แม้แต่สัตว์ก็ต้องเป็น ” ผู้ลี้ภัย ” จากสงคราม-บาดเจ็บ-พวกลักลอบขนสัตว์

ณ สถานพักพิงแห่งหนึ่งในจอร์แดน สัตว์ป่า ผู้ลี้ภัย ที่รอดชีวิตจากพื้นที่สงคราม การบาดเจ็บ และพวกลักลอบขนสัตว์ ได้พำนักพักกาย

ผู้ลี้ภัย – พาบลิโตเป็นสิงโตตัวแรกที่ผมเคยเห็นใกล้ๆ ลูกสิงโตน้อยอายุราวสี่เดือน เดินมาหาผมจากห้องที่มันใช้นอน ตอนกลางคืนในคอกที่ศูนย์นิวโฮป (New Hope Centre) สถานฟื้นฟูสัตว์ป่าในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน แต่จู่ๆ มันก็ชะงัก แล้วจ้องมองผม ดวงตาดูเศร้าสร้อยเปราะบาง เหมือนพยายามจะบอกอะไรสักอย่างด้วยภาษาร่วมอันไร้ถ้อยคำของเรา ชั่วขณะนั้น ผมรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าต้องบอกเล่าเรื่องราวของมัน

ก่อนพบกับพาบลิโตเมื่อปี 2018 ผมอยู่ระหว่างเดินทางไปถ่ายภาพเด็กหญิงตัวน้อยชื่อ ซะห์รา ตอนนั้น เธอเป็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอายุเจ็ดขวบที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ที่ค่ายแห่งหนึ่งในจอร์แดน ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ผมใช้กล้องถ่ายภาพบอกเล่าเรื่องราวความหวัง การยืนหยัด และการอยู่รอด หลายครั้งหลายหน ผมได้ไปเยือนสถานที่ที่แหลกลาญเพราะความขัดแย้ง รวมทั้งสถานที่ซึ่งผู้คนที่หนีจากหายนะมาดิ้นรนต่อสู้เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

แล้วผมก็ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคลินิกนิวโฮปที่มอบโอกาสครั้งที่สองให้ชีวิตไร้ที่พึ่งอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ ส่ำสัตว์ผู้บอบช้ำและถูกทอดทิ้งที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากสวนสัตว์ที่ล้มเหลวด้านการจัดการ ช่วยชีวิตจากพื้นที่สงคราม หรือยึดจากขบวนการลักลอบขนสัตว์

สกูเตอร์, เต่าบก ที่ศูนย์นิวโฮปในกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน สกูเตอร์กินผักกาด โดยมีผู้ดูแล คาลีฟา อัลโลซี คอยป้อน ตอนได้รับการช่วยเหลือมาจากสวนสัตว์กาซาเมื่อปี 2013 สกูเตอร์ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อและโครงกระดูกผิดปกติที่ทำให้มันเป็นอัมพาต หลังรักษาอยู่นานแปดเดือนที่นิวโฮป ปัจจุบัน เต่าตัวนี้ขยับแขนขาได้และเดินไปไหนมาไหนโดยอาศัยสเกตบอร์ตช่วยพยุง
ซุกการ์, หมีดำเอเชีย – ซุกการ์ หมีซึ่งปัจจุบัน 13 ปี เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตไม่กี่ตัวจากสวนสัตว์แมจิกเวิลด์ใกล้เมืองอะเลปโปในซีเรียที่ย่อยยับเพราะสงคราม หมีเพศผู้ตัวนี้ค่อยๆ ฟื้นตัวในศูนย์พักพิงอัลมะวาเพื่อธรรมชาติและสัตว์ป่ามาตั้งแต่ปี 2017

