ปลาโรนิน หรือปลากระเบนพื้นน้ำ เป็นสัตว์ทะเลที่มีรูปร่างแปลกตา หางของปลาชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับฉลาม ลำตัวหนา ทว่าจากส่วนกลางของลำตัวไปจนถึงบริเวณหัวที่มีกระดูกแหลมขึ้นเป็นสันหนามกลับมีลักษณะแบนคล้ายปลากระเบน
ฉลามและปลากระเบนพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลกตกเป็นเป้าหมายของการล่าเพื่อนำครีบไปประกอบอาหารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากครีบของพวกมันถือเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในอาหารจีน ปลาโรนินซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ก็ถูกคุกคามจากความต้องการที่จะนำชิ้นส่วนของพวกมันไปทำเป็นเครื่องประดับหรูที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน ซึ่งเครื่องประดับเหล่านั้นทำขึ้นจากการตัดสันหนามของปลาโรนินออก แล้วจึงนำไปทำเป็นแหวนหรือกำไลที่มีรูปทรงสวยงาม
ปลาโรนินที่พบตามแถบมหาสมุทรแถบอินโด-แปซิฟิกมีความคล้ายคลึงกับ ปลาฉนาก และปลาโรนันหรือปลากระเบนลักษณะคล้ายฉลามซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก จากการสำรวจพบว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้จำนวนปลาโรนินในธรรมชาติลดน้อยลงถึงร้อยละ 80
งานวิจัยฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Conservation Science and Practice พบว่า การขายเครื่องประดับจากชิ้นส่วนของปลาโรนินผ่านช่องทางออนไลน์กระจุกตัวอยู่ที่ประเทศไทย และเติบโตมาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว เจนนิเฟอร์ พิตคา (Jennifer Pytka) ผู้นำในงานวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาชีววิทยาทางทะเล ณ มหาวิทยาลัยแบงกอร์ (University of Bangor) กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้วธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายซึ่งดำเนินการมานานโดยไม่มีใครตระหนักถึงและไม่มีเอกสารประกอบการค้าที่ถูกต้อง” นอกจากนั้นเธอยังกล่าวเสริมว่า “นอกจากรายงานเกี่ยวกับเครื่องประดับจากปลาโรนินที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงไม่กี่ฉบับแล้ว เราก็แทบจะไม่พบข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้เลย ในตอนนั้นพวกเราไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเราจะได้ผลลัพธ์อะไรจากทำงานวิจัยนี้”
จากการสืบค้นข้อมูลทางออนไลน์อย่างเป็นระบบ พบว่ามีการโฆษณาสินค้าจากชิ้นส่วนของปลาโรนินมากกว่า 977 ชิ้น และมีบางชิ้นถูกโพสต์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยส่วนใหญ่แล้วโฆษณาที่พบจะประกาศขายส่วนหนามของปลาโรนินในรูปแบบของหัวแหวน หรือขายแต่หนามเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการขายสินค้ารูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ กำไล กระดูกขากรรไกร และปลาโรนินสตัฟฟ์ทั้งตัว สองในสามของสินค้าที่กล่าวมานั้นถูกวางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าออนไลน์ โดยพบว่าผู้จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับปลาโรนินเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย และมีผู้จำหน่ายในประเทศอื่น ๆ บ้าง เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และแคนาดา
นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การจำหน่ายสินค้าจากชิ้นส่วนปลาโรนินระหว่างประเทศถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส (CITES) โดยมีข้อกำหนดว่าต้องมีการบันทึกการขนส่งข้ามพรมแดนโดยเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และการซื้อขายจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อสินค้าไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของสัตว์ชนิดพันธุ์นั้น ๆ ซึ่งการจะทำตามข้อกำหนดนี้ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังไม่มีใครทราบถึงขอบเขตการค้าของหนามโรนินที่แน่ชัด
