พบ ซอมบี้ตัวจริง ในธรรมชาติ – โฉมหน้าฝันร้ายของสัตว์โลกหลายชนิด

การได้เห็นแมลงเต่าทองกลายเป็นซอมบี้นั้นช่างน่าเศร้า พอ ๆ กับน่าอัศจรรย์ใจ

ปกติแล้วแมลงเต่าทองหรือด้วงเต่าลายจุด (Coleomegilla maculata) เป็นนักล่าที่เก่งกาจและกินจุ ในช่วงชีวิตของแมลงเต่าทองตัวหนึ่ง มันอาจกินเพลี้ยอ่อนหลาย พันตัว ในการหาเหยื่อ ขั้นแรกแมลงเต่าทองจะส่ายหนวดไปมาเพื่อจับสารเคมีที่พืชปล่อยออกมาขณะถูกแมลงศัตรูพืชเล่นงาน เมื่อจับตำแหน่งสัญญาณนี้ได้แล้ว แมลงเต่าทองจะเปลี่ยนไปหาโมเลกุลที่เพลี้ยอ่อนปล่อยออกมาแทน จากนั้นมันจะคืบคลานเข้าโจมตีเพลี้ยอ่อน แล้วฉีกเนื้อเป็นชิ้น ๆ ด้วยขากรรไกรหน้าที่คมกริบ

แมลงเต่าทองยังมีเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากศัตรูส่วนใหญ่ โครงร่างโค้งสีแดงแต้มจุดสีดำซึ่งในสายตามนุษย์ดูช่างน่ารัก หากในความจริงกลับเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังสัตว์นักล่าที่อาจมากินมันว่า แล้วแกจะเสียใจ เมื่อนกหรือสัตว์อื่นอยากลองดี แมลงเต่าทองจะหลั่งพิษออกมาตรงข้อต่อขา เมื่อผู้โจมตีได้ลิ้มรสเลือดขม ๆ นี้แล้ว ก็ ถึงกับคายแมลงเต่าทองออกมา สัตว์นักล่าจึงเรียนรู้ในการอ่านสารที่ส่งออกมาจากปีกแข็งชั้นนอกสีแดงแต้มจุดดำนี้ว่าเป็นข้อความเตือนให้อยู่ห่าง ๆ

ความที่เป็นนักล่าซึ่งมีกลไกป้องกันตัวเองชั้นเลิศจากสัตว์นักล่าอื่น ๆ แมลงเต่าทองจึงดูเหมือนแมลงที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบถ้าไม่ใช่เป็นเพราะแตนที่วางไข่ในร่างกายของแมลงเต่าทองขณะที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่

พยาธิขนม้า Paragordius varius
จิ้งหรีดทองแดงลาย Acheta domesticus
จิ้งหรีดทองแดงลายสูญเสียเจตจำนง และชีวิตให้พยาธิขนม้า ตัวอ่อนของปรสิตชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายของจิ้งหรีดเมื่อฝ่ายหลังไปกินซากแมลง จากนั้นจึงเติบโตอยู่ภายในตัวจิ้งหรีด ทั้งๆ ที่จิ้งหรีดเป็นสัตว์บก แต่ระยะตัวเต็มวัยในวงจรชีวิตของพยาธิต้องอยู่ในนํ้า ดังนั้นเมื่อพยาธิตัวเต็มวัยพร้อมจะ ออกมา มันจะปรับเปลี่ยนสมองของ เจ้าบ้าน โดยบังคับให้จิ้งหรีดกระโดดลงไปในแหล่งนํ้าที่อยู่ใกล้ที่สุด เมื่อจิ้งหรีดจมนํ้า พยาธิตัวเต็มวัยซึ่งบางตัวยาวเกือบ 30 เซนติเมตรก็คืบคลานออกมาจากตัวจิ้งหรีด ภาพ เบน ฮาเนลต์, UNIVERSITY OF NEW MEXICO

แตนที่ว่ามานี้ ชนิดหนึ่งคือ แตนเบียนด้วงเต่าลายจุด (Dinocampus coccinellae) ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กับเกล็ดนํ้าตาลหลากสีที่ใช้โรยหน้าไอศกรีม เมื่อแตนเพศเมียพร้อมวางไข่มันจะลงเกาะใกล้ ๆ แมลงเต่าทอง จากนั้นจึงแทงเหล็กในเข้าสู่ลำตัวด้านล่างของแมลงเต่าทองอย่างรวดเร็ว แล้วฉีดไข่พร้อมกับสารประกอบทางเคมีจำนวนหนึ่งเข้าไปในตัวเหยื่อ เมื่อไข่ฟักเป็นตัว ตัวอ่อนจะกินของเหลวภายในตัวเจ้าบ้านเป็นอาหาร

แม้แมลงเต่าทองกำลังถูกกินทีละน้อย ๆ จากข้างใน แต่จากภายนอกแล้ว ดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเลย มันยังคงโจมตีและล่าเพลี้ยอ่อนอย่างแข็งขัน แต่หลังจากย่อยเหยื่อแล้ว ปรสิตในตัวมันจะใช้สารอาหารที่มันย่อยได้ในการเจริญเติบโต สามสัปดาห์ ต่อมา ตัวอ่อนแตนก็แทรกตัวผ่านรอยแยกเล็ก ๆ ในโครงร่างแข็งภายนอกของแมลงเต่าทองออกมาสู่โลกภายนอก

แม้ตอนนี้ในตัวแมลงเต่าทองจะไม่มีปรสิตแล้ว แต่จิตใจของมันยังคงตกเป็นทาส ขณะตัวอ่อนแตนห่อหุ้มตัวเองอยู่ในดักแด้ใต้ตัวมัน แมลงเต่าทองก็ยังขยับตัวไม่ได้

สำหรับแตนแล้ว พัฒนาการนี้นับว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะดักแด้แตนเบียนด้วงเต่าลายจุดที่นอนคุดคู้อยู่ในรังไหม เปราะบางต่ออันตรายรอบด้าน ตัวอ่อนแมลงปีกใสและแมลงอื่น ๆ สามารถกินมันได้สบาย แต่หากสัตว์นักล่าตัวหนึ่งตัวใดเหล่านี้เข้ามาใกล้ แมลงเต่าทองจะโบกขาไปมาเพื่อข่มขู่ผู้เข้ามาโจมตี ดังนั้นมันจึงสวมบทองครักษ์พิทักษ์ปรสิตไปโดยปริยาย และจะทำหน้าที่นี้อย่างซื่อสัตย์อยู่นานหนึ่งสัปดาห์ จนกระทั่งแตนตัวเต็มวัยใช้ขากรรไกรหน้าเจาะรูออกมาจากรังไหม แล้วบินจากไป

ถึงตอนนี้ แมลงเต่าทอง “ซอมบี้” ส่วนใหญ่ก็จบชีวิตลง งานรับใช้ปรสิตนายทาสของมันสำเร็จลุล่วงแล้ว

แตนเบียนด้วงเต่าลายจุด Dinocampus coccinellae
แมลงเต่าทองหรือด้วงเต่าลายจุด Coleomegilla maculate
เชื่อกันว่าแมลงเต่าทองนำโชคมาให้ แต่ตัวที่ถูกแตนเบียนด้วงเต่าลายจุดเล่นงานนั้น เคราะห์ร้ายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อแตนเพศเมียต่อยแมลงเต่าทอง มันจะทิ้งไข่ไว้ หนึ่งฟอง หลังจากไข่ฟักเป็นตัว ตัวอ่อนก็เริ่มกินเจ้าบ้านของมันจากภายใน เมื่อพร้อมจะออกไปเผชิญโลก ปรสิตชนิดนี้จะแทรกตัวออกมาแล้วปั่นรังไหมอยู่ใต้ขาแมลง เต่าทอง แม้ตอนนี้ร่างกายของแมลงเต่าทองจะเป็นอิสระจากผู้บงการแล้ว แต่มันยังคงตกเป็นทาสด้วยการยืนคร่อมเพื่อปกป้องดักแด้แตนจากสัตว์นักล่า ภาพ JACQUES BRODEUR LAB, UNIVERSITY OF MONTREAL