นิวโฮปทำหน้าที่เป็นสถานกักโรคและศูนย์ฟื้นฟูสำหรับสัตว์ ซึ่งในท้ายที่สุดจะย้ายไปอยู่ที่อัลมะวาเพื่อธรรมชาติและสัตว์ป่า (Al Ma’wa for Nature and Wildlife) ศูนย์พักพิงกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปราว 50 กิโลเมตรและมีอาณาบริเวณเกือบ 700 ไร่ ในเทือกเขาจาราชทางตะวันตกเฉียงเหนือของจอร์แดน ที่นี่เป็นบ้านของเต่าบกตัวหนึ่งที่เป็นอัมพาตจากโรคกล้ามเนื้อและโครงกระดูกผิดปกติ และได้รับการช่วยเหลือมาเมื่อปี 2016 จากสวนสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเลวร้ายที่สุดในโลกที่กาซา นอกจากนี้ อัลมะวา (แปลว่า “ที่พักพิง” ในภาษาอาหรับ) ยังเป็นบ้านของกลุ่มสิงโตแอฟริกันและหมีดำเอเชียจากแมจิกเวิลด์ สวนสนุกและสวนสัตว์ย่านชานเมืองอะเลปโปในซีเรียที่ยับเยินจากสงคราม

ผมเริ่มแวะเวียนไปที่นั่นเป็นประจำ การบันทึกภาพชีวิตสัตว์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ช่วยเปิดหูเปิดตา ก่อนหน้านั้น งานของผมมักมุ่งเน้นชีวิตผู้คนที่ติดอยู่ท่ามกลางความอลหม่าน ความทุกข์ยากของมนุษย์ และการ ทำลายล้าง ตอนนี้ ผมกำลังเผชิญหน้ากับส่ำสัตว์ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่ไม่เกี่ยวข้องอันใด กับพวกมัน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ สัตว์เหล่านี้คงตายเพราะระเบิด ใช้ชีวิตท่ามกลางดงกระสุน หรือไม่ก็ถูกทิ้ง ให้อดตาย

สัตว์ที่ช่วยมาจากสวนสัตว์ที่ไปไม่รอดหรืออยู่ในพื้นที่สงคราม ซึ่งมักไม่มีไฟฟ้าและน้ำ ไม่ต้องพูดถึง ทุนสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่ดูแล ส่วนใหญ่ไม่มีบ้านหรือถิ่นอาศัยให้กลับไปอยู่ แหล่งพักพิงอัลมะวาให้ที่ลี้ภัยถาวร แก่สัตว์ “ไร้รัฐ” เหล่านี้

อัลมะวามีพื้นที่ 694 ไร่ ครอบคลุมผืนป่าเมดิเตอร์เรเนียนดั้งเดิมผืนท้ายๆ ในจอร์แดน และเป็นเขตคุ้มครอง เพียงแห่งเดียวในตะวันออกกลางที่ให้บ้านถาวรแก่สัตว์ถูกทารุณกรรมและไม่อาจกลับไปอยู่ในธรรมชาติได้อีกแล้ว
สกาย, เสือโคร่งเบงกอล – ตอนอายุหนึ่งเดือน สกายกับทาช พี่น้องของมัน ถูกเจ้าหน้าที่ยึดได้จากกระโปรงหลังรถที่ชายแดนจอร์แดน-ซาอุดีอาระเบีย

พาบลิโต ลูกสิงโตตัวน้อย จะกลายเป็นหนึ่งในนั้น การถูกขังในกรงเล็กแคบที่สวนสัตว์ทำให้พาบลิโตบอบช้ำ ผู้ดูแลมันบอกกับผม เจ้าสิงห์น้อยมีแผลเป็นขนาดใหญ่บนจมูกจากการพยายามแหกกรงซ้ำๆ แต่หลังเข้ามาอยู่ที่ นิวโฮปได้เพียงเดือนเดียว พาบลิโตก็เริ่มฟื้นตัว ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงเฝ้าดูมันเล่นกับกิ่งไม้กับถุงกระสอบที่ห้อย จากเพดานคอกขนาด 150 ตารางเมตร กระโจนเข้าออกบ้านเด็กเล่น ส่งเสียงคำราม พอตกกลางคืนก็ผล็อยหลับ บนกองฟาง

