ปลาหมอสีแอฟริกากลางสายพันธุ์ Astatotilapia burtoni หรือเรียกสั้น ๆ ว่า A. burtoni เป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมกกไข่และเลี้ยงตัวอ่อนภายในปาก แต่หลายครั้งแม่ปลาหมอเหล่านี้กลับกินลูกตัวเอง (mouthbrooding)
หลังจากปลาหมอสีเพศผู้และเพศเมียปฏิสนธิ แม่ปลาหมอจะใช้เวลาสองสัปดาห์เก็บไข่ไว้ในปาก เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์นักล่าเข้ามากิน เมื่อลูกปลาฟักออกมาจากไข่เรียบร้อยแล้ว เจ้าตัวอ่อนจะออกมาว่ายน้ำเล่นนอกปากของแม่และมีพฤติกรรมกลับเข้าไปอาศัยในปากใหม่เมื่อเจออันตราย
นับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับความปลอดภัยของลูกปลา แต่สำหรับแม่ปลาแล้วคงเป็นเรื่องน่าเหนื่อยใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม่ปลาไม่สามารถกินอาหารแบบปกติ หรือแม้แต่หายใจสะดวกได้ แม่ปลาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการกิน! โดยการบริโภคลูกตัวเองเป็นอาหาร (filial cannibalism) เป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายในหมู่ปลาด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มปลาหมอสี
ฟังดูขัดกับสัญชาตญาณความเป็นแม่ ถ้าเป็นในเรื่องวิวัฒนาการก็ยิ่งแล้วใหญ่ แต่เจค ซาเวคกี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนกล่าวว่า พฤติกรรมกินลูกเชื่อมโยงกับสุขภาพของแม่ปลาได้ และยืนยันว่า “การกินลูกหลานตัวเองไม่ได้ทำให้พวกมันสูญพันธุ์แต่อย่างใด”
นอกจากนี้ในวิจัยยังระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่แม่ปลาได้จากการให้อาหารลูก มีแนวโน้มจะช่วยให้แม่ปลากลับมาวางไข่ได้ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
เหตุเกิดจากความเครียด
งานวิจัยของซาเวคกีและไดก์สตราได้ทดลองเลี้ยงปลาหมอสีเพศผู้และเพศเมียรวมกันเป็นกลุ่มหลายกลุ่มในห้องแล็ปหนึ่งของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิชิแกน ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าปลาหมอสีเพศเมียประมาณ 80 ตัวจะออกไข่
เมื่อปลาหมอสีเพศเมียออกไข่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ค่อย ๆ นำไข่ทั้งหมดออกจากปากแม่ปลา แล้วใช้หลอดปิเปตพลาสติกช่วยนำไข่จำนวน 25 ฟอง กลับเข้าไปในปากปลาเพศเมียแต่ละตัวอีกครั้ง ส่วนปลาที่นักวิทยาศาตร์ไม่ได้นำไข่กลับไปวางถูกจัดอยู่ในกลุ่มควบคุมและมีแนวโน้มว่าจะทำการทดลองแบบเดียวกัน
นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาสองสัปดาห์จดบันทึกพฤติกรรมการกินลูก พบว่าโดยปกติแล้วแม่ปลาบริโภคลูกตัวเองประมาณร้อยละ 40 และมากกว่าร้อยละ 93 ของแม่ปลา (ปลาหมอสีเพศเมีย 29 ตัวจาก 31 ตัว) เคยกินลูกตัวเอง
ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ทำการประเมินระดับค่าออกซิเดชันของกลุ่มแม่ปลา โดยสามารถตรวจสารนี้จากตัวบ่งชี้ทางชีวเคมีในเนื้อเยื่อของปลา ถ้าพบสารนี้ในตับสูงสามารถระบุได้ว่าปลาตัวนี้มีภาวะเครียด อาจส่งผลเสียต่อโครงสร้างต่าง ๆ ของเซลล์ นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บและการติดเชื้อ
แม่ปลาหมอสีปกป้องลูก ๆ ด้วยการให้ลูกอาศัยอยู่ในปาก
แต่เจ้าปลาดุกก็รู้ทัน ทำเนียนเป็นลูก แฝงตัวเข้าไปในปากแล้วกินตัวอ่อนปลาหมอสี
ขั้นตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จึงต้องฆ่าแม่ปลาหมอบางตัวเพื่อนำเนื้อเยื่อตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่าหากสารออกซิเดชันในแม่ปลาสูง ก็จะบริโภคลูกของตัวเองมากขึ้น สันนิษฐานว่าแม่ปลาอาจได้ประโยชน์จากการบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมหาศาล
จากการศึกษาปลาหมอสีเพียงสายพันธุ์เดียวก็ทำให้ซาเวคกีคาดการณ์ว่าพฤติกรรมการกินลูกตัวเอง “เป็นกลวิธีที่สัตว์หลายสายพันธุ์ใช้ปรับตัว”
ของเคี้ยวเล่น
คาเรน มารุสกา นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับปลาหมอสี A. burtoni กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าสนใจและคงต้องศึกษาต่อไปว่าแม่ปลาหมอที่กินลูกอยู่รอดได้อย่างไรระหว่างรอไข่ฟักตลอดสองสัปดาห์ เพราะมันกินอาหารไม่ได้”
โปรสันตะ จักรบารตี นักมีนวิทยา และภัณฑารักษ์ปลาแห่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงแม่ปลาหมอสีว่าเป็นสัตว์ที่เอาใจใส่ลูก “คนส่วนใหญ่คิดว่าพอปลาวางไข่ก็ทิ้งไว้ เดี๋ยวมันก็ฟักเอง ซึ่งเป็นเรื่องจริงในบางสายพันธุ์”
“ซึ่งไม่ใช่กับปลาหมอสี พวกมันไม่ได้ไข่แล้วทอดทิ้งลูก ๆ ของตัวเอง ”
เพียงแต่บางเวลา บรรดาแม่ ๆ แค่อยากหาของกินเล่นเป็นลูกปลาเท่านั้นเอง
แปล สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย