ช้างพยายามอยู่ร่วมกับคน แล้วคนจะอยู่ร่วมกับช้างได้หรือ

สัตว์ที่ปรับตัวเก่งเหล่านี้กำลังเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์ แต่เราจะเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับพวกมันหรือไม่

ระหว่างที่เราเดินลุยดินเลนเฉอะแฉะ จู่ๆนิสาร์ อาห์มัด เอ็ม.เค. ก็ทำท่าบุ้ยใบ้ให้เราหมอบลง หมู่ไม้โดยรอบเปิดออก สู่บึงน้ำแห่งหนึ่งที่ลูกช้างสองสามตัวพ่นน้ำใส่กันและล้มก่ายกันไปมา ช้างตัวอื่นๆในโขลงที่มีสมาชิกราว 20 ตัวมองดูอยู่ใกล้ๆในเขตไร่กาแฟแห่งนี้ที่เมืองฮัสซัน ทางตอนใต้ของอินเดีย

ด้านหลังเราคือเขตเรือนพักของไร่กาแฟ ผู้อยู่อาศัยที่นี่เผชิญหน้าสัตว์หนังหนาน้ำหนักหลายตันเหล่านี้บ่อยครั้ง จากปี 2021 ถึง 2022 ช้างคร่าชีวิตคนไป 12 คนในเมืองฮัสซันที่มีประชากร 1.8 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกันมีช้างตายสี่ตัว ตัวหนึ่งถูกยิง อีกตัวถูกไฟฟ้าช็อต และอีกตัวถูกรถไฟชน นิสาร์บอกว่า ช้างส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 65 ตัวในภูมิภาค มีแผลเป็นที่เชื่อว่าเกิดจากการถูกยิง นี่เป็นการอยู่ร่วมกันที่ชวนให้หายใจไม่ทั่วท้อง

ช้างดื่มน้ำในทะเลสาบใกล้เมืองกัลกามูวา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของศรีลังกา เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการพัฒนา ช้างราว 6,000 ตัวก็ถูกบีบให้ต้องใช้ถิ่นอาศัยเกือบร้อยละ 70 ร่วมกับมนุษย์
ช้างพลายเดินข้ามรั้วไฟฟ้าในคืนเดือนหงายใกล้ตะเข็บเขตอุทยานแห่งชาติเคาดุลลาในศรีลังกา รั้วไฟฟ้ายาว 4,500 กิโลเมตรบนเกาะที่มีไว้กันพวกช้าง แต่ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป เพราะช้างมักสำรวจสายไฟด้วยการใช้งวงดึงหรือดันต้นไม้ ให้ล้มทับรั้ว จากนั้นก็เดินข้ามสายไฟที่ถูกดึงจนล้ม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว นิสาร์ ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิอนุรักษ์ธรรมชาติ (Nature Conservation Foundation) องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ห่างจากเมืองไมซอร์ไม่กี่ชั่วโมง กับเพื่อนร่วมงานจึงติดตั้งระบบ แจ้งเตือนช่วยให้คนอยู่ห่างจากทางผ่านของช้าง เมื่อรู้ว่าช้างเข้ามาในพื้นที่ ป้ายที่สี่แยกถนนจะแจ้งเตือน ไฟสัญญาณ จะสว่าง และคนในพื้นที่จะได้รับข้อความสั้นและข้อความเสียงทางโทรศัพท์ แต่ก็เหมือนการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้อง กับมนุษย์ เรื่องไม่ง่ายแบบนั้นเสมอไป

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน นิสาร์ขับรถจี๊ปไปตามถนนดินช้าๆ เพื่อหาตำแหน่งของช้างที่ใส่ปลอกคอส่งสัญญาณ วิทยุ เขาเห็นกลุ่มคนกางร่มและใส่เสื้อกันฝนสีสดใสกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ระแคะระคายเลยว่าช้างอยู่ใกล้ๆ โดยมีต้นกาแฟ ไม่กี่แถวกั้นอยู่เท่านั้น

เขาสบถและจอดรถรับหญิงคนหนึ่งกับเด็กใส่ชุดนักเรียนสามคน เธอบอกว่าได้รับข้อความเตือนว่ามีช้างอยู่ใกล้ๆแล้ว แต่ต้องไปรับลูกที่โรงเรียนและเธอไม่มีรถ

ช้างท่องไร่ชาในวัลปะไร ประเทศอินเดีย ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของป่าที่พวกมันอาศัย ก่อนถูกปรับเป็นพื้นที่ปลูกชา ช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ทุกวันนี้ ประชากรราว 70,000 คนอาศัยอยู่และทำงานในภูมิภาคนี้ร่วมกับช้าง 120 ตัว
ช้างวัยรุ่นในอุทยานแห่งชาติพันทิปุระของอินเดียเอาดินทาตัว นี่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากการสังเกตแม่ช้างทำเช่นนี้ เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดและแมลง

นั่นคือความจริงในบางพื้นที่ของอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช้างและคนแก่งแย่งกันเพื่อชิงพื้นที่ในภูมิทัศน์ที่มนุษย์รุกเข้ายึดครองมากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งสัตว์ที่ชอบเข้าสังคมนี้เคยมีถิ่นกระจายพันธุ์ทั่วเอเชีย รวมถึงจีน และไปไกลสุดทางตะวันตกถึงแม่น้ำยูเฟรทีส ตอนนี้ช้างเอเชียซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อยู่ในพื้นที่แค่ราวร้อยละห้าของ ถิ่นกระจายพันธุ์ในประวัติศาสตร์ การขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐานทำให้ถิ่นอาศัยของช้างแยกเป็นส่วนๆ และพืชรุกรานที่ขึ้นแทนแหล่งอาหารปกติของพวกมันอาจเป็นภัยคุกคามมากขึ้นในอนาคต แม้ไม่อาจระบุตัวเลขได้แน่ชัด แต่ช้างเอเชียในธรรมชาติอาจมีไม่ถึง 50,000 ตัว ในจำนวนนี้ 30,000 ตัวอยู่ในอินเดีย นักวิจัยและนักอนุรักษ์เห็นตรงกันว่า ถ้าจะให้ช้างอยู่รอด คนกับช้างจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และหนทางนี้ยังอีกยาวไกล จากปี 2020 ถึง 2022 คนในศรีลังกาฆ่าช้างไปแล้วกว่า 1,100 ตัว ขณะที่มีคนเกือบ 400 คนเสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากับช้าง ในอินเดีย ตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 มีช้าง 300 ตัวและคน 1,400 คนเสียชีวิตจากความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับสัตว์ที่ฉลาดแสนรู้และปรับตัวเก่งเช่นนี้ จำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงโครงสร้างทางสังคมของพวกมัน ถึงแม้องค์ความรู้เดิมจะมีอยู่นานแล้ว นักวิทยาศาสตร์ศึกษาช้างเอเชียน้อยกว่าช้างแอฟริกา อย่างมาก ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักวิจัยผู้อุทิศตนจึงช่วยกันเติมช่องว่างดังกล่าว โดยเผยเรื่องราวของชนิดพันธุ์ที่ต่างจากสหายร่วมเผ่าพันธุ์ในแอฟริกา

ที่พระราชวังไมซอร์ ช้างเอางวงแตะกัน ซึ่งอาจเป็นอากัปกิริยาปลอบประโลม เทศกาลต่างๆ อาจทำให้ช้างเครียดได้ วันก่อนหน้านั้น ช้างเหล่านี้ต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมากในเทศกาลทศาระ
ใกล้เขตอนุรักษ์ธรรมชาติกาฮัลลา-ปัลเลเกเลในศรีลังกา ช้างพังตัวหนึ่งเอางวงแตะลูกช้างขณะนำช้างวัยเยาว์กลุ่มหนึ่ง ไปยังแหล่งน้ำ ช้างใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตเต็มที่ โดยเรียนรู้พฤติกรรมจากช้างตัวเต็มวัยไปในระหว่างนั้น ช้างวัยรุ่นบางตัวช่วยดูแลช้างที่อายุน้อยกว่า