ต่อมาผมได้พบกับสกูเตอร์ เต่าบกที่เป็นอัมพาตจากการเลี้ยงดูผิดๆ หลังทำกายภาพบำบัดในน้ำและได้รับอาหารเสริมวิตามินเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นอยู่แปดเดือน สกูเตอร์ก็เริ่มขยับแข้งขาได้ ปัจจุบัน มันเดินต้วมเตี้ยมไปมาบนพื้นโดยมีสเกตบอร์ดแผ่นหนึ่งช่วยพยุงตัว

เจ้าหญิงอาเลีย อัล ฮุสเซน พระราชธิดาองค์โตของกษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนผู้ล่วงลับ ตรัสกับผมว่า พระองค์ทรงเริ่มคิดจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสัตว์เมื่อปี 2009 ตอนที่มีคณะละครสัตว์เร่คณะหนึ่งมาแวะแสดงในจอร์แดน สัตว์หลายตัวของคณะอยู่ในสภาพย่ำแย่ ลูกสิงโตตัวหนึ่งถูกถอดเล็บและมีอาการเจ็บอุ้งเท้า เจ้าหญิงอาเลียทรงพบในเวลาต่อมาว่า ใบอนุญาตของคณะละครสัตว์คณะนี้ ซึ่งออกโดยกระทรวงเกษตรของอียิปต์ เป็นของปลอม

ออสซี, หมีสีน้ำตาลซีเรีย – ออสซีย้ายมาอยู่นิวโฮปจากสวนสัตว์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งพร้อมกับพี่น้องของมัน ฮาดีและซูจา
โลกี, หมีสีน้ำตาลซีเรีย – โลกีใช้ชีวิตที่อัลมะวากับจามาลและรูมี หมีทั้งสามตัวได้รับการช่วยเหลือมาจากสวนสัตว์แห่งหนึ่งในจอร์แดน

พระองค์ตรัสว่า ในตอนนั้น ชาวจอร์แดนจำนวนมากยังไม่ตระหนักถึงประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ ตอนนั้นเอง ที่พระองค์ทรงเข้าใจถึงความจำเป็นในการทำโครงการริเริ่มอย่างศูนย์นิวโฮปโดยผ่านทางมูลนิธิเจ้าหญิงอาเลีย (Princess Alia Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร พระองค์ ทรงร่วมมือกับโฟร์พอว์ส (Four Paws) องค์กรสวัสดิภาพสัตว์ในกรุงเวียนนา เมื่อเดือนมกราคม ปี 2010 ศูนย์นิวโฮปต้อนรับผู้ป่วยรายแรกเป็นไฮยีนาลายพาดชื่อ ด็อบบี ที่ช่วยมาจากสวนสัตว์ในท้องถิ่น ในปีรุ่งขึ้น อัลมะวาก็เปิดดำเนินงาน

“เราพยายามเต็มที่เพื่อให้ผู้มาเยือนเข้าใจครับว่า สัตว์ป่าตามสวนสัตว์ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” มาเร็ก เตรลา สัตวแพทย์และซีอีโอของอัลมะวา บอกผม “สถานการณ์ในอุดมคติคือปล่อยพวกมันกลับสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นพวกเกิดในสถานเพาะเลี้ยง ก็อาจเป็นไปไม่ได้ครับ” แต่เป็นไปได้ที่จะมอบสภาพความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นแก่สัตว์เหล่านี้ เขาเสริม

ที่อัลมะวา ซึ่งดำเนินงานด้วยเงินบริจาคเป็นส่วนใหญ่ สัตว์ต่างๆ ยังอยู่ในรั้วรอบขอบชิด แต่สามารถ เข้าถึงพื้นที่เปิดโล่งได้และเพลิดเพลินกับสภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติมากกว่าเดิม ศูนย์พักพิงแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่า เมดิเตอร์เรเนียนผืนท้ายๆ ของประเทศ ที่นี่อุดมไปด้วยต้นโอ๊กไม่ผลัดใบ ต้นสน และสตรอว์เบอร์รีต้น

