ดุกว่าฉลาม “มนุษย์” ฆ่าฉลาม 80 ล้าน/ปี ซ้ำร้าย 25 ล้านนั้นใกล้สูญพันธุ์!

มนุษย์ ฆ่าฉลาม 80 ล้านตัว/ปี แม้มีกฎหมายก็ไม่ช่วย ซ้ำ! 25 ล้านตัวเป็นสายพันธุ์ใกล้สูญ

มนุษย์ ฆ่าฉลาม 80 ล้านตัวต่อปี แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแล้วก็ตาม ระเบียบในการห้ามจับปลาฉลามเพิ่มขึ้นมากขึ้นถึง 10 เท่าตั้งแต่ปี 2000 ทว่า ก็ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์จับฉลามน้อยลงเลย ซ้ำร้าย ในตลาดกลับมีเนื้อฉลามใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาแทน

ในปี 2019 มีฉลามอย่างน้อย 79 ล้านตัวตายไปจากการประมง และอย่างน้อยในจำนวนนั้น มี 25 ล้านตัวที่อยู่ในสายพันธุ์ถูกคุกคาม ซึ่งตัวเลขนั้นไม่เคยลดลง มีแค่เพียงคงที่ หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทีมวิจัยนานาชาติได้รายงานในวารสาร ‘Science’ เมื่อสัปดาห์นี้ระบุว่า กฎระเบียบที่พยายามให้ผู้คนจับฉลามน้อยลง ไม่ได้ช่วยชีวิตฉลามเท่าที่ควร

“หากจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็คืออัตราการตายของฉลามทั่วโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” บอริส วอร์ม (Boris Worm) นักนิเวศวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยดาลเฮาส์ ในแคนาดากล่าว พร้อมเสริมว่าขณะนี้มีความต้องการฉลามทั้งตัว ไม่ใช่แค่ครีบเหมือนในอดีต สิ่งนี้ผลักดันให้ชาวประมงต้องจับสัตว์สายพันธุ์นี้ต่อไป (แม้หูฉลามจะถูกแบบในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีอยู่ในรายการอาหาร)

วอร์ม และเพื่อนร่วมงานอีก 7 คนได้ใช้เวลา 3 ปีที่ผ่านมาไปกับการรวบรวมข้อมลูการตายของฉลามและกฎระเบียบด้านการประมง “นี่เป็นความท้าทายจริง ๆ” เขากล่าว “เนื่องจากชาวประมงไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการจับฉลาม เราจึงรวบรวมทุกสิ่งที่เราพบ ตั้งแต่จำนวนที่จับได้ ข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์บนเรือในน่านน้ำสากล ไปจนถึงการประมาณการณ์ในการทำประมงชายฝั่ง ซึ่งรวมทั้งการประมงเพื่อสันทนาการ และแม้แต่การประมงที่ผิดกฎหมาย”

การวิเคราะห์ทั่วโลกเผยให้เห็นว่า แม้จะมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการประมงด้านปลาฉลามเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า แต่อัตราการตายในทศวรรษที่ผ่านมาก็ไม่น้อยลงเลย ในปี 2012 มีฉลามถูกฆ่าราว 76 ล้านตัว และปี 2018 ก็มีอย่างน้อย 80 ล้านตัวที่ต้องตายไป เนื่องจากไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ และหลายครั้งก็ไม่ได้รับการบันทึกไว้เลย ทีมวิจัยเชื่อว่าตัวเลขนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริงมากนัก

ตลาดปลาฉลามสด ๆ

นิโคลัส ดูลวี (Nicholas Dulvy) จากมหาวิทยาลัยไซมอนฟราเซอร์ ในแคนาดา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่ากฎข้อบังคับในการประมงนั้นมีขึ้นเพื่อ “ช่วยให้แน่ใจว่าการจับจำนวนมากจะสามารถระบุได้ในระดับสายพันธุ์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมและการค้า”

อีกทั้งยังช่วยในด้านการวิจัยด้วย “กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการคุ้มครองฉลามมากกว่า 100 สายพันธุ์ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” หรือที่เรารู้จักในชื่อ ‘ไซเตส’ (CITES)

แม้ว่ากฎระเบียบทางการค้าเหล่านี้ดูเหมือนจะทำให้บุคคลทั่วไปมองว่าฉลามถูกฆ่าน้อยลง แต่ชาวประมงก็เริ่มจับฉลามมากขึ้นไปอีก เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น นักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 22 คน ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และบุคคลที่ทำงานด้านการประมงหรือบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฉลาม

“พวกเขาบอกเราว่า ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปลาฉลามมีการขยายตัว” ลัวเรนน์ ชิลเลอร์ (Laurenne Schiller) นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ทางทะเล จากมหาวิทยาลัยคาร์เลอตัน ในแคนาดา และหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “ซึ่งอาจเป็นผลเนื่องมาจากจำนวนฉลามที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากกฎเกณฑ์ต่อต้านการตัดครีบฉลาม”

