นักวิจัยพบเสียงนกช่วยเตือนให้ แรด หนีจากมนุษย์ที่กำลังเข้าใกล้รวมทั้งนักล่าสัตว์ เพิ่มอัตราแรดรอดชีวิตในธรรมชาติ

เสียงนกช่วยเตือนให้ แรด หนี โรน พลอตซ์ (Roan Plotz) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรดดำและนกออกซ์เพ็กเกอร์ปากแดง ที่กินเห็บบนตัวแรดจะช่วยส่งเสียงร้องเตือนเมื่อมีมนุษย์หรือนักล่าที่อาจเป็นภัยคุกคามเข้าใกล้ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของแรดได้

แม้ว่าแรดดำจะมีการดมกลิ่นและการได้ยินที่ดี แต่พวกมันก็มีสายตาที่ค่อนข้างย่ำแย่ พลอตซ์กล่าวว่ามนุษย์สามารถเข้าใกล้มันได้อย่างง่ายดายหากรู้ทิศทางลม สิ่งนี้ทำให้นักลักลอบล่าสัตว์เข้าถึงตัวแรดได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ประชากรแรดลดลงอย่างน่าใจหายจนกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
.
ขณะที่พลอตซ์กำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับแรดดำในอุทยาน ‘Hluhluwe-Imfolozi’ ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่เก่าแก่ในแอฟริกาใต้ เขาสังเกตเห็นว่าแรดหลายตัวที่เขาเข้าใกล้ได้นั้นไม่มีนกอยู่บนตัว เขาจึงเกิดคำถามว่า ‘เป็นไปได้ไหมที่นกจะช่วยเตือนแรดได้เมื่อมีอะไรบางอย่าง (ที่อาจจะเป็นนักล่า) เข้าใกล้ ?’

พวกเขาจึงตั้งสมมติฐาน ‘แรดที่มาพร้อมกับนกนั้นมีแนวโน้มที่จะตรวจจับมนุษย์ได้ดีกว่าและไกลกว่าเมื่อเทียบกับแรดที่ไม่มีนกออกซ์เพ็กเกอร์ปากแดง’ และทำการทดลองโดยการติดแท็กเครื่องมือติดตามกับแรด ทุกครั้งที่แรด (ที่ถูกติดแท็ก) มีนกเกาะอยู่ จะแสดงสัญญาณทางกายภาพเมื่อมนุษย์เข้าไปใกล้ ‘ยืนตัวตรง หันหน้าไปทางลม และเตรียมตัววิ่ง’ พร้อมที่จะออกจากที่แห่งนี้

ขณะเดียวกัน แรดที่ไม่มีนกเกาะอยู่จะแสดงสัญญาณพร้อมหนีช้าลงราวร้อยละ 23 และเมื่อทำการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์แล้ว ทีมงานสรุปว่านกออกซ์เพ็กเกอร์ปากแดงช่วยลดโอกาสที่มนุษย์จะมองเห็นและเข้าใกล้แรดได้ถึงร้อยละ 40-50

“แรดดำสามารถดักฟังเสียงเตือนจากนกบนตัวได้ และเมื่อทำเช่นนั้นก็จะตรวจจับมนุษย์ที่เข้าใกล้ได้ในระยะที่ไกลขึ้น” แดเนียล บลูมสไตน์ (Daniel Blumstein) นักนิเวศวิทยากล่าว ตามรายงานระบุว่านกช่วยให้ระยะการตรวจจับมนุษย์ของแรดไกลเพิ่มขึ้น 9 เมตร กระนั้นพลอตซ์ยังไม่แน่ใจว่าพวกนกรู้ว่ามันกำลังเตือนแรดจริง ๆ หรือไม่ หรือแค่ว่าพวกมันกำลังเตือนเพื่อนฝูงนกด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตามความไม่แน่ใจนี้ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของการค้นพบนี้ “การดักฟังสัญญาณของสายพันธุ์อื่นนั้นเป็นพฤติกรรมการปรับตัวที่ยอดเยี่ยม” จูดิท บรอนสไตน์ (Judith Bronstein) ศาสตราจรย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนากล่าว ไม่ว่าจุดประสงค์ของนกออกซ์เพ็กเกอร์ปากแดงจะมีวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม พวกมันสามารถช่วยลดภัยคุกคามจากมนุษย์ในระยะที่มากขึ้นได้ และนั่นหมายความว่าความแม่นยำของอาวุธปืนก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน

การค้นพบนี้อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยเหลือแรดดำในธรรมชาติด้วยการนำนกกลับเข้าสู่พื้นที่ที่พวกมันหายไป “อาจมีประโยชน์อย่างแน่นอนที่จะนำออกซ์เพ็กเกอร์กลับคืนสู่ประชากรของแรดดำ” พลอตซ์ กล่าวเสริม

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา https://www.nationalgeographic.com/animals/article/bird-calls-warn-black-rhinos-humans-poachers

อ่านเพิ่มเติม จำนวนประชากรแรดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หายไปถึงร้อยละ 70 ภายในช่วง 10 ปี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.