งูหลามเผือก – ตอนยึดได้จากผู้ลักลอบค้าสัตว์ที่สนามบินอัมมาน งูหลามอายุสี่ปีตัวนี้ป่วยหนัก มันตายหลังเข้ารับการฟื้นฟูสุขภาพ ที่นิวโฮปอยู่นานสองเดือน
เต่าบกกรีก – ผู้ดูแลถือเต่าบกกรีกสองตัวจาก 550 ตัวที่ยึดมาจากผู้ลักลอบค้าสัตว์ที่ชายแดนจอร์แดน-ซีเรีย ทั้งหมดถูกปล่อยคืนสู่ป่าในเวลาต่อมา

แม้ศูนย์จะไม่ได้ใหญ่โตเป็นพิเศษ แต่ก็ให้ที่พักพิงสะดวกสบายสำหรับสัตว์ 70 ตัว รวมถึงสิงโตแอฟริกา 24 ตัว หมีสีน้ำตาลซีเรีย แปดตัว หมีสีดำเอเชียสองตัว เสือโคร่งเบงกอลสองตัว ไฮยีนาลายพาดสองตัว ไฮยีนาลายจุดหนึ่งตัว และหมาป่า อีกแปดตัว ซึ่งตัวหนึ่งได้รับความช่วยเหลือหลังถูกประกาศขายบนเฟซบุ๊ก

ในแต่ละสัปดาห์ สัตว์เหล่านี้กินเนื้อสัตว์มากกว่า 575 กิโลกรัม เป็นเศษเนื้อขายไม่ได้ที่ได้รับบริจาค จากซูเปอร์มาร์เก็ตและโรงฆ่าสัตว์กับผักผลไม้อีกกว่า 1,800 กิโลกรัม สัตว์ส่วนใหญ่มาถึงศูนย์แห่งนี้โดยไม่มี เวชระเบียน ไม่มีใครรู้รายละเอียดส่วนใหญ่ที่เป็นภูมิหลังของพวกมัน เหล่าผู้ดูแลต้องใช้เวลาเรียนรู้พวกมันไปทีละตัว พร้อมกับดูแลให้มั่นใจได้ว่า สัตว์แต่ละตัวได้รับความสะดวกสบายที่พวกมันปรารถนา

เหล่าผู้ดูแลจะคอยคุมไม่ให้ผู้เยี่ยมชมทำสิ่งที่เป็นการกระตุ้นสัตว์เหล่านี้ ส่วนผู้มาเยี่ยมชมก็ได้เรียนรู้ ความแตกต่างระหว่างสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ขณะที่สัตว์ป่าบางตัวอาจฝึกให้เชื่องได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเคียงข้าง หรือกระทั่งพึ่งพามนุษย์ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาหลายพันปีในการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ชนิดพันธุ์ที่มีการปรับตัวทางพันธุกรรมจนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับพวกเราได้

ราก์ฮัด, กวางแฟลโลว์ – เจ้าของราก์ฮัดพามันมาที่อัลมะวาตอนอายุหกเดือน หวังจะให้มันมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
นกเค้าเล็ก – นกอายุหนึ่งปีตัวนี้ถูกพบในห้องพักโรงแรมหลังถูกประกาศขายบนเฟซบุ๊ก มันใช้ชีวิตที่นิวโฮปราวหนึ่งปี ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ

ผมสัมผัสได้ว่า อัลมะวาเป็นพื้นที่รอยต่อแบบหนึ่ง ซึ่งพวกสัตว์ผูกสัมพันธ์กับผู้ดูแลอย่างเห็นได้ชัด พวกมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยง แต่ก็ไม่ใช่สัตว์ป่าขนานแท้เช่นกัน
ความข้อนี้เห็นได้ชัดเจนสำหรับผม เมื่อเสือชื่อทาชและสกายปรากฏตัวขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเพราะได้ยินเสียงผู้ดูแลพวกมัน และเมื่อเจ้าบัลลูมาตะกายรั้วทันทีที่ผู้ดูแลเรียกชื่อมัน พอผมลองเรียกชื่อสัตว์บางตัวบ้าง แต่ไม่มีตัวไหนมีทีท่าสนใจแม้แต่น้อย

