แมวส้ม สิ่งมีชีวิตที่ขึ้นชื่อเรื่องพฤติกรรมแปลกประหลาด และได้รับความนิยมบนสังคมอินเตอร์เน็ตอย่างยิ่ง บ้างก็แสดงท่าทียียวนกวนประสาท บ้างก็ทำบางอย่างที่น่าขบขัน หรือบ้างก็ทำสิ่งที่หลายคนคิดว่าไร้สาระ
.
หลายคนยกแมวส้มให้กลายเป็นมีมตลก แต่พฤติกรรมเหล่านี้มีการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์จริง ๆ ว่าสีขนของแมว (โดยเฉพาะสีส้ม) มีผลต่อการกระทำของพวกมันหรือไม่?
ใช่ แมวส้มมีความแตกต่างทางพันธุกรรม พวกมันมียีนบางตัวที่ไม่เหมือนชาวบ้านอยู่ในโครโมโซม X ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศ โดยรับผิดชอบหน้าที่ในการทำให้ขนของแมวผลิตเม็ดสีที่สร้างสีอันเป็นเอกลักษณ์ และเม็ดสีนี้จะแสดงออกมากกว่าเม็ดสีอื่น ๆ เช่นสีดำหรือสีน้ำตาล
.
เนื่องจากมันอยู่ในโครโมโซม X สีส้มจึงมีความเกี่ยวข้องกับเพศอย่างแน่นอน หรือสามารถพูดได้อีกนัยหนึ่งว่า แมวสีส้มนั้นขึ้นอยู่กับเพศ โดยทั่วไปแล้ว การจะกลายเป็นแมวส้มนั้น ยีนบนโครโมโซมจะต้องมีการกลายพันธุ์ 1 ครั้ง ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นแมวส้มหรือไม่เป็นก็ได้
.
ในทางกลับกัน แมวที่มีโครโมโซม X สองตัว หรือแมวเพศเมียนั้นต้องการการกลายพันธุ์ 2 ครั้งถึงจะสามารถมีโอกาสเป็นแมวส้มโดยสมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้แมวส้มตัวเมียหายากมากกว่าแมวส้มตัวผู้ ในอัตราตัวผู้ 3 ต่อตัวเมีย 1 ตัว (เพราะตัวผู้ต้องการการกลายพันธุ์เพียง 1 ครั้ง แต่ตัวเมียต้องการ 2 ครั้ง) แต่อย่างไรก็ตาม สีขนนั้นแม้จะเกี่ยวกับเพศ แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรมทั้งหมด
.
“การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมและสีขน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่สำคัญหรือเป็นที่แน่ชัด อีกทั้งการพิจารณาสีขนไม่ใช่สิ่งที่กำหนดรูปแบบกระบวนการตัดสินใจของเราเมื่อต้องพิจารณาถึงว่าทำไมแมวถึงมีพฤติกรรมแตกต่างกัน” เดเนียล วอร์เรน-คัมมิ่ง (Daniel Warren-Cummings) เจ้าหน้าที่จาก Cats Protection ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล จากสหราชอาณาจักรกล่าว
ในปี 2016 มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสีขนและพฤติกรรมในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด โดยมุ่งเน้นไปยังการรับรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับบุคลิกภาพของแมว พวกเขาสำรวจเจ้าของแมว 189 ราย และได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่
.
นั่นคือ แมวสีส้มได้รับการจัดอันดับว่า “มีความเป็นมิตรค่อนข้างสูง มีความห่างเหินและความประหม่า (หวาดกลัวที่จะเข้าหา) ต่ำ” เมื่อเทียบกับแมวสีอื่น ๆ ในทางกลับกัน แมวสีขาวถูกมองว่าโดดเดี่ยว ขี้อาย สงบ และไม่ค่อยทำกิจกรรม แต่บางครั้งก็เป็นมิตรและกล้าหาญ
.
ส่วนแมวสีดำนั้นไม่มีคุณลักษณะใด ๆ ที่แตกต่างจากแมวสีอื่นเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือ เช่น แมวสองสีถูกมองว่าเป็นมิตร และมีความสันโดษต่ำ รวมถึงแมว 3 สีที่ถูกมองว่าโดดเดี่ยว ใจแคบ และมีความเป็นมิตรต่ำเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการสังเกตและตีความของคนๆ หนึ่ง
.
“การศึกษาจำนวนมากที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและรูปลักษณ์นั้น เป็นการสำรวจหรือแบบสอบถามที่มอบให้กับเจ้าของ/ผู้ดูแล และเราต้องเข้าใจว่า ความเข้าใจของแต่ละคนเกี่ยวกับคำเช่นว่า ‘เป็นมิตร’ นั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก” วอร์เรน-คัมมิ่ง กล่าว
.