เมื่อสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ามีการลอบค้าสัตว์ป่าอย่างแพร่หลายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ไม่ใช่เว็บมืดหรือดาร์กเว็บ (dark web) กล่าวคือมีการประกาศขายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีมูลค่าสูงผ่านโชเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ อย่างเปิดเผย แมธธิว แมคเดวิตต์ (Matthew McDavitt) สมาชิกคณะกรรมการสมาคมอนุรักษ์ปลาฉนาก (Sawfish Conservation Society) ซึ่งเป็นคนแรกที่แจ้งให้พิตคาและอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยของเธอทราบถึงการมีอยู่ของเครื่องประดับจากชิ้นส่วนปลาโรนินได้กล่าวว่า “การค้าขายสัตว์สายพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างเป็นระบบเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก”
หนามโรนิน หรือที่เรียกกันในชื่อหนามกระเบนท้องน้ำถูกใช้เป็นเครื่องรางของขลังในประเทศไทย โดยเชื่อว่าหากนำหนามปลาโรนินไปทำเป็นแหวนแล้วสวมใส่จะสามารถปกป้องคุ้มกันเจ้าของจากภัยทางน้ำและภัยอันตรายอื่น ๆ ได้ บ้างก็เชื่อว่าหากนำหนามโรนินไปสลักลายพญาครุฑจะสามารถปกปักรักษาเจ้าของจากคุณไสยได้
คาดว่าธุรกิจค้าหนามปลาโรนินอาจเป็นผลพลอยได้จากธุรกิจค้าครีบปลาระดับโลกซึ่งสร้างกำไรได้มาก โดยเฉพาะครีบปลาโรนินที่เป็นที่ต้องการเป็นพิเศษ “ผู้คนจากทุกหนแห่ง แม้แต่ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลที่สุดต่างก็ตามหาฉลามและกระเบนพวกนี้ เพราะครีบของมันมีค่าสูงมาก” ลุก วาร์วิก (Luke Warwick) ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ฉลามและปลากระเบนประจำสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กล่าว และเขายังเสริมอีกว่า “ความต้องการในการซื้อหนามโรนินเองก็น่ากังวล เพราะหนามเหล่านั้นไปเพิ่มมูลค่าให้กับหัวของปลาชนิดนี้”
จำนวนปลาโรนินในประเทศไทยลดฮวบ ทำให้เหล่าผู้ค้าหันไปหาหนามโรนินจากแหล่งอื่น พิตคาเล่าว่า เธอได้ยินว่ามีการเลาะเอาหนามออกจากตัวปลาโรนินในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมา และจากที่พิตคาสัมภาษณ์ผู้ค้า เธอพบว่าคนงานนำหนามโรนินที่หาได้ข้ามชายแดนประเทศไทยมาโดยการซ่อนตามกระเป๋าต่าง ๆ
เรื่องคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นกับฉนาก ญาติสายพันธุ์ใกล้ชิดกับปลาโรนินที่ถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์เพียงเพราะครีบของมัน แมคเดวิตต์เล่าว่า “สิ่งที่ถูกตามหารองลงมาจากครีบปลาคือฟันเลื่อยของปลาฉนากที่เชื่อกันว่าสามารถขับไล่ภูติผีปีศาจได้ และการซื้อขายฟันของปลาชนิดนี้ก็มีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาหลายร้อยปีแล้ว”
ในปี 2561 ประเทศไทยได้จัดให้ปลาโรนินเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เครื่องประดับทั้งหมดที่ทำจากหนามโรนินจะต้องถูกนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมประมงเพื่อขอใบอนุญาตและหนังสือรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง การผลิตสินค้าจากหนามโรนินถูกสั่งห้าม และสินค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมประมงจะสามารถขายได้หลังเดือนพฤศจิกายนปี 2561 โดยต้องขายภายในประเทศไทยเท่านั้น
จากผลสำรวจของไวล์ดเอด (WildAid) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งทำหน้าที่ลดอัตราการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายพบว่า มีสินค้าจากชิ้นส่วนของปลาโรนินมากกว่า 10,000 ชิ้นถูกนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมประมงในปี 2561 และจากการตรวจสอบฐานข้อมูลสำหรับการค้นหาเกี่ยวกับสถิติการค้าชนิดพันธุ์ในบัญชีไซเตสของภาคีสมาชิก โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกพบว่า ประเทศไทยไม่มีสถิติการนําเข้าสินค้าจากชิ้นส่วนปลาโรนินมาตั้งแต่ปี 2562
