สุนัขกู้ภัยไทย – เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สาธารณรัฐตุรกี สร้างความเศร้าสลดใจ และกลายเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลกที่ต่างแสดงน้ำใจส่งสิ่งของและทีมงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ในเบื้องต้นนอกจากสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้วยังส่งทีมงานเพื่อร่วมค้นหาผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดเหตุ
ที่หลายคนสนใจคือการส่งสุนัขกู้ภัยในทีม USAR Thailand ชุดแรก คือ Sierra (เซียร่า) อายุ 7 ปี กับ Sahara (ซาฮาร่า) อายุ 6 ปี สุนัขสายพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์ (Golden Retriever) เพศเมียซึ่งทั้งสองต่างได้รับการฝึกมาตรฐาน ตามหลักสูตรของ IRO (International Rescue Dog Organisation) หรือ องค์การสุนัขกู้ภัยโลก
ข้อมูลจาก K9 : USAR Thailand มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ระบุว่า ภารกิจระดับนานาชาติของสุนัขกู้ภัยไทย คือการSearch & Rescue ค้นหาผู้ประสบภัย โดยสุนัขจะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแล (handler) ทราบ ในกรณีที่มีการพบผู้ประสบภัยที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อให้แจ้งทีมเข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิตต่อไป ทั้งนี้ USAR Thailand จะทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งในประเทศทั่วโลกมีทีม USAR อยู่หลายแห่ง โดยครั้งนี้หลายประเทศได้ส่ง USAR ไปร่วมปฏิบัติภารกิจที่สาธารณรัฐตุรกี USAR ที่มีสุนัขกู้ภัย อย่างเกาหลีใต้ ก็ไปพร้อมสุนัขกู้ภัยแบบเดียวกับ USAR Thailand
อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้ (13 ก.พ.66) ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 แล้วที่เจ้าสุนัขกู้ภัย 2 ตัวจากประเทศไทยได้เร่งค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากอาคารปรักหักพัง และความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย และนั่นทำให้คนไทยที่ติดตามข่าวแสดงความเป็นห่วง จนมีการตั้งคำถามว่า สุนัขกู้ภัยได้มีเครื่องป้องกันอันตรายใดๆระหว่างปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ประเด็นดังกล่าวนี้มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม : Environmental and Social Foundation ชี้แจงถึงการดูแลสุนัขกู้ภัยทั้งสองว่า หลายท่านมีความเป็นห่วง K9 จากประเทศไทยในภาระกิจครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกรณีของ K9 จากหลายประเทศได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงาน ทาง ESF จึงได้ ขอคำอธิบายจาก Sue (ผู้ควบคุมซาฮาร่า) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการฝึกสุนัขและการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์
“การดูเเลความปลอดภัยเเละผลประโยชน์ของ K9 มีความสำคัญเป็นอันดับแรกของทีมเรา”
“ขอบคุณทุกท่านในความห่วงใยที่มีต่อความปลอดภัยของเซียร่า& ซาฮาร่าในการบฏิบัติค้นหาผู้ประสบภัยที่สูญหายในครั้งนี้ K9 ทั้งสองมีรองเท้าบูทพร้อมใส่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เเละมีคู่สำรองเผื่อไว้ในเป้ของผู้ควบคุม ซึ่งการจะสวมหรือไม่ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของเเต่ละพื้นที่ พื้นที่ผิวลื่นจะเหมาะกับการไม่สวมรองเท้าเพื่อเท้าจะเกาะพื้นได้ดีกว่า เเต่ถ้าพื้นที่ไหนมีเศษเเก้วหรือสิ่งมีคมก็จะสวมรองเท้าบูทตามดุลพินิจของผู้ควบคุมสุนัขโดยทันที”
สำหรับการเป็นสุนัขกู้ภัยนั้น ต้องได้รับการฝึกฝน และกว่าที่เซียร่าและซาฮาร่า สุนัขกู้ภัยทั้ง 2 ตัวนี้ จะเริ่มได้ปฏิบัติงาน ต้องเข้ารับการฝึกไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อให้อยู่ในสภาพอากาศที่มีข้อจำกัด และก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานหลายเคสในไทย รวมถึงในการฝึกในคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) หรือการฝึกร่วม ผสมทางการทหาร สุนัขกู้ภัยแห่งชาติกลุ่มนี้ก็ได้ร่วมฝึกมาแล้ว
• อาลัย “สุนัขกู้ภัย” จากประเทศเม็กซิโก
อย่างไรก็ตามการทำงานท่ามกลางความเสียอายของอาคารจากเหตุแผ่นดินไหวก็สร้างอันตรายเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รายงานตรงกันว่า “โปรเตโอ” (Proteo) สุนัขกู้ภัย พันธุ์เบลเยียมเชพเพิร์ด จากประเทศเม็กซิโก ที่เดินทางไปร่วมภารกิจค้นหาผู้สูญหายในเหตุแผ่นดินไหวตุรกีได้เสียชีวิตจากการทำหน้าที่
มีรายงานว่า ระหว่างที่โปรเตโอปฏิบัติภารกิจมันพยายามช่วยเหลือผู้ประสบภัย 2 ราย แต่เกิดเหตุดินถล่มทำให้มันได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องจากไปในเวลาต่อมา
ภาพจาก : K9 : USAR Thailand มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม