ในวันฟ้าโปร่งและอากาศร้อนวันหนึ่งของเดือนตุลาคมในเขตเทือกเขาของรัฐเท็กซัส อันเดร กรีน ที่สอง ใช้กระดาษทรายปัดตัว ผีเสื้อจักรพรรดิ อย่างเบามือ เขาก้มตัวเหนือโต๊ะทำงานชั่วคราว ปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หนีบปีกสีสันสดใสของผีเสื้อตัวนั้นไว้อย่างชำนิชำนาญ พลางใช้เศษกระดาษทรายลูบบริเวณส่วนอกของมันเพื่อกำจัดขนเส้นเล็กจิ๋วสองสามเส้นออกไป
กรีนกับเพื่อนนักวิจัยสร้างห้องทำงานชั่วคราวขึ้นในกระท่อมล่าสัตว์เอกชนหลังหนึ่งที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ ภายในมีหัวสตัฟฟ์ของสัตว์พื้นถิ่นและต่างถิ่นเรียงรายอยู่บนผนัง แต่กรีน อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จดจ้องอยู่แต่กับผีเสื้อจักรพรรดิ หรือผีเสื้อโมนาร์กกว่าสามสิบตัวที่เขาจับมาก่อนหน้าในวันนั้น เขาแต้มกาวอิพ็อกซีระหว่างปีกผีเสื้อในมือ ก่อนติดเซนเซอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ หรือชิปคอมพิวเตอร์ชุดหนึ่งที่ได้พลังงานจากแผงเซลล์สุริยะขนาดเล็กจิ๋ว
กรีนกับเพื่อนร่วมงานคาดหวังว่า ผีเสื้อจักรพรรดิตัวนี้และเพื่อนพ้องของมันจะนำเซนเซอร์ติดตัวไปยังเทือกเขาทางตอนกลางของเม็กซิโก ซึ่งอยู่ห่างลงไปทางใต้ 1,300 กิโลเมตร ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า นักวิจัยจะตามผีเสื้อจักรพรรดิไปเม็กซิโกและพยายามจับสัญญาณที่ส่งออกมาจากสายอากาศของเซนเซอร์ ถ้าพวกเขาจับผีเสื้อติดเซนเซอร์เหล่านี้ได้สักตัวหรือมากกว่านั้น ซึ่งยากจะเป็นไปได้ นักวิจัยจะเข้าถึงข้อมูลแสงและอุณหภูมิที่เซนเซอร์บันทึกไว้ระหว่างทาง ซึ่งเอื้อให้พวกเขาทำแผนที่เส้นทางของผีเสื้อแต่ละตัวได้
เช่นเดียวกับโครงการวิจัยผีเสื้อจักรพรรดิอื่นๆ โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร เพื่อนร่วมงานของกรีนตระหนักว่า คนขี่จักรยานในอัตราเร็วใกล้เคียงกับการบินของผีเสื้อจักรพรรดิ จึงขอให้นักปั่นช่วยทดสอบความแม่นยำของเซนเซอร์ด้วยการนำติดตัวไปปั่นด้วยคราวละหลายๆวัน ขณะที่กรีนทำการทดลองในห้องปฏิบัติการจนมั่นใจว่าเซนเซอร์ไม่ส่งผลต่อการบิน ตอนนี้ เทคโนโลยีใหม่นี้กำลังจะเริ่มการทดสอบในสถานการณ์จริงเป็นครั้งแรก
เมื่อติดตั้งเซนเซอร์แล้วเสร็จ กรีนก็เอนหลังบนเก้าอี้นวม สำรวจผีเสื้อในกรงตาข่ายที่อยู่ตรงหน้า “ปีนี้ ขอแค่จับสัญญาณใดๆในเม็กซิโกได้ เราก็มีความสุขแล้วครับ” เขาบอก การเก็บข้อมูลที่มีความหมายอาจต้องใช้เวลาลองผิด ลองถูกอีกหลายฤดูกาลจากนี้ แต่กรีนมีความอดทน
เมื่ออากาศเย็นลง กรีนก็ยกกรงผีเสื้อออกไปข้างนอก ค่อยๆ ลงเนินไปยังดงต้นพีแคนใต้ที่พัก ที่นั่น ข้างๆ ลำธาร ผีเสื้อจักรพรรดิอพยพหลายร้อยตัวบินว่อนอยู่กลางแดดยามเย็น กรีนจับผีเสื้อที่ติดเซนเซอร์แล้วออกมาทีละตัว ค่อยๆ วางพวกมันบนกิ่งไม้เตี้ยๆ เช้าวันพรุ่งนี้ หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี พวกมันจะเดินทางลงใต้ต่อไป