อย่างไรก็ตาม พิตคาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ถ้าพิจารณาจากตัวกฎหมายแล้ว จะต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับธุรกิจสินค้าจากชิ้นส่วนปลาโรนินในประเทศไทยแน่นอน” ผู้ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการค้าเมื่อขายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์ป่าคุ้มครองผ่านช่องทางออนไลน์นั้นมีน้อย จากผลการศึกษาของพิตคาพบว่า โดยส่วนใหญ่โฆษณาเกี่ยวกับสินค้าเหล่านี้ถูกโพสต์หลังปลาโรนินถูกประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มีสินค้าเพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายกำหนด
เธอเสริมว่า “การที่มีหนามโรนินขายอย่างโจ่งแจ้ง และผู้ค้าทุกรายไม่ได้มีใบอนุญาตและหนังสือรับรองชี้ให้เห็นว่ามีข้อผิดพลาดบางอย่างในการบังคับใช้กฎหมายนี้” นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ค้าหนามโรนินบางรายได้ประกาศขายสินค้าจากสัตว์และพืชพรรณต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตสที่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่น เสือ ช้าง หมี ม้าน้ำ และไม้พะยูง อย่างไรก็ดี ทางกรมประมงยังไม่ได้ตอบกลับเอกสารขอความเห็นเกี่ยวกับการขายสินค้าจากชิ้นส่วนของปลาโรนินที่ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกส่งไป
แม้ในปี 2561 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกได้ร่วมกันปล่อยแคมเปญ เครือข่ายพันธมิตรเพื่อยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าออนไลน์ (Coalition to End Wildlife Trafficking Online) โดยมีเป้าหมายในการลดการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายลงให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2563 แต่กลับมีรายงานจากองค์กรต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Alliance to Counter Crime Online) ว่าในปีนั้นยอดขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายใน Facebook เพิ่มสูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ทาง Facebook ได้แจ้งกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่าแพลตฟอร์มของตนมีนโยบายและการใช้งานที่พร้อมจะ “ห้ามไม่ให้มีโฆษณาและเนื้อหาที่มีความพยายามจะแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายสินค้าจากสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์” อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีสินค้าจากชิ้นส่วนของปลาโรนินพร้อมจำหน่ายทางช่องทางดังกล่าวอยู่ พิตคากล่าวว่า “ฉันมั่นใจว่าฉันสามารถเข้า Facebook ตอนนี้แล้วซื้อหนามโรนินสองร้อยชิ้นได้เลย” เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์เจ้าอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศไทย
เธอยังเสริมอีกว่า “บริษัทเทคโนโลยีอาจจะติดตามการประกาศขายหนามโรนินซึ่งมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและสามารถระบุได้ง่ายได้อัตโนมัติ ฟีเจอร์นี้อาจช่วยแสดงให้เห็นห่วงโซ่ของการจัดจำหน่ายและอาจจะช่วยระบุจุดอ่อนของการบังคับใช้กฎหมายได้” ศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเองก็จำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการค้าหนามของปลาโรนินอย่างผิดกฎหมายโดยเร็ว
วาร์วิกกล่าวทิ้งท้ายว่า “พวกเขาได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุและค้นหาครีบฉลามแล้ว แต่ยังไม่มีใครสามารถตรวจหาหนามโรนินได้อย่างชำนาญ ผมหวังว่ามันจะไม่สายเกินไปสำหรับปลาโรนิน พวกมันรับความเสี่ยงมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”
ภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