ผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัจจัยหลายสาเหตุที่สุนัขมีพฤติกรรมก้าวร้าวและสร้างปัญหาให้คนรอบข้าง ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่แค่สายพันธุ์เท่านั้น ตามที่เคยเชื่อกัน แต่รวมไปถึงสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู น้ำหนัก และที่สำคัญคือการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าของและตัวสุนัขเอง
“สภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง ตลอดไปจนถึงลักษณะทางสัณฐานวิทยา (ลักษณะร่างกาย) และวิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อวิธีที่สัตว์เลี้ยงมีปฏิสัมพันธ์พันธ์เรา” ไบรเซดา เดอ เรสเซนเด (Briseida de Resende) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลกล่าว
คำจำกัดความของสุนัขที่ก้าวร้าวคือ สุนัขที่มีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมคุกคาม มีการยกหาง ฟันแยกเขี้ยว ทำท่าทางที่เพิ่มความสูงและใหญ่โตของร่างกาย คำราม รวมไปถึงกัดและโจมตี ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ผ่านแบบสอบถามที่มอบให้กับเจ้าของเพื่อประเมินสุนัขของตนเอง
พวกเขาพบว่า สุนัขที่ไม่ก้าวร้าวหรือก้าวร้าวน้อยนั้นคือ สุนัขที่เจ้าของเล่นกับพวกเขา และมีการพาไปเดินเล่นเป็นประจำ ทำให้น้องหมาแสดงความก้าวร้าวน้อยลงต่อทั้้งเจ้าของเองและคนแปลกหน้า ขณะเดียวกันก็พบว่าการฝึกสอนสุนัขก็เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากเช่นกัน แต่ปัจจัยที่ทำให้ทีมวิจัยประหลาดใจนั่นคือ ‘เพศ’ ของทั้งเจ้าของและสุนัข
โดยสุนัขที่ไม่ก้าวราวกว่าร้อยละ 73 นั้นมีเจ้าของเป็นเพศหญิง และน้องหมาตัวเมียก็ก้าวร้าวน้อยกว่าตัวผู้ถึงร้อยละ 40 ในทางกลับกัน การไม่ดูแล สนใจ และเอาใจใส่ จะสร้างความเครียดที่นำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสุนัขมีขนาดตัวหรือน้ำหนักลดลงก็มีความสัมพันธ์กับการก้าวร้าวได้มากเช่นกัน
สิ่งนี้เชื่อมโยงไปถึงยังปัจจัยที่ว่าลักษณะร่างกายของแต่ละสายพันธุ์ โดยทีมงานพบว่าสายพันธุ์ที่มีจมูกสั้น หรือที่เรียกกันว่า หมาหน้าสั้น (Brachycephalic Dog) ที่มีกะโหลกกลม ปากและจมูกสั้น ตาใหญ่และโปน เบ้าตาตื้นกว่าปกติ และมีความเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ มากกว่าสุนัขทั่วไป นั้นมีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าวต่อเจ้าของสูงถึงร้อยละ 79
รายงานชี้ว่าการรวมกันของปัจจัยที่แตกต่างกันเหล่านี้เป็นตัวทำนายที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่เพียงสายพันธุ์ ลักษณะร่างกาย หรือสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักไว้เสมอว่าความก้าวร้าวนั้นเป็นการสื่อสารตามธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิดเพื่อสื่อถึงอะไรบางอย่าง และมันก็ซับซ้อนเช่นเดียวกับพฤติกรรมอื่น ๆ
ไม่มีใครต้องการสัตว์ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่บางครั้ง ก็ต้องมองไปถึงเหตุผลเบื้องหลังว่าอะไรทำให้พวกมันก้าวร้าวได้บ้าง และหลายครั้งก็มีเหตุผลชัดเจนว่าไม่ใช่มาจากตัวสัตว์เลี้ยงเอง เมื่อสามารถเข้าใจได้แล้ว จึงจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างถ่องแท้
“แทนที่จะพิจารณาความก้าวร้าวจากปัจจัยเดียวที่พบได้ทั่วไปในสปีชีส์หรือสายพันธุ์เฉพาะ ผลลัพธ์ของเราจะช่วยเสริมว่า ปัจจัยด้านพฤติกรรมเฉพาะตัว ผสมผสานกับพันธุกรรม สรีรวิทยา ประสบการณ์ชีวิต และบริบทสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะของสุนัข มีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างไร เพื่อสร้างรูปแบบการแสดงออกที่สังเกตได้ ” ทีมงานกล่าวสรุปในเอกสาร
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0168159122002246
https://www.sciencealert.com/dogs-can-be-aggressive-for-lots-of-reasons-and-one-of-them-is-you
https://studyfinds.org/dog-aggressive-owners-behavior/
https://www.eurekalert.org/news-releases/976479