ความงดงามราวงานศิลป์ของ ปลากัดไทย

คมเลนส์ช่างภาพเผยความงามราวงานศิลป์ของสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอย่าง “ ปลากัดไทย ”

ปลากัดไทย – แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานอยู่รอบตัวเรา ช่างภาพผู้นี้บอกว่าเขาพบแรงบันดาลใจที่ว่านั้นในตู้ปลาที่บ้าน

ตั้งแต่จำความได้ วิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพชาวไทย บอกว่า เขาหลงใหลในปลามาตลอด พออายุได้เจ็ดขวบ เขาก็เริ่มหัดถ่ายภาพ ตอนแรกใช้กล้องโกดักแบบครั้งเดียวทิ้ง ต่อมาก็จับกล้อง Nikon FM ของพ่อ เวลาล่วงเลยไปกระทั่งเขากลายเป็นคุณพ่อและใช้เวลาที่บ้านในกรุงเทพฯ มากขึ้น เขาจึงเกิดความคิดในการหลอมรวมความหลงใหลทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน

ปลากัดมาในหลายรูปทรงและสีสัน แต่พันธุ์หางยาวฮาล์ฟมูนที่ได้ชื่อจากเส้นสายและรูปทรงของหาง เป็นที่โปรดปรานของช่างภาพ วิศรุต อังคทะวานิช
“นี่เป็นท่าประเพณีนิยมสำหรับปลากัดครับ” วิศรุตบอก “ง่ายและสง่างาม”

วิศรุตศึกษาคุณลักษณะและการดูแลปลากัดไทย หรือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมาะเจาะว่า Betta splendens กระทั่งต่อมา เขาเริ่มซื้อปลากัดจากตลาดค้าปลาสวยงามที่สวนจตุจักร และเริ่มถ่ายภาพพวกมันโดยทดลองกับภาชนะที่ใช้เลี้ยงและแสงแบบต่าง ๆ

“ผมขอให้ปลาโพสท่าเหมือนคนไม่ได้ครับ” เขาบอก ด้วยเหตุนี้ วิศรุตต้องเรียนรู้ในการตะล่อมพวกมันให้อยู่ในท่วงท่าต่าง ๆ โดย เปลี่ยนขนาดและรูปทรงของภาชนะที่ใส่

ภาพถ่ายภาพนี้และภาพถัดไปถ่ายห่างกันสองปี เป็นภาพปลากัดคนละตัวในท่าเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่วิศรุตบอกว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้น เขาถึงกับอึ้งที่โชคเข้าข้างจนถ่ายภาพเหล่านี้ได้
ช่างภาพผู้นี้เชื่อว่า ภาพถ่ายแต่ละภาพยังซ่อนหรือแฝงภาพลักษณ์บางอย่างไว้ ตัวอย่างเช่น ในภาพที่แล้ว เขาเห็นผู้หญิงสวมชุดขาวในครีบฟูฟ่องของปลา และนึกภาพผู้ชายสวมเสื้อคลุมสีเข้มในภาพนี้

หลังครํ่าหวอดกับการถ่ายภาพปลากัดอยู่หลายปี เขาก็พอจะรู้หรือคาดการณ์อะไรต่าง ๆ ได้ กระนั้น การจับภาพชั่วขณะมหัศจรรย์ก็ยังเป็นความท้าทายเสมอ เขาต้อง “กดชัตเตอร์ และหวังลึก ๆ ว่าขอให้โชคช่วย”

วิศรุตเข้าใจดีถึงเสน่ห์ดึงดูดของการถ่ายภาพสรรพสัตว์ในดินแดนห่างไกล เช่น นกนานาชนิดในป่าแอมะซอน กระนั้น เขาก็พบแรงบันดาลใจภายในบ้าน ถ้าได้แสงที่ใช่ ปลาเหล่านี้ก็ดูเหมือน “สีสันที่เคลื่อนไหว” ราวฝีแปรงในภาพวาด

การใช้ความไวชัตเตอร์สูงๆ และไฟแฟลช ทำให้ภาพถ่ายสามารถถ่ายทอดความงามละเอียดอ่อนที่มักเล็ดลอดสายตามนุษย์ วิศรุตบอก ปลากัดสีแดงในภาพนี้จึงดูราวกับกลายร่างเป็นปักษาสวรรค์
การถ่ายภาพปลากัดเพศผู้สีเขียวเข้มตัวนี้เป็นความท้าทาย วิศรุตบอก เพราะโทนสีค่อนข้างทึบตันต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ทว่าส่วนผสมระหว่างครีบที่ดูอลังการและการเคลื่อนไหวทำให้ภาพนี้ออกมาลงตัว

ภาพถ่าย วิศรุต อังคทะวานิช

เรื่อง เจสัน บิตเทล

ติดตามสารคดี มัจฉาพรรณราย ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/576825


อ่านเพิ่มเติม ปลากัด : เหตุใดจึงได้รับเลือกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.