ฉากอันน่าขนลุกขนพองนี้ไม่ได้มีนักเขียนบทภาพยนตร์คิดขึ้น ตลอดทั่วทวีปอเมริกาเหนือ แตนกำลังเปลี่ยนแมลงเต่าทองให้เป็นองครักษ์ซอมบี้ อีกทั้งแมลงเต่าทองก็ไม่ได้เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ นักวิทยาศาสตร์พบว่าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับสัตว์เจ้าบ้านมากมายหลายชนิด ตั้งแต่แมลง ปลาไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เจ้าบ้านปรนนิบัติปรสิตของตน แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะพาตัวมันไปสู่ความตายก็ตาม คำถามเดียวกันนี้เกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่าทั่วทั้งโลกธรรมชาติว่าเหตุใดสิ่งมีชีวิตจึงทำทุกวิถีทางเพื่อรับประกันความอยู่รอดของผู้ที่ทำร้ายมัน มากกว่าจะสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

งานอารักขานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของภารกิจป้องกันภัยที่สัตว์เจ้าบ้านจัดให้ปรสิต แมลงวันที่เบียนหรือเล่นงานผึ้งหึ่งจะบังคับให้ผึ้งขุดโพรงดินในฤดูใบไม้ร่วง ก่อนแมลงวันจะออกมาเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ ขณะอยู่ใต้ดิน ตัวอ่อนแมลงวันไม่เพียงจะปลอดภัยจากสัตว์นักล่า แต่ยังได้รับการปกป้องจากความหนาวเย็นในฤดูหนาวอีกด้วย

ในคอสตาริกา แมงมุมใยกลม (Leucauge argyra) พยายามมากขึ้นไปอีกเพื่อสนองความต้องการของแตนเบียนคอสตาริกา (Hymenoepimecis argyraphaga) แตนเพศเมียจะติดไข่ของมันไว้กับลำตัวของแมงมุมเจ้าบ้าน หลังฟักออกจากไข่ ตัวอ่อนจะเจาะรูสองสามรูที่ท้องของแมงมุมแล้วดูดกินเลือด เมื่อตัวอ่อนเติบโตเต็มที่ แมงมุมจะฉีกใยของตัวเองทิ้งแล้วชักใยขึ้นใหม่ในรูปร่างต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ใยแบบใหม่มีลักษณะเป็นเพียงเส้นหนา ๆ สองสามเสน้ ที่เชื่อมกันตรงกลาง หลงั จากสูบเลือดเจ้าบ้านจนแห้ง ตัวอ่อนก็ปั่นรังไหมบนเส้นใยที่ห้อยลงมาจากจุดที่ใยแมงมุมเชื่อมกัน การห้อยอยู่กลางอากาศทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สัตว์นักล่าจะเข้าถึงตัวดักแด้

ปรสิตยังสามารถบงการเจ้าบ้านให้ปกป้องพวกมันขณะยังคงอาศัยอยู่ในตัวเจ้าบ้าน ก่อนเข้าสู่ตัวเจ้าบ้านที่เป็นมนุษย์ พลาสโมเดียม (Plasmodium) ซึ่งเป็นโปรโตซัวก่อโรคมาลาเรียใช้เวลาระยะแรก ๆ ของวงจรชีวิตในตัวยุง ยุงต้องกินเลือดเพื่อดำรงชีวิต แต่พฤติกรรมนี้เป็นภัยต่อโปรโตซัว เพราะยุงอาจถูกมนุษย์ที่รู้สึกรำคาญตบตาย อันเป็นการขจัดโอกาสให้ พลาสโมเดียม เข้าสู่วงจรชีวิตระยะต่อไปในตัวมนุษย์ เพื่อลดความเสี่ยงนี้ พลาสโมเดียม จะบังคับให้ยุงเจ้าบ้านกระหายเลือดน้อยลง หาเหยื่อน้อยลงทุกคืน และล้มเลิกความตั้งใจเร็วขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ดูดเลือด

