แมงดาถ้วย แมงดาจาน สายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ ที่รอดพ้นจากการสูญพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

แมงดาถ้วย และแมงดาจาน เป็นชนิดย่อยของแมงดาทะเลที่พบในปัจจุบัน เป็นสัตว์ทะเลที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ขาข้อ (Arthropoda) ซึ่งรอดพ้นการเปลี่ยนแปลงของโลกมาอย่างยาวนาน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า พวกมันมีชีวิตและคงรูปร่างลักษณะนี้มาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จนได้ชื่อว่า ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต (living fossil)

การจัดจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานของ แมงดาถ้วย และแมงดาจาน

แมงดาถ้วย และแมงดาจาน หรือเรียกรวมๆ ว่า แมงดาทะเล (Horseshoe Crab) คือสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ในทางชีววิทยามักถูกเรียกรวมกับแมงมุม เห็บ กุ้ง ปู กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะภายนอกที่โดดเด่นร่วมกันคือ ขาที่ใช้เคลื่อนมีลักษณะเป็นข้อปล้อง และมีโครงร่างแข็งภายนอก (exoskeleton) ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate) จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) โดยแมงดาทะเลถูกจัดจำแนกอยู่ในชั้น (Class) เมอโรสโตมาตา (Merostomata) หรือกลุ่มแมงดา

แมงดาจาน / ภาพถ่าย มาร์ก ทีสเซน, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ลักษณะทางกายวิภาคของแมงดาทะเล

แมงดาทะเลมีส่วนหัว (Prosoma) และส่วนอก (Opisthosoma) ที่เชื่อมติดกัน มีโครงร่างแข็งภายนอก ลักษณะคล้ายเกือกม้า จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า horseshoe มีดวงตาที่สามารถมองเห็นได้ดีในความมืด ที่อยู่ด้านข้างของส่วนหัว

มีรยางค์ (ส่วนที่ยื่นออกจากแกนกลางลำตัว ส่วนใหญ่ใช้เคลื่อนที่ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า แขน ขา และหนวด) 6 คู่ ประกอบด้วย 1 คู่ บริเวณปากสำหรับการกินอาหาร และอีก 5 คู่ ทำหน้าที่เป็นขา สำหรับการเคลื่อนที่

ส่วนท้องมีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม มีแผ่นเหงือกปกคลุมสำหรับการแลกเปลี่ยนก๊าซ หรือการหายใจใต้น้ำ บริเวณด้านข้างของลำตัวมีหนามแหลม
มีหาง (Telson) เรียวยาว ปลายแหลมคม และปกคลุมด้วยเปลือกแข็ง ใช้สำหรับการเคลื่อนที่ การว่ายน้ำ และการทรงตัว

การสืบพันธุ์ของแมงดาทะเล

แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยฤดูกาลผมสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน ของทุกปี แมงดาทะเลที่อยู่ในวัยพร้อมผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นสู่ชายฝั่งในวันที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด 2 – 3 วัน พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของแมงดาทะเล จะเกิดขึ้นเมื่อแมงทะเลตัวผู้และตัวเมียจับคู่ได้แล้ว ตัวผู้จะเกาะติดหลังตัวเมียโดยใช้ตะขอเกี่ยวตัวเมียเอาไว้ตลอดฤดูผสมพันธุ์ แมงดาทะเลตัวเมียจะใช้รยางค์คู่ที่ 6 เพื่อขุดทราย และวางไข่จำนวนหลายร้อยถึงพันฟองต่อครั้ง หลังจากนั้นตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่ที่อยู่ในหลุมทันที เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ แมงดาทะเลตัวเมียจะกลบหลุมด้วยทรายหรือโคลน

ชีวิตแมงดาทะเลหลังฟักออกจากไข่

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิในหลุมทรายจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวประมาณ 14 วัน ตัวอ่อนของแมงดาทะเลที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายแมงดาทะเลตัวเต็มวัย แต่ดวงตายังเจริญไม่เต็มที่ ตัวอ่อนของแมงดาทะเลจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ และกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร จนถึงระยะลอกคราบ เพื่อขยายขนาดของร่างกาย โดยตัวอ่อนของแมงดาทะเลจะลอกคราบหลายครั้ง โดยเฉลี่ย 11 ครั้งต่อปี และอัตราการลอกคราบจะลดลงเรื่อยเมื่ออายุมากขึ้น โดยการลอกคราบแต่ละครั้งดวงตาจะค่อยๆ เพิ่มขนาดขึ้น