สิ่งนี้หมายความว่า แต่ละคนจะตีความหมายพฤติกรรมของแมวแต่ละตัวแตกต่างกันไป ทำให้ปัจจุบันยังมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่เชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมและสีขนของแมว
.
แต่ก็ยังพอมีเบาะแสบ้าง ในปี 1995 นักวิจัยในฝรั่งได้ทำการศึกษาแมว 30 ตัวและพบว่า แมวส้มนั้นพบได้ทั่วไปในชนบท ซึ่งหมายความว่ามันประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์มากกว่าสีอื่น ๆ (เฉพาะในพื้นที่งานวิจัย)
.
ต่อมาทีมงานยังพบว่าแมวส้มมีพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยงชีวิต กล้าได้กล้าเสียมากกว่า มันอาจเป็นผลดีในแถบชนบท แต่ในเมืองการชอบเสี่ยงนี้ทำให้พวกมันพาตัวเองไปเจอ ‘ภัยคุกคาม’ ในเมืองที่มากกว่าชนบท ทำให้มันประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์น้อยลงไป กระนั้นงานวิจัยนี้ก็ทำให้กลุ่มตัวอย่างแมวเล็ก ๆ เท่านั้น จึงไม่สามารถอ้างอิงไปยังประชากรทั้งหมดได้
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าความโด่งดังของแมวส้มนั้นอาจเกิดจากวิธีการนำเสนอภาพต่าง ๆ ในสื่อ เช่น ตัวการ์ตูนแมวสีส้มที่กำหนดการรับรู้ของสังคม
.
“การพรรณนาถึงแมวสีส้มบางตัวที่โด่งดังที่สุดในวัฒนธรรมอเมริกันเช่น มอร์ริส ‘แมวที่จู้จี้จุกจิกที่สุดในโลก’ และ การ์ฟิลด์ แมวที่ถูกอธิบายว่าขี้เกียจและเย่อหยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากยอดขายและการโฆษณา ตัวละครแมวสองตัวนี้จึงได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ” มิเกล เดลกาโด (Mikel Delgado) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมแมว กล่าว
.
สิ่งนี้ทำให้ทุกคนรู้จักแมวส้ม และคำว่าแมวส้มถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ที่ชื่นชอบแมว เมื่อเราเห็นแมวส้มในชีวิตจริง ความทรงจำของเราเกี่ยวกับแมวส้มที่ได้รับมาจากการ์ตูนจึงถูกกระตุ้นขึ้นมา และมองแบบเหมารวมว่าแมวส้มเป็นแบบนี้
“ในความคิดเห็นของผม (และผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ) ทั้งธรรมชาติและการเลี้ยงดู เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในพฤติกรรมแมวไปตลอดชีวิต” วอร์เรน-คัมมิ่ง กล่าว ขณะเดียวกัน สภาวะด้านสุขภาพก็สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้มากกว่าพฤติกรรม
.
“และการพัฒนาของบางสายพันธุ์ก็ส่งผลให้แมวมีสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีลดลง” วอร์เรน-คัมมิ่ง บอก ตัวอย่างกรณีเช่น สุนัขพันธุ์เล็กอย่างปั๊กที่มีกระโหลกสั้นกว่าก็ “อาจทำให้หายใจและรับประทานอาหารได้ลำบาก” เขาเสริม
.
พร้อมกับระบุว่า วิธีการเลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงอายุ 2-7 สัปดาห์ของแมวเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้แมวมีการเข้าสังคมแบบเป็นมิตรดีหรือไม่เป็นมิตร และการดูแลในช่วงนี้อาจสร้างผลกระทบต่อพฤติกรรมของแมวในตลอดชีวิตที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นใจ ความเต็มใจที่จะเข้าหาผู้คน และมีส่วนร่วมกับสิ่งกระตุ้นใหม่ ๆ
.
แม้แมวสีส้มของคุณอาจเป็นเจ้าตัวร้ายขนปุยที่กวนยียวนประสาทจริง ๆ แต่พฤติกรรมเหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับสีขน ถ้าคุณต้องการให้แมวน้อยของคุณ (ไม่ว่าจะสีไหนก็ตาม) เป็นแมวที่เข้าสังคมเก่ง คุณอาจต้องเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก ๆ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Fabien BELLANGER on Unsplash
ที่มา
https://www.publish.csiro.au/zo/ZO9840231
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1439-0310.2006.01320.x
https://www.jstor.org/stable/3545954
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1558787816300284
https://www.iflscience.com/is-orange-cat-behavior-actually-a-thing-71755