กระต่ายป่า แห่งดินแดนหนาวเหน็บ กำลังไร้ที่ซ่อน เนื่องจากภาวะโลกร้อน

กระต่ายป่า ใช้ชีวิตสุขสบายในสภาพอากาศหนาวเย็น แต่โลกที่กำลังร้อนขึ้นอาจเปลี่ยนวิถีชีวิตของมันไป

กระต่ายป่า – เขตไฮแลนด์สของสกอตแลนด์ เป็นภูมิทัศน์ราบเรียบปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง ถูกกัดเซาะจากน้ำแข็งและหินตลอดหลายล้านปี แนวเทือกเขายกตัวนูนขึ้น แอ่งรูปชามที่เรียกว่า คอร์รี ซุกอยู่ในแนวสันเขาที่คดโค้ง ผืนดินมีสองรูปลักษณ์

ในช่วงปลายฤดูร้อน ภูมิประเทศปกคลุมด้วยดงเฮเทอร์ ต้นหลิวเลื้อย และเมอร์เทิลพรุ พวงผลบลีเบอร์รีนุ่มๆ และผลลินเกินเบอร์รีสีแดงสด แต่ภายในไม่กี่สัปดาห์สั้นๆ พื้นที่เขาสูงบริเวณเดียวกันนี้อาจปกคลุมด้วยหิมะ กระแสลมแรงพัดผ่านน้ำแข็งที่ถูกลมกัดเซาะด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นี่คืออาณาจักรของกระต่ายภูเขา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเหล่านี้ยังพบได้ในเขตทุนดรา เขตอัลไพน์ และภูมิภาคตอนเหนือทั่วยูเรเซีย กระต่ายภูเขาในสหราชอาณาจักรประมาณร้อยละ 99 อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ โดยมีถิ่นอาศัยหลักอยู่ในเทือกเขาแกรมเปียนที่เต็มไปด้วยโขดหินทางตะวันออกเฉียงเหนือ

กระต่ายภูเขาตัวหนึ่งกลมกลืนไปกับกองหิมะในเทือกเขาโมแนดห์ลิแอทของสกอตแลนด์ ในแต่ละปี กระต่ายพื้นถิ่นชนิดเดียวของสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนชุดขนฤดูร้อนสีน้ำตาลทึมๆ เป็นชุดขนฤดูหนาวสีอ่อน

เมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา ฉันไปปีนเทือกเขาแคร์นกรอม ขณะเดินโซซัดโซเซฝ่าหิมะหนา ฉันทำให้เกิดเสียงปีก ตีพึ่บพั่บ เมื่อนกทาร์มิแกนที่มีขนขาฟูฟ่องปรากฏตัว พลางร้องด้วยความไม่พอใจที่ถูกรบกวนการนอน กระต่าย ขนสีขาวซึ่งรับรู้ถึงการก้าวเดินของฉันบนเขาสูงนั้น กระโจนลงไปในคอรีด้านล่าง แล้วจ้ำพรวดๆ เลาะไปตามข้างแอ่ง ก่อนเลี้ยวกระโจนข้ามสันเขาไปอย่างง่ายดาย

กระต่ายภูเขาจะเสาะหาที่ซ่อนตัวภายใน “รัง” กลางดงพืชพรรณหนาทึบ หรือใน “แอ่ง” ตื้นบนลาดเขา รอจนพายุหิมะสงบ โดยหมอบคุดคู้ซุกกายใต้ขนหนา หูที่มีปลายสีดำลู่แบนราบไปกับคอ กระต่ายภูเขาอาจอยู่เฉยๆ คราวละหลายวัน ราวทุกชั่วโมงอาจออกมายืดเส้นยืดสาย หรือกินเฮเทอร์แข็งๆ เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนกลับไปยังที่ซ่อน

กระต่ายภูเขาสามตัวรอให้พายุหิมะสงบบนทุ่งน้ำแข็งบนเขาสูง กระต่ายเสาะหา ที่กำบังที่เกิดตามธรรมชาติเมื่อใดก็ตามที่ทำได้ ในภาพนี้ สันเขาช่วยป้องกันลม พวกมันยังพักผ่อนในหลุมบนพื้นดินหรือท่ามกลางดงพืชพรรณ

พฤติกรรมนี้เป็นหนึ่งในการปรับตัวหลายอย่างที่ช่วยให้สัตว์ชนิดนี้ ซึ่งเป็นกระต่ายพื้นถิ่นชนิดเดียวของ สหราชอาณาจักร ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมทารุณเช่นนั้น ที่น่าทึ่งที่สุดอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เมื่อขนเรียบสีน้ำตาลทึมๆ ในฤดูร้อนเปลี่ยนเป็นขนสีขาวสว่างหรือสีเทาหม่นที่หนากว่าและเก็บกักความร้อนได้ดีกว่า ในแต่ละปี ช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์สั้นลงและอุณหภูมิที่ต่ำลงกระตุ้นกระบวนการผลัดขนเป็นขนฤดูหนาว โดยขนชุดใหม่ที่หนาและมีสีจางงอกขึ้นจากตีน ไล่ขึ้นไปตามต้นขา และทั่วไหล่ ส่งผลให้ลำตัวเป็นลายด่าง