คนและช้างในแถบเอเชียมีประวัติผูกพันกันมายาวนาน ตราประทับจากอารยธรรมฮารัปปาเมื่อกว่า 4,000 ปีก่อนเป็นรูปช้างที่ฝึกจนเชื่อง อาณาจักรและสาธารณรัฐต่างๆที่ถือกำเนิดขึ้นในอินเดียช่วงสหัสวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราช ส่งให้ช้างมีบทบาทเด่นในฐานะสัตว์สงคราม โดยเป็นเวทีการต่อสู้และพุ่งโจมตีกระบวนทัพของศัตรู และเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน รามัน สุกุมาร ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย บอก หลังเลิกใช้ทำศึก ช้างก็กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในกิจกรรมต่างๆ เช่น การขนส่งสินค้าและการชักลากไม้

บทบาทของช้างในศาสนาหยั่งรากลึกในสังคมเอเชียหลายแห่งเช่นกัน พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นช้างเผือกหกงา หรือพญาช้างฉัททันต์ และชาวฮินดูก็บูชาพระคเณศ เทพผู้มีเศียรเป็นช้าง วัดหลายแห่งทางตอนใต้ของอินเดีย ในศรีลังกา และบางส่วนของเอเชียอาคเนย์เลี้ยงช้าง ในเทศกาลทศาระ ช้างทรงเครื่องสิบสองเชือกเข้าร่วมขบวนแห่ตามถนนในเมืองไมซอร์ โดยเชือกหนึ่งแบกรูปสลักเทพีฮินดูนาม จามุณเฑศวรี ในเทศกาลพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ช้างราวหนึ่งร้อยเชือกที่คลุมผ้า สวมเครื่องประดับ และกระทั่งไฟวิบวับ เดินร่วมขบวนอัญเชิญเจดีย์ทองคำจำลองบรรจุพระเขี้ยวแก้วศักดิ์สิทธิ์ แต่กิจกรรมเช่นนี้อาจทำให้ช้างเครียดและทุกข์ทรมานได้ ช้างจำนวนมากถูกบังคับเคี่ยวเข็ญตลอดหลายปี และช่วงที่ไม่ถูกบังคับให้ขึ้นแสดง ก็มักถูกล่ามโซ่ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด

ช้างมีปฏิสัมพันธ์กับกล่องโลหะปริศนาที่ติดตั้งไว้บนเนินใกล้พรมแดนไทย ลาว และเมียนมา ช้างป่าหลายตัวที่เข้ารับการทดสอบสามารถไขปริศนาได้ด้วยการหาวิธีต่างๆ เพื่อเปิดกล่อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกมันมีทักษะในการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ จากการทดลองของนักวิจัยจากวิทยาลัยฮันเตอร์ในนิวยอร์กซิตี
ฝูงช้างพลายกำลังกินอาหารที่กองขยะใกล้ดัมบุลลา ประเทศศรีลังกา พวกมันถูกดึงดูดเข้ามากินขยะอินทรีย์ที่อุดม ไปด้วยสารอาหารจากตลาดในเมือง ช้างจำนวนมากที่ตื่นตัวจากเสียงยวดยานต่างๆ มาถึงกองขยะในจังหวะที่ขยะถูก นำมาเทพอดี

การยกย่องเชิดชูช้างอาจกลับกลายเป็นตรงกันข้ามอย่างรวดเร็ว หากชีวิตและทรัพย์สินตกอยู่ในความเสี่ยง ปรีถิวิรัช เฟอร์นันโด ผู้ศึกษาช้างเอเชียมากว่า 30 ปี บอกว่า สารพัดวิธีที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อยับยั้งช้างป่าเมื่อเกิดเหตุเผชิญหน้ากัน เช่น จุดประทัดหรือยิงปืน ก็แค่ไม่ได้ผล แต่กลับจะเป็นการทำร้ายช้างและทำให้พวกมันก้าวร้าวยิ่งขึ้น เขาบอกว่า สิ่งเดียว ที่ได้ผลคือรั้วไฟฟ้า

“การอยู่ร่วมกันไม่ใช่การเลี้ยงช้างไว้ในสวนหลังบ้านครับ” เฟอร์นันโดบอก แต่เป็น “การแยกห่างอย่างกลมกลืน” ศูนย์เพื่อการอนุรักษ์และการวิจัยของเขาจึงสนับสนุนการใช้รั้วไฟฟ้าซึ่งมักได้จากพลังแสงอาทิตย์ที่วางแผนอย่างรอบคอบสองประเภท ได้แก่ รั้วล้อมหมู่บ้านและรั้วตามฤดูกาล รั้วทั้งสองประเภทปล่อยกระแสไฟฟ้าทำให้ช้างสะดุ้ง แต่ไม่เป็นอันตราย รั้วล้อมหมู่บ้านจะกั้นรอบชุมชน กันช้างออกจากเขตบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา ส่วนรั้วตามฤดูกาลสร้างขึ้นชั่วคราวในฤดูที่ต้องการกันพืชผลจากช้าง แต่ในเวลาอื่นจะเปิดพื้นที่ให้ช้างหากินอย่างอิสระ ศูนย์เพื่อการอนุรักษ์และการวิจัยจัดหาวัสดุและคู่มือการสร้างรั้วให้โดยคาดหวังว่า ชาวบ้านจะลงแรงและทำหน้าที่บำรุงรักษา เฟอร์นันโดบอกว่า วิธีนี้ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรั้ว

สุมิถ รานาตุงคะ วัย 44 ปี โชคดีที่รอดชีวิตหลังรถจักรยานยนต์ล้มและถูกช้างเหยียบในกัลกามูวาเมื่อปี 2022 แต่เขาไม่คิดแค้นพวกมัน โดยบอกว่า “ถ้าเราสามารถทำให้ป่าเป็นแบบที่เคยเป็นในอดีตได้ เราจะไม่มีปัญหานี้เลยครับ เราต่างหาก ครับที่เอาป่ามาจากพวกช้าง”
ช้างเชือกหนึ่งยืนตระหง่านข้างหญิงสองคน ระหว่างไปร่วมงานเทศกาลในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย การรวมตัวเช่นนี้ อาจทำให้ช้างเครียดและเจ็บปวด ถ้าพวกมันถูกล่ามโซ่ ทำร้าย และบังคับให้ทำการแสดง การเดินบนถนนร้อนๆ อาจทำให้ เท้าที่ไวต่อสัมผัสของช้างบาดเจ็บได้เช่นกัน ทั้งคนและช้างต่างล้มตายในความขัดแย้งที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด การหาวิธีป้องกันการเสียชีวิตดังกล่าวกระตุ้นให้นักวิจัยศึกษาช้างเอเชียและวิธีอยู่ร่วมกับพวกมันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงอย่างนั้น ช้างก็มักทดสอบเขตแดนของมันอยู่บ่อยครั้งราวกับเป็นการประลองกำลังกัน โดยใช้งวงสำรวจรั้วไฟฟ้า หรือดันต้นไม้ให้ล้มทับรั้ว จากนั้นก็เดินข้ามสายไฟที่ล้มไป เฟอร์นันโดตระหนักว่า รั้วเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างให้อยู่ใกล้ๆคน ช้างจะได้ไม่กล้าเข้ามาทดลองทำลายรั้ว

ใกล้เมืองรามนครซึ่งอยู่ห่างจากเบงคลูรูประมาณ 50 กิโลเมตร พวกช้างกำลังขยับขยายไปยังพื้นที่อาศัยของมนุษย์ เนื่องจากการชลประทานที่ดีขึ้นทำให้ปลูกพืชผลได้ตลอดปี นิศานต์ ศรีนิวาไสยา หัวหน้าโครงการช้างใกล้เมือง (Frontier Elephant Programme) ในเบงคลูรู ประเทศอินเดีย กับทีมงานของเขา ร่วมมือกับรัฐบาลและหมู่บ้านในพื้นที่สร้างรั้วไฟฟ้าในภูมิภาค ก่อนที่ช้างจะเข้ามามากกว่านี้ “ไม่ใช่เพื่อป้องกันพวกมัน แต่เพื่อสร้างขีดความสามารถให้มนุษย์ครับ” โครงการช้างใกล้เมืองของเขาสนับสนุนการทำรั้วของชุมชนโดยพลิกแพลงเล็กน้อย เมื่อนักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นช้างเข้าไปทดสอบรั้ว พวกเขาจึงทำแนวกันชนที่ปลูกพืชผลไว้นอกรั้ว ซึ่งเท่ากับหยิบยื่นอาหารให้ช้างกินนั่นเอง ศรีนิวาไสยาบอกว่า วิธีนี้ ดูจะได้ผล เพราะรั้วยังอยู่ดีจนถึงขณะนี้

ช้างพลายสูงอายุตัวหนึ่งในอุทยานแห่งชาติยาลาใกล้ชายฝั่งศรีลังกา ขึ้นชื่อเรื่องการชอบมาเดินเล่นริมหาดยามค่ำคืน คนที่ทำงานกับช้างมักระบุบุคลิกโดดเด่นเฉพาะตัวของพวกมันได้

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ใช้ในฮัสซันก็ได้ผลดีที่อื่นเช่นกัน รวมถึงวัลปะไรซึ่งเป็นจุดกำเนิดแนวคิดนี้ด้วย บนที่ราบสูงที่เป็นไร่ชาสลับสล้างขนาด 220 ตารางกิโลเมตรในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย ผู้คนราว 70,000 คนอยู่อาศัยและทำงานร่วมกับช้าง 120 ตัวที่อาจผ่านไปมาในแถบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลายเดือนในฤดูหนาว เมื่อปี 2002 บริษัทปลูกชาซึ่งเสียคนงานเฉลี่ยปีละสามคนในความขัดแย้งกับโขลงช้าง ขอความช่วยเหลือจากเอ็ม. อานันทะ กุมาร ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่มูลนิธิอนุรักษ์ธรรมชาติ กุมารกับเพื่อนร่วมงานพัฒนาระบบที่ขับเคลื่อนด้วยชุมชนขึ้นใน วัลปะไร เพื่อติดตามและเฝ้าระวังช้างในที่ราบสูง ก่อนส่งสัญญาณเตือนเฉพาะจุดผ่านข้อความสั้น เสียงเตือน และไฟสัญญาณที่ควบคุมจากระยะไกล ไปยังคนงานไร่ชา แม้ช้างจะยังทำลายทรัพย์สินอยู่ แต่การเสียชีวิตของมนุษย์ลดลงเหลือเฉลี่ยปีละหนึ่งราย และไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วงสองปีที่ผ่านมา

อนาคตของช้างเอเชียจะเป็นเช่นไร รามัน สุกุมาร เชื่อว่า สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้นจะกดดันให้ช้างอยู่รวมกันเป็นหย่อมๆอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น เขาเสริมว่า ในระยะยาว นี่อาจทำให้ช้างมีขนาดตัวเล็กลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับประชากรช้างบนเกาะบอร์เนียวที่มีขนาดเล็กกว่าเครือญาติร้อยละ 30 สุกุมารชี้ว่า ช้างขนาดใหญ่กว่าที่เคยอยู่ในเอเชียช่วงหลายพันปีที่ผ่านมาสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว

เรื่อง ศรีนาถ เปรูร์
ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี เพื่อนช้างข้างบ้าน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/576825


อ่านเพิ่มเติม ปัญญาแห่ง ช้างป่า ที่ไม่อาจอยู่ร่วมกับมนุษย์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.