ผมรู้สึกใจสลายเมื่อได้รับรู้ว่าสัตว์เหล่านี้แต่ละตัวเคยประสบอะไรมาบ้าง กระนั้น ทุกครั้งที่ผมจากมา ผมก็แทบรอวันได้กลับไปอีกไม่ไหว ทุกครั้งที่ไปจอร์แดน ผมจะแวะไปที่นั่นเสมอ

มาร์ก, หมาป่าเทาอาหรับ – มาร์กได้รับการช่วยเหลือจากการประกาศขายบนเฟซบุ๊ก ปัจจุบัน มันเติบโตดีในฝูงหมาป่าห้าตัว
พาบลิโต, สิงโตแอฟริกา – ตอนเป็นสิงโตน้อยในภาพนี้ พาบลิโตมีแผลเป็นประจำตัวบนจมูก

ตั้งแต่ปลายปี 2018 เป็นต้นมา ผมไปเยือนศูนย์นิวโฮปและอัลมะวาราว 25 ครั้งได้ (นิวโฮปถูกยุบรวม ในเดือนกันยายน ปี 2021 และย้ายเจ้าหน้าที่กับสัตว์ทั้งหมดไปไว้ที่อัลมะวา) ผมเฝ้าดูสัตว์บางตัวเติบโตขึ้น ดีใจที่ได้เห็นพวกมันใช้ชีวิตอย่างที่ควรได้รับ และนั่นคือสิ่งที่ดึงผมกลับไปครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อไปถึงอัลมะวาในวันศุกร์เมฆครึ้มวันหนึ่งของเดือนมีนาคม ผมกระตือรือร้นอยากไปดูพวกเสือเป็นพิเศษ พอเดินเข้าใกล้คอกหนึ่ง สิงโตรูปร่างงามสง่า ตัวสูงใหญ่ มัดกล้ามแข็งแรงตัวหนึ่งก็เดินมาที่รั้ว มันผงกหัวให้ผมแล้วเดินอย่างสงบมุ่งไปทางหมู่ไม้ แผลเป็นเล็กๆ บนจมูกของมันบอกให้ผมรู้ว่า มันคือพาบลิโต ลูกสิงโตตัวน้อยที่ผม เจอครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน ตอนนี้มันถูกเรียกว่า พาโบล อันเป็นชื่อวัยผู้ใหญ่ของมัน

ผมแทบไม่อยากเชื่อ มันจำผมได้

ลูกสิงโตแอฟริกา – สัตว์แพทย์ อับดุลเราะห์มาน อะห์หมัด เล่นกับลูกสิงโตพี่น้องวัยสามเดือน ที่ได้รับการช่วยเหลือมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 พวกมันตายลงในเวลาต่อมาจากไวรัสลิวคีเมียในแมว ซึ่งเป็นโรคติดต่อง่ายและพบได้ทั่วไป
ซูเบีย, เหยี่ยวนิ้วสั้น – ราก์ฮัด ไซทูน สัตว์แพทย์ที่นิวโฮป เตรียมชั่งน้ำหนักเหยี่ยวนิ้วสั้นตัวหนึ่งที่ได้รับการฟื้นฟูสุขภาพ หลังถูกนายพรานทำปืนลมลั่นใส่จนตาข้างขวาบอด

เรื่องและภาพถ่าย มุฮัมมัด มูเฮเซน

แปล  อัครมนุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี ผู้ลี้ภัยที่คาดไม่ถึง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/584135


อ่านเพิ่มเติม ณ โรงเรียนไกลจากบ้าน ของเด็กหญิง อัฟกานิสถาน ที่ลี้ภัยเพื่อให้ได้เรียน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.