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้วิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตัวเอง แต่ขณะที่การเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศทำให้สภาพอากาศผันผวน กระต่ายภูเขาก็แปลกแยกจากสถานที่ที่พวกมันเรียกว่าบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ

กระต่ายภูเขาทำความสะอาดตัวเอง จังหวะเวลาการผลัดขนของแต่ละตัวจะแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วกระต่ายภูเขาในสกอตแลนด์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงกว่าจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีเทาในช่วงฤดูหนาวเร็วกว่าพวกที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ และยังเปลี่ยนกลับมาเป็นขนสีเข้มกว่าในช่วงฤดูใบไม้ผลิช้ากว่า อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่พบหลักฐานว่ากระต่ายภูเขากำลังปรับตัวให้เข้ากับช่วงเวลาที่มีหิมะปกคลุมสั้นลง

มาร์เกตา ซิโมวา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแอปปาเลเชียนสเตตในนอร์ทแคโรไลนา อธิบายว่า กระต่ายป่าอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกเพียง 21 ชนิดที่สามารถเปลี่ยนสีชุดขน เกือบทุกชนิดดังกล่าวอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่หนาวเย็นและปกคลุมด้วยหิมะ ในสกอตแลนด์ สัตว์ชนิดอื่นที่เปลี่ยนสีชุดขนด้วยวิธีนี้ มีเพียงสโตต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพียงพอนหางสั้น และนกทาร์มิแกน

สำหรับกระต่ายภูเขา ชุดขนฤดูหนาวที่ดกหนานี้ยังให้การพรางตัวที่มีความสำคัญมาก ช่วยให้มันปลอดภัย มากขึ้นจากสัตว์ผู้ล่า เช่น สุนัขจิ้งจอกแดง สโตต และอินทรีทองที่ร่อนอยู่เบื้องบน แต่ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไปเช่นนี้ นี่อาจเป็นโทษมากๆ พอกับเป็นประโยชน์

ในแถบเนินเขาของสกอตแลนด์ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นและลดต่ำลงอย่างมากในแต่ละวัน ในวันที่อากาศอบอุ่นที่สุด เมื่อพื้นที่พรุเป็นสีดำ เปียกชุ่ม และมีน้ำแข็งอยู่กระจัดกระจาย กระต่ายพบว่าตัวเองกลายเป็นจุดเด่น กล่าวคือเป็นรูปร่างสว่างตัดกับดงเฮเทอร์สีเข้มในฉากหลัง

เพศเมีย (ตัวล่าง) ปฏิเสธการจีบของเพศผู้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเกี้ยวพาราสีอย่างแข็งของกระต่ายชนิดนี้ เพศเมียจะทดสอบความมุ่งมั่นและความอดทนของเพศผู้ โดยผลักไสเพศผู้ออกไป ก่อนวิ่งหนีให้ไล่ตามฝ่าดงเฮเทอร์อยู่นาน ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวานี้ลงเอยด้วยการผสมพันธุ์

สภาพการณ์นี้เป็นอันตรายเสมอมา แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้โดยซิโมวาพบว่า กระต่ายภูเขาในสกอตแลนด์ มีชุดขนไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้จำนวนวันที่มีหิมะ ปกคลุมลดลงอย่างมาก กล่าวคือในทศวรรษ 2010 หิมะชุดแรกในฤดูใบไม้ร่วงที่ปกคลุมพื้นดินโดยเฉลี่ยแล้วตกช้า ไปสี่วัน เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1960 อุณหภูมิเฉลี่ยในภูมิภาคสูงขึ้นกว่า 0.1 องศาเซลเซียสในแต่ละทศวรรษ ส่งผลให้ช่วงเวลาที่ไม่มีหิมะปกคลุมยาวนานขึ้น รวมๆ แล้ว กระต่ายภูเขาใช้เวลามีชุดขนไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศเพิ่มขึ้น 35 วัน

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการถูกล่าโดยสุนัขจิ้งจอก นกนักล่า และสโตต น่ากังวลน้อยกว่าผลกระทบจากมนุษย์ มาก อย่างน้อยกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว เจ้าของที่ดินจัดสรรที่ดินผืนใหญ่ในแถบภูเขาสำหรับใช้ยิงนกเกราส์แดงป่า เพื่อการนันทนาการ การเผาโดยมีการควบคุมทำให้เนินเขามีสภาพแตกต่างกันเป็นหย่อมๆ บางหย่อมถูกเผาจนดำ เป็นตอตะโก บางหย่อมมีต้นอ่อนพืชแทงหน่อขึ้นมา บางหย่อมเป็นดงพืชหนาแน่น ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกระต่ายและนกสำหรับล่าเป็นกีฬา