แม้ครีบจะน้อยลง แต่เนื้อฉลามกลับเพิ่มขึ้น แม้จะมาจากฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ก็ตาม ซึ่งพบมากขึ้นในผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภทที่ไม่ใช่แค่ซุปหูฉลามที่ยังคงได้รับความนิยมเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในเมนูฟิชแอนด์ชิปส์ (ปลาทอดและมันฝรั่งทอด) ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ กระดูกอ่อนของฉลามและน้ำมันตับก็ยังเป็นส่วนผสมที่ถูกใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรมการแพทย์ และเครื่องสำอาง “ผลิตภัณฑ์เสริมความงามหลายชนิดมีส่วนผสมของ สควาลีน” (Squalene น้ำมันที่ช่วยเคลือบผิวให้เนียนนุ่ม และชุ่มชื้น) ชิลเลอร์กล่าว “ซึ่งโดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องได้มาจากฉลาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่จะมองหาผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้จากพืชแทน”

นักวิจัยกล่าวว่าการที่จะรักษาฉลามไว้ให้ได้นั้น การมีแค่เพียงกฎหมายต่อต้านการตัดครีบนั้นยังไม่เพียงพออย่างแน่นอน และจำเป็นต้องมีกฎระเบียบด้านการประมงที่ครอบคลุมมากขึ้น

“มี 29 ประเทศและดินแดนโพ้นทะเลที่ห้ามไม่ให้จับปลาฉลามในน่านน้ำของตนแล้ว” วอร์มกล่าว “ตัวอย่างเช่น บาฮามาสที่ชี้ว่าฉลามมีคุณค่ามากกว่าการเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังเฟื่องฟู โดยเฉลี่ยแล้ว เราเห็นว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นเครื่องมือเดียวที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น”

ตาข่ายฆ่าฉลาม

ในสถานที่ซึ่งผู้คนต้องพึ่งพาการประมงเพื่อการดำรงชีวิตหรือการยังชีพ การห้ามอาจไม่เหมาะสม แต่การรักษาการประมงให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาจำนวนประชากรฉลามในธรรมชาติ

“แน่นอนว่ารวมถึงขีดจำกัดการจับฉลามตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย” ชิลเลอร์บอก “แต่ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนยังบอกเราเกี่ยวกับอันตรายที่มาจากอุปกรณ์ตกปลาอื่น ๆ เช่นอวน” กำแพงตาข่ายที่แขวนในแนวตั้งใต้น้ำได้ถูกออกแบบมาให้เกี่ยวกับเหงือกปลา และมักจะไปพันสัตว์ทุกตัวที่ใหญ่เกินกว่าจะลอดตาข่ายได้

“การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกใช้กันทั่วไปในสถานที่ที่เราระบุว่าเป็นจุดที่มีอัตราการตายสูง ดังนั้นควรยุติกระบวนการเหล่านี้และสนับสนุนให้มีแนวทางปฏิบัติทางเลือกมากขึ้นในประเทศต่าง ๆ อย่างอินโดนีเซีย บราซิล มอริเตเนีย หรือเม็กซิโก อาจมีผลกระทบอย่างมาก” ชิลเลอร์เสริม

“เรารู้ว่าประชากรฉลามอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากการประมงในมหาสมุทรส่วนใหญ่ของโลก” คอลิน ชิมเฟนเดอร์เฟอร์ (Colin Simpfendorfer) นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกในออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าว

แม้ว่ากฎข้อบังคับการประมงไม่ได้ทำให้ฉลามตายน้อยลง แต่ ชิมเฟนเดอร์เฟอร์ ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ร่างมาเพื่อลดจำนวนการจับ แต่เพื่อป้องกันความทุกข์ทรมานของฉลามที่ถูกตัดไปแค่ครีบของมัน

หากไม่มีความพยายามมากขึ้นเพื่อการปกป้องฉลาม อย่างน้อย 1 ใน 3 ของสายพันธุ์จะกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และอีกหลายชนิดก็กำลังประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงอยู่

“ผมมีเพื่อนร่วมงานหลายคนที่เป็นนักสมุทรศาสตร์ และพวกเขาบอกผมว่าในช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 มักจะมีฉลามติดตามเรืออยู่เสมอ เพราะเศษอาหารในห้องครัวของเรือถูกโยนลงน้ำ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นฉลามครีบขาวในมหาสมุทร ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่กลับใกล้สูญพันธุ์ในปัจจุบันและแทบไม่เคยเห็นเลย” วอร์มกล่าว

“ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนในชีวิต นั่นคือตอนที่คุณรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติกับวิธีที่เราปฏิบัติต่อพวกเขา เราควรแก้ไขปัญหานั้น และเราสามารถทำได้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.science.org/doi/10.1126/science.adf8984

https://www.nationalgeographic.com/animals/article/sharks-killed-at-high-rates-despite-bans-on-finning

https://www.livescience.com/animals/sharks/humans-now-kill-80-million-sharks-per-year-25-million-of-which-are-threatened-species


อ่านเพิ่มเติม ฉลามและปลากระเบนทั่วโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.