พยาธิหัวหนาม Pseudocorynosoma constrictum
แอมฟิพอด Hyalella Azteca
แอมฟิพอดตัวเล็กจิ๋วใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่ตามก้นทะเลสาบและหนองนํ้าขุ่นคลั่ก เว้นเสียแต่ว่ามันจะถูกเบียนจากตัวอ่อนพยาธิหัวหนาม เมื่อตัวอ่อนพยาธิโตเต็มที่ แอมฟิพอดจะว่ายขึ้นมาหาแสงสว่างบนผิวนํ้า นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงถึงชีวิต เพราะสิ่งที่รออยู่เบื้องบนคือเป็ดและนกนํ้าอื่นๆ ที่จ้องจะจับแอมฟิพอดกิน แต่สำหรับปรสิตซึ่งเปลี่ยนเป็นสีส้มจากสารสีที่ขโมยมาจากเนื้อเยื่อของเจ้าบ้าน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการ เพราะพยาธิหัวหนามจะเติบโตเต็มที่ได้เฉพาะในลำไส้ของนกนํ้าเท่านั้น ภาพถ่าย ลินเดน อี. รีด, UNIVERSITY OF NEBRASKA CEDAR POINT BIOLOGICAL STATION

เมื่อ พลาสโมเดียม โตเต็มที่และพร้อมจะเข้าสู่เจ้าบ้านที่เป็นมนุษย์ มันก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของยุงไปในทางตรงกันข้าม คราวนี้ยุงกระหายเลือดและบ้าบิ่นยิ่งขึ้น ทุกคืนมันจะออกหามนุษย์มากขึ้นและกัดซํ้า ๆ แม้ว่าจะอิ่มแล้ว ถึงตอนนี้หากยุงตายด้วยฝ่ามือมนุษย์ก็ไม่มีผลอะไร เพราะ พลาสโมเดียม เข้าสู่ร่างกายมนุษย์สมความตั้งใจแล้ว

ขณะที่ พลาสโมเดียม เปลี่ยนพฤติกรรมปกติของเจ้าบ้านเพื่อเข้าสู่วงจรชีวิตในระยะต่อไป ปรสิตอื่น ๆ ทำให้พฤติกรรมของเจ้าบ้านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งมักส่งผลให้ถึงแก่ชีวิต ตัวอย่างเช่น ตามปกติปลาคิลลิฟิชจะอยู่ลึกลงไปใต้ผิวนํ้าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้นกท่องนํ้าต่าง ๆ จิกกิน แต่เมื่อติดเชื้อพยาธิใบไม้ ปลาคิลลิฟิชจะขึ้นมาอยู่ ใกล้ผิวนํ้านานขึ้น และบางครั้งถึงกับหงายท้องให้สีเงินสะท้อนแสงเป็นประกายระยิบระยับ ปลาคิลลิฟิชที่ติดพยาธิจึงมีโอกาสถูกจิกกินมากกว่าปลาที่สุขภาพดี และบังเอิญว่าลำไส้ของนกเป็นที่ซึ่งพยาธิใบไม้ต้องใช้ในการเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยและสืบพันธุ์ต่อไป

ปรสิตครอบงำจิตใจที่รู้จักกันดีที่สุดก็บงการเจ้าบ้านบนบกในลักษณะคล้ายคลึงกัน หนูทั้งพันธุ์ใหญ่และพันธุ์เล็ก รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สามารถติดเชื้อปรสิตในกล้ามเนื้อหรือ ท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) ญาติของ พลาสโมเดียม ที่ก่อโรคมาลาเรีย ปรสิตชนิดนี้สร้างถุงนํ้า (cyst) นับพันถุงในสมองของเจ้าบ้าน ในการเข้าสู่วงจรชีวิตระยะต่อไป ท็อกโซพลาสมา ต้องเข้าไปอาศัยในลำไส้แมว ท็อกโซพลาสมาไม่มีวิธีนำพาตัวเองจากสมองหนูไปสู่ลำไส้แมว แต่หากหนูเจ้าบ้านถูกแมวกิน ปรสิตชนิดนี้ก็จะสืบพันธุ์ต่อไปได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า หนูที่ติดเชื้อ ท็อกโซพลาสมา สูญเสียความกลัวซึ่งมีอยู่ตามปกติเมื่อได้กลิ่นแมว อันที่จริงหนูติดเชื้อบางตัวกลับสนใจกลิ่นฉี่แมวมาก ส่งผลให้มันตกเป็นเป้ากรงเล็บแมวได้ง่ายขึ้น จึงเพิ่มโอกาสให้ ท็อกโซพลาสมาพัฒนาสู่ระยะต่อไปในวงจรชีวิต

พยาธิตัวแบน Ribeiroia ondatrae
กบอเมริกันบุลฟร็อก Lithobates catesbeianus
หลังจากพยาธิตัวแบนสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศภายในตัวหอยทาก ตัวอ่อนของมันจะออกหาลูกอ๊อดของกบอเมริกันบุลฟร็อก แล้วเจาะผ่านผิวหนังลงไปก่อตัวเป็นถุงน้ำบริเวณขาที่กำลังพัฒนาของกบ การมีขาเพิ่มขึ้น ขาดหายไป หรือผิดรูปร่าง ทำให้กบเคราะห์ร้ายที่เคลื่อนไหวอย่างงุ่มง่ามตกเป็นเหยื่อของนกที่กินกบเป็นอาหารอย่างนกยาง เมื่อเข้าสู่ร่างกายของนกยาง ปรสิตชนิดนี้จะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ไข่พยาธิจะกลับลงสู่นํ้าเมื่อนกถ่ายมูลออกมา แล้วเริ่มวงจรชีวิตใหม่ในหอยทากต่อไป ภาพถ่าย PIETER JOHNSON LAB, UNIVERSITY OF COLORADO BOULDER

การกลายพันธุ์และการคัดเลือกโดยธรรมชาติก่อให้เกิดอำนาจชวนขนลุกเช่นนั้นได้อย่างไร เป็นปริศนาแสนน่าทึ่งสำหรับนักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ แนวคิดหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้มาจากริชาร์ด ดอว์กินส์ นักชีววิทยาผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญในวงการชื่อ ยีนเห็นแก่ตัว (The Selfish Gene)ในหนังสือเล่มนั้น ดอว์กินส์อ้างว่า ยีนวิวัฒน์ขึ้นเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำสำเนาตัวเองได้มากขึ้น ในมุมมองของยีน ร่างกายเป็นเพียงพาหนะที่นำพายีนไปสู่ลูกหลานรุ่นต่อไปอย่างปลอดภัย ยีนทั้งหมดที่ประกอบกันขึ้นเป็นคุณหรือผมเรียกว่า รูปแบบพันธุกรรม หรือจีโนไทป์ (genotype) ส่วนผลรวมของลักษณะสืบสายพันธุ์และกิจกรรมต่างๆ ที่จีโนไทป์ของเราแสดงออกมาเป็นคุณและผมเรียกว่ารูปแบบปรากฏ หรือฟีโนไทป์ (phenotype)

ดอว์กินส์คิดว่า เราต้องไม่จำกัดขอบเขตฟีโนไทป์อยู่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่ควรรวมถึงพฤติกรรมที่เกิดจากยีนของเราด้วย ตัวอย่างเช่น นอกจากยีนของบีเวอร์จะแปลรหัสออกมาเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ และขนแล้ว ยังแปลรหัสเป็นวงจรสมองที่ชักนำให้บีเวอร์แทะต้นไม้จนล้มเพื่อนำมาสร้างเขื่อน ถ้ายีนที่กลายพันธุ์ไปก่อให้เกิดบีเวอร์ที่สร้างเขื่อนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฟีโนไทป์ของบีเวอร์ตัวนั้นก็อาจมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า และมีลูกหลานมากกว่าโดยเฉลี่ย ด้วยเหตุนี้ เมื่อผ่านไปหลาย ๆ รุ่น จึงพบยีนกลายพันธุ์ได้มากขึ้น หากมองในแง่วิวัฒนาการ เขื่อนและแม้แต่หนองนํ้าที่เกิดจากเขื่อนเป็นผลจากยีนของบีเวอร์มากพอ ๆ กับร่างกายของบีเวอร์เอง

ดอว์กินส์สงสัยว่า ถ้าอำนาจของยีนสามารถขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกทางกายภาพได้แล้วละก็ มันจะไม่สามารถขยายขอบเขตไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือครอบงำสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเชียวหรือ ดอว์กินส์ชี้ว่ายีนทำเช่นนั้นได้ และเขายกให้ปรสิตเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดความสามารถของปรสิตในการควบคุมพฤติกรรมของเจ้าบ้านนั้นเข้ารหัสอยู่ในยีนของมัน หากยีนใดยีนหนึ่งกลายพันธุ์ไป พฤติกรรมของเจ้าบ้านก็จะเปลี่ยนไป

การกลายพันธุ์อาจเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อปรสิต ขึ้นอยู่กับว่ายีนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ทำให้เหยื่อของมันเก็บเนื้อเก็บตัวจนอดตาย ไวรัสก็ไม่อาจแพร่ไปสู่เจ้าบ้านอื่น ๆ ได้ การกลายพันธุ์ที่ส่งอิทธิพลให้เหยื่อมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์แก่ปรสิตจะพบได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากแตนมีการกลายพันธุ์ที่บังคับแมลงเต่าทองเจ้าบ้านให้เริ่มปฏิบัติตัวเป็นองครักษ์ ลูกหลานของมันที่มีลักษณะสืบสายพันธุ์นี้จะอยู่รอดและออกลูกออกหลานต่อไป เพราะพวกมันจะถูกสัตว์นักล่าฆ่าเป็นจำนวนน้อยกว่า

ตอนแรกดอว์กินส์พัฒนาแนวคิดนี้ในหนังสือซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1982 ชื่อ ฟีโนไทป์ขยาย (The Extended Phenotype) ในยุคนั้นหรือทศวรรษ 1980 นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาตัวอย่างปรสิตที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเจ้าบ้านอย่างละเอียดเพียงไม่กี่ตัวอย่าง แต่ถ้าสมมุติฐานนี้ถูกต้อง ปรสิตต้องมียีนที่มีอำนาจเหนือยีนของเจ้าบ้านซึ่งปกติแล้วควบคุมการกระทำของเจ้าบ้าน

ราโอฟีโอคอร์ไดเซปส์ Ophiocordyceps spp.
มดแอมะซอน Dinoponera longipes
มดผู้น่าสงสารถูกราโอฟีโอคอร์ไดเซปส์ (Ophiocordyceps) ครอบงำจิตใจ เมื่อสปอร์ของราตกลงบนตัวมด พวกมันจะชอนไชผ่านโครงร่างแข็งภายนอกก่อนจะรุกคืบไปจนถึงสมอง เพื่อบงการเจ้าบ้านให้ออกจากถิ่นอาศัยตามปกติบนพื้นป่า แล้วปีนขึ้นต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
มดที่กำลังจะตายและอัดแน่นไปด้วยราจวนเจียนจะระเบิดตรึงตัวเองไว้กับใบไม้หรือพื้นผิวอื่นๆ จากนั้นก้านของราจะแทงทะลุตัวมด ออกมา และปล่อยสปอร์ลงบนตัวมด ที่อยู่ด้านล่างเพื่อเริ่มต้นวงจรชีวิตนี้อีกครั้ง ภาพ DAVID HUGHES LAB, PENN STATE UNIVERSITY

ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็เปิดกล่องดำที่ควบคุมจิตใจของปรสิตได้สำเร็จ ตัวอย่างเช่นฃเฟรเดอริก ลีเบอร์ซา จากมหาวิทยาลัยเบน-กูเรียน และเพื่อนร่วมงานศึกษาพฤติกรรมการเบียนแมลงสาบของแตนเบียนมรกต (Ampulex compressa) โดยแตนจะต่อยแมลงสาบด้วยเหล็กใน ทำให้ฝ่ายหลังกลายเป็นซอมบี้ที่ว่านอนสอนง่าย จากนั้นแตนจะลากเหยื่อที่ถูกวางยาเข้าไปในโพรงโดยจูงที่หนวดแมลงสาบเหมือนจูงสุนัขด้วยสายจูง แตนจะวางไข่หนึ่งฟองตรงท้องแมลงสาบ ขณะที่แมลงสาบได้แต่ยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น ขณะตัวอ่อนแตนฟักออกจากไข่แล้วเจาะเข้าไปในท้องของมัน

ความลับของการที่แตนมีอำนาจเหนือเหยื่อของมันคืออะไร ลีเบอร์ซาและเพื่อนร่วมงานพบว่า แตนจะบรรจงสอดเหล็กในเข้าไปในสมองของแมลงสาบจนถึงบริเวณควบคุมการเคลื่อนไหว จากนั้นจึงฉีดส่วนผสมของสารส่งผ่านประสาทซึ่งมีฤทธิ์คล้ายสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทไปยังเซลล์ประสาทของแมลงสาบ การทดลองของลีเบอร์ซาชี้ว่าสารนี้มีฤทธิ์ไปยับยั้งกิจกรรมของเซลล์ประสาทที่ตามปกติจะตอบสนองต่ออันตราย

เหล่านักวิทยาศาสตร์บันทึกการผ่าตัดประสาทของแตนเบียนมรกตได้อย่างละเอียดน่าทึ่ง แต่หนทางของพวกเขายังอีกห่างไกลกว่าจะเข้าใจได้ทั้งหมด พิษของแตนเป็นสารเคมีผสมกันมากมายหลายชนิด ลีเบอร์ซาและเพื่อนร่วมงานยังต้องวิเคราะห์ว่าสารใดส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของแมลงสาบและทำเช่นนั้นได้อย่างไร แต่จนถึงปัจจุบัน งานวิจัยของพวกเขาสนับสนุนทฤษฎีฟีโนไทป์ขยายของดอว์กินส์อย่างเต็มที่ กล่าวคือ ยีนที่แปลรหัสเป็นโมเลกุลพิษจะบังคับแมลงสาบให้เข้ามาอยู่ในแผนการเอาชีวิตรอดของแตน โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลในอุดมคติให้ตัวอ่อนแตน

มีไม่กี่กรณีที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มระบุได้อย่างชัดเจนว่า ยีนใดของปรสิตที่ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าบ้าน ตัวอย่างเช่น แบคิวโลไวรัส (baculovirus) ที่เบียนหรือเล่นงานหนอนผีเสื้อยิปซี รวมทั้งผีเสื้อกลางคืนและผีเสื้อกลางวันอีกหลายชนิด ปรสิตชนิดนี้เจาะเข้าไปครอบครองเซลล์ของเจ้าบ้านเพื่อสร้างแบคิวโลไวรัสตัวใหม่ ๆ ขึ้นมา เมื่อมองจากภายนอก หนอนผีเสื้อดูปกติดี แต่อาหารที่มันกินเข้าไปไม่ได้เปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อของหนอนแต่กลายเป็นแบคิวโลไวรัสจำนวนมากขึ้นแทน

เมื่อไวรัสพร้อมจะออกจากตัวเจ้าบ้าน หนอนผีเสื้อก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่พวกมันอยู่ไม่สุข กินอาหารไม่หยุด จากนั้นเริ่มไต่ต้นไม้ แทนที่จะหยุดตรงบริเวณที่ปลอดภัยจากสัตว์นักล่า หนอนติดไวรัสกลับไต่สูงขึ้นไปบนต้นไม้ แล้วอ้อยอิ่งอยู่บนยอดใบไม้หรือเปลือกไม้ในช่วงกลางวันแสก ๆ ซึ่งเป็นเวลาที่สัตว์นักล่าจะพบเห็นพวกมันได้ง่าย ๆ แบคิวโลไวรัสมียีนสำหรับผลิตเอนไซม์หลายชนิด

แตนเบียนหนอนกะหล่ำ Cotesia glomerata
ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ Pieris brassicae
หนอนผีเสื้อหนอนกะหลํ่าทำหน้าที่เป็นองครักษ์ให้ปรสิตผู้เชิดหุ่น แตนเบียนหนอนกะหลํ่าเพศเมียวางไข่หลายสิบฟองในตัวหนอน ตัวอ่อนแตนฟักจากไข่ กินอาหารเติบโต… จากนั้นจึงทำให้เจ้าบ้านที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นอัมพาต แล้วกัดเปิดทางออกมาสู่โลกภายนอก เมื่อหนอนผีเสื้อรู้สึกตัวอีกครั้ง ตัวอ่อนแตนจะปั่นรังไหมเล็กๆ ไว้ใต้ตัวหนอน แทนที่จะปล่อยให้ตัวอ่อนแตนป้องกันตัวเอง เจ้าบ้านที่ตกเป็นทาสจะปั่นไหมหุ้มดักแด้แตนเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง แล้วยืนปกป้องรังไหมโดยส่ายหัวไปมาเพื่อขับไล่สัตว์นักล่า ภาพถ่าย JEFF HARVEY LAB, NETHERLANDS INSTITUTE OF ECOLOGY

เมื่อพร้อมจะออกจากตัวเจ้าบ้าน ยีนบางยีนจะทำงานในเซลล์ของหนอนผีเสื้อ โดยสร้างเอนไซม์ปริมาณมากออกมาย่อยหนอนเป็นของเหลวเหนียวหนืดระหว่างที่หนอนผีเสื้อถูกย่อยอยู่นั้นเอง ไวรัสที่จับเป็นก้อนเหนียวก็หยดลงสู่ใบไม้ด้านล่างเพื่อให้หนอนเจ้าบ้านตัวใหม่กินเข้าไป

สำหรับเคลลี ฮูเวอร์ และเดวิด ฮิวจ์ส จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตและเพื่อนร่วมงาน พฤติกรรมการปีนขึ้นต้นไม้ของหนอนผีเสื้อดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างชั้นยอดของฟีโนไทป์ขยาย การที่แบคิวโลไวรัสบงการให้เจ้าบ้านไต่ขึ้นไปบนต้นไม้จะเพิ่มโอกาสให้เจ้าบ้านตัวใหม่ด้านล่างติดไวรัสมากขึ้น เพื่อทดสอบแนวคิดของดอว์กินส์พวกเขาวิเคราะห์ยีนในแบคิวโลไวรัสเพื่อดูว่าจะพบยีนที่ควบคุมหนอนผีเสื้อให้ไต่ขึ้นต้นไม้หรือไม่

เมื่อนักวิจัยหยุดการทำงานของยีนยีนหนึ่งที่ชื่อ อีจีที (egt) ในไวรัส เซลล์หนอนผีเสื้อยังคงติดไวรัสได้และไวรัสก็ทวีจำนวนเหมือนเช่นเคย แม้กระทั่งย่อยหนอนเป็นของเหลวเหนียวหนืดก็ยังทำได้ แต่เมื่อปราศจากยีน อีจีที ที่ใช้การได้แล้ว แบคิวโลไวรัสก็ไม่อาจบงการหนอนให้ปีนต้นไม้ แต่ปรสิตอื่นอีกหลายชนิดไม่น่าจะควบคุมเจ้าบ้านด้วยยีนเพียงยีนเดียว เพราะปกติแล้วพฤติกรรมของสัตว์เป็นผลมาจากยีนของตัวมันเองหลายยีน ซึ่งแต่ละยีนมีส่วนในการแสดงออกเป็นพฤติกรรมโดยรวมนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่าปรสิตหลายชนิดควบคุมเจ้าบ้านด้วยยีนของมันเองจำนวนหนึ่ง

แล้วเรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับแตนเบียนด้วงเต่าลายจุดและแมลงเต่าทองเคราะห์ร้ายผู้เป็นเจ้าบ้าน ในการเปลี่ยนเหยื่อให้เป็นองครักษ์ผู้แข็งขัน ตัวแตนเองอาจกำลังเป็นฟีโนไทป์ขยายของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง นักวิจัยพบว่า ขณะฉีดไข่เข้าไปในแมลงเต่าทอง แตนยังฉีดสารผสมซึ่งประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ และสารอื่น ๆ รวมถึงไวรัสที่ขยายพันธุ์ในรังไข่ของแตน หลักฐานบางอย่างบ่งชี้นี้เองที่ตรึงแมลงเต่าทองให้อยู่กับที่เพื่อปกป้องดักแด้แตนจากสัตว์นักล่า

ไวรัสและแตนมีผลประโยชน์เชิงวิวัฒนาการร่วมกัน นั่นคือการเปลี่ยนแมลงเต่าทองให้เป็นองครักษ์เพื่อสร้างแตนมากขึ้น และจำนวนแตนที่เพิ่มขึ้นย่อมให้กำเนิดไวรัสมากขึ้นดังนั้นยีนของทั้งคู่จึงทำงานร่วมกันในการบังคับแมลงเต่าทองให้เป็นหุ่นเชิดของพวกมันแตนเบียนด้วงเต่าลายจุดอาจไม่ใช่ผู้เชิดหุ่นดังที่เคยคิดกัน แต่มันกลับซ่อนผู้เชิดหุ่นอีกรายหนึ่งเอาไว้ในตัวอีกที

เรื่อง คาร์ล ซิมเมอร์
ภาพถ่าย อานันท์ วรมา

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2557


อ่านเพิ่มเติม  “เวน่อม” ในชีวิตจริง ปรสิตเหล่านี้สยองไม่แพ้กัน

ภาพจากภาพยนตร์ Venom (2018)
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.