การกระจายพันธ์ของแมงดาทะเล

แมงดาทะลแพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งของมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น พบได้ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกของอเมริกาเหนือ ชายฝั่งตะวันออกและอ่าวของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก ไปจนถึงชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตามแนวชายฝั่งของเอเชีย

สำหรับในประเทศไทย พบแมงดาทะเล 2 ชนิด ได้แก่ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius Rotundicauda) หรือ “เห-รา” ในภาษาท้องถิ่น เป็นแมงดาทะเลที่มีพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ไม่สามารถรับประทานได้ โดยสังเกตได้จากลักษณะหางกลมมนคล้ายแท่งดินสอ และแมงดาจาน หรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus Gigas) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับนำมาปรุงอาหารเพื่อรับประทาน

ข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับแมงดาทะเล

แมงดาทะเลมีวิวัฒนาการมานานเท่าไร ? นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจพบฟอสซิลแมงดาทะเลอายุราว 445 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนไดโนเสาร์จะปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกประมาณ 200 ล้านปีต่อมาในยุคมีโซโซอิก

แมงดาทะเลยังสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ให้รอดพ้นจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาได้ ในขณะที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ในปัจจุบัน แมงดาทะเลมี 4 สายพันธุ์ หนึ่งสายพันธุ์พบได้ที่อเมริกาเหนือ และเม็กซิโก อีกสามสายพันธุ์พบที่แถบชายฝั่งของเอเชีย รูปร่างและการดำรงชีวิตของแมงดาทะเลเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วง 200 ล้านปีที่ผ่าน จึงเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์เรียกสัตว์ทะเลชนิดนี้ว่า “ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต”

การเก็บเลือดแมงดาทะเลในห้องปฏิบัติการ / ภาพถ่าย ทิโมธี ฟาเดก, REDUX

เลือดแมงดาทะเลเป็นสีฟ้า ?

ในเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์มีโปรตีนที่ชื่อว่า ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นธาตุเหล็ก ในขณะที่เซลล์เม็ดเลือดของแมงดาทะเลมีโปรตีนที่ชื่อว่า ฮีโมไซยานิน ที่ทำให้เลือดของแมงดาทะเลเป็นสีฟ้า

มนุษย์เราต้องขอบคุณแมงดาทะเล ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำหน้า นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาองค์ประกอบในเลือดของแมงดาทะเลพบว่า มีเอนไซม์ที่มีประโยชน์ คือ ลิมูลัสอะมีโบไซต์ไลเสต (limulus amebocyte lysate) หรือ LAL มีบทบาทส่งเสริมให้เลือดจับตัวเป็นก้อนเมื่อสัมผัสกับพิษจากเชื้อแบคทีเรีย นักวิทยาศาสตร์จึงนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทดสอบยา วัคซีน และการประยุกต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิษจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการทดสอบความมั่นใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทดลองทางการแพทย์จะปลอดภัยต่อมนุษย์

อีกหนึ่งงดความงดงามของแมงดาทะเลคือ เปลือกของแมงดาทะเลเรืองแสงภายใต้รังสีอุตราไวโอเลต คล้ายกับที่แมงป่อง โดยเฉพาะในช่วงวัยตัวอ่อน เปลือกของแมงดาทะเลจะเรืองแสงมากกว่าช่วงโตเต็มวัย นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมแมงดาทะเลจึงเรืองแสง

ทุกวันนี้ ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ กำลังคุกคามประชากรของแมงดาทะเล เนื่องจาก ในประบวนการสืบพันธุ์ แมงดาทะเลจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ชายฝั่งเพื่อวางไข่ เมื่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกลดลง ประชากรรุ่นใหม่ของแมงดาทะเลก็ลดลงไปด้วย

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/horseshoe-crab-blood–can-save-lives-can-we-protect-these-animals-from-ourselves
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/dazzling-photos-show-horseshoe-crabs-thriving-in-protected-area
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/animal-blood-comes-in-a-rainbow-of-colors
https://nationalzoo.si.edu/animals/news/10-incredible-horseshoe-crab-facts
https://www.nwf.org/Educational-Resources/Wildlife-Guide/Invertebrates/Horseshoe-Crab

อ่านเพิ่มเติม แมงดาทะเล สัตว์ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจากบรรพบุรุษ 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.