร์เรนแล้ว การฝันเป็นเพียงการสับประสานของไซแนปส์ (Synapses – ช่องว่างที่เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการรีเซ็ตการเชื่อมต่อของระบบประสาทเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันใหม่ที่จะมาถึงผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่นการรวมหน่วยความจำและการเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้
“ผมจะไม่แปลกใจเลยหากเราพบความฝันที่แท้จริงในสัตว์ และผมคิดว่าในที่สุดแล้วเราจะสามารถแสดงให้เห็นได้ในทางวิทยาศาสตร์” มัวร์เรนกล่าว “คุณทำอะไรบางอย่างในตอนกลางวัน และสมองคุณจะเล่นซ้ำ ผสานรวม และผสมผสานกับประสบการณ์อื่น ๆ เราไม่ใช่สายพันธุ์เดียวที่สามารถจดจำและเรียนรู้ได้”