ท่วงทำนองรัก ชุดภาพถ่ายบันทึกช่วงเวลาที่นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมอันอ่อนโยนที่ดูได้หายาก ขณะคู่กระต่ายภูเขาที่กำลังเกี้ยวพาราสีแตะจมูกกัน ปกติแล้วกระต่ายเพศเมียมีน้ำหนักมากกว่าเพศผู้ เพศเมียที่มีขนาดใหญ่กว่ามักมีลูกมากกว่า ในสองสามครอกตลอดทั้งปี

กระต่ายภูเขาถูกล่าเป็นเกมกีฬามานานแล้ว แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ผ่านมา ผู้จัดการที่ดินเอกชน บางรายเริ่มพุ่งเป้าไปยังกระต่ายเป็นจำนวนมากจากพื้นฐานที่ว่า วิธีนี้จะป้องกันโรคที่มีเห็บเป็นพาหะไม่ให้ระบาดไปสู่นกเกราส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์โต้แย้ง (กระต่ายรวมกว่า 33,500 ตัวถูกฆ่าในฤดูกาลปี 2016 ถึง 2017) การถกเถียงเกี่ยวกับการกำจัดกระต่ายซึ่งมักก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง ดุเดือดมากขึ้น เมื่อการวิเคราะห์ในปี 2018 โดย แอดัม วัตสัน นักนิเวศวิทยาอิสระและนักปีนเขา ชี้ว่า ประชากรกระต่ายภูเขาในพื้นที่ล่านกเกราส์ แถบตะวันออกเฉียงเหนือลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละหนึ่งของระดับที่เคยพบในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ประชากร กระต่ายภูเขาในสกอตแลนด์ได้รับการประเมินว่าอยู่ที่ราว 135,000 ตัว แม้นักวิทยาศาสตร์จะเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนในการคำนวณดังกล่าว ตัวเลขที่แท้จริงอาจเป็นจำนวนใดก็ได้ระหว่าง 81,000 ถึง 525,000 ตัว

กระต่ายภูเขาและสัตว์ผู้ล่าตัวจิ๋ว เพียงพอนหางสั้นหรือสโตต ในชุดขนสีขาวโดดเด่นตัดกับท้องทุ่งสีเข้ม ในภาพนี้ กระต่ายเป็นฝ่ายโชคดี เพราะสโตตไม่สังเกตเห็นว่าเหยื่ออยู่ใกล้ๆ

ด้วยความกังวลว่ากระต่ายจะลดจำนวนลง รัฐสภาสกอตแลนด์ออกกฎหมายห้ามการฆ่ากระต่ายภูเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 นิววีย์ ผู้คลุกคลีกับการทำงานเพื่อหาวิธีดีที่สุดในการติดตามศึกษาจำนวนสัตว์ ที่น่าฉงนชนิดนี้มาตลอด 20 ปี กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะชี้วัดผลกระทบของการออกกฎนี้

เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เมื่อคิดดูว่านักปีนเขาอาจเดินผ่านกระต่ายตัวหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ในดงเฮเทอร์ ไปอย่างง่ายๆ ระหว่างการปีนเขาครั้งหนึ่งในฤดูร้อนเมื่อไม่กี่ปีก่อน ฉันเห็นกระต่ายตัวอ้อนแอ้นกระโดดออกมาจาก พุ่มไม้ เห็นเป็นเงาร่างสีน้ำตาลจางอยู่หน้าภูมิประเทศสีน้ำตาลอ่อน กระต่ายตัวนั้นหยุดครู่หนึ่ง จากนั้นหายตัวไปอีกครั้ง กลมกลืนไปกับพุ่มไม้ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ครู่หนึ่งมันอยู่ตรงนั้น อีกครู่หนึ่งมันหายไปอีกแล้ว ราวกับว่ามันไม่เคยอยู่ตรงนั้นเลย

กระต่ายกลิ้งตัวไปมา น่าจะเพื่อให้หิมะหลุดจากขน หลังจากถูกด้วยหิมะที่ลมพัดมาจากเทือกเขาโมแนดห์ลิแอทปกคลุม

เรื่อง คาล ฟลิน

ภาพถ่าย แอนดี พาร์คินสัน

แปล ปณต ไกรโรจนานันท์

ติดตามสารคดี กระต่ายป่าไร้ที่ซ่อน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน มีนาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/571854


อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายโคลสอัปเผยให้เห็น โลกของ แมงมุม ที่สวยงามไม่เหมือนใคร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.