ระบบหรือรูปแบบที่ทำให้กรีนทึ่งเหลือเกินนี้คือการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ระดับมหากาพย์และอันตรายที่สุดในโลก การเดินทางหนึ่ง แม้ผีเสื้อจักรพรรดิจะพบได้ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาใต้ แคริบเบียน ออสเตรเลีย ยุโรป และที่อื่นๆ ผีเสื้อจักรพรรดิอเมริกาเหนือกลับต่างออกไป โดยมีการอพยพตามฤดูกาลอันทะเยอทะยานเป็นพิเศษ ทุกปีในฤดูใบไม้ร่วง ผีเสื้อจักรพรรดิทางตอนใต้ของแคนาดาและตอนเหนือของสหรัฐฯจะบินลงใต้ รับไม้ผลัดแรกของเส้นทางอพยพ 5,000 กิโลเมตรที่มีเพียงบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆของพวกมันเท่านั้นที่ล่วงรู้ ผีเสื้อที่เหลือรอดจะรวมตัวกันอีกครั้งทางตอนกลางของเม็กซิโก โดยใช้เวลาช่วงฤดูหนาวในดงสนโอยาเมลเดิมที่ปู่ย่าตาทวดของพวกมันเคยพักอยู่เมื่อปีก่อนหน้า
แม้จะมีการศึกษามาหลายสิบปี การอพยพประจำปีที่ยาวไกลเป็นพิเศษนี้และการอพยพที่สั้นกว่าเลียบไปตามชายฝั่งแปซิฟิกของประชากรผีเสื้อจักรพรรดิในแถบตะวันตกของทวีป ก็ยังเป็นที่เข้าใจเพียงบางส่วนและยิ่งเผชิญ ความเสี่ยงมากกว่าที่เคยเป็นมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นอาศัยทำให้ผีเสื้อจักรพรรดิ ที่ใช้เส้นทางอพยพทั้งสองเส้นทาง เผชิญปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วและการขาดแคลนแหล่งน้ำต้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน ต้นมิลก์วีดหรือไม้ล้มลุกที่มีน้ำยางสีขาว ซึ่งผีเสื้อจักรพรรดิต้องใช้วางไข่และเลี้ยงหนอนผีเสื้อ ยังคงขาดแคลนในระดับวิกฤติ ส่งผลให้จำนวนผีเสื้อจักรพรรดิโดยรวมลดลง
ผีเสื้อจักรพรรดิอเมริกาเหนือมีอนาคตมืดมนจนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) จัดให้ประชากรทั้งสองกลุ่มอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้ สูญพันธุ์ และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มชื่อในรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐฯ คนที่เฝ้ามองประชากรผีเสื้อจักรพรรดิลดจำนวนลงคาดหวังว่า สถานะใหม่จะนำไปสู่การลงมือทำในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน
เฟรด เออร์คาร์ต นักสัตววิทยาชาวแคนาดา กับภรรยา นอราห์ ก่อตั้งสมาคมการอพยพของแมลง (Insect Migration Association) ในทศวรรษ 1950 และเริ่มขนบอันยาวนานของการให้สาธารณชนเข้าร่วมงานวิจัยผีเสื้อจักรพรรดิ ตลอดหลายสิบปีนับจากนั้น สมาคมระดมอาสาสมัครราว 3,000 คนเพื่อจับผีเสื้อและติดฉลากเล็กๆ ที่เขียนว่า “ส่งคืนคณะสัตววิทยา มหาวิทยาลัยโทรอนโต แคนาดา” สามีภรรยาเออร์คาร์ตสันนิษฐานว่า ผีเสื้อจักรพรรดิใช้เวลาช่วงฤดูหนาวในเม็กซิโก แต่ไม่รู้ว่าที่ใด เมื่อทั้งคู่ประกาศหาอาสาสมัครในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเม็กซิโกซิตี ในปี 1973 เคนเน็ท บรักเกอร์ ชาวอเมริกันที่ย้ายไปทำงานที่นั่น ก็ตอบรับ แคที ภรรยาของบรักเกอร์ ซึ่งตอนนี้คือ กาตาลินา อากัวโด เทรล ยินดีช่วยหาถิ่นอาศัยฤดูหนาวของผีเสื้อจักรพรรดิ
ตลอดสองปี โดยตอนแรกอาศัยช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนจะกลายเป็นเต็มเวลาในเวลาต่อมา ทั้งคู่เดินเท้าและ ขี่จักรยานยนต์ข้ามเทือกเขาตอนกลางของเม็กซิโก บ่ายวันที่ 2 มกราคม ปี 1975 ขณะปีนยอดภูเขาไฟเซร์โรเปลอน เทรลก็เงยหน้าขึ้นไปมองบนต้นสนและชะงักค้าง ลำต้นและกิ่งก้านเหนือตัวเธอล้วนปกคลุมไปด้วยผีเสื้อจักรพรรดิ หลายพันตัว อัดกันแน่นจนปีกของพวกมันก่ายเกยกัน เมื่อบรักเกอร์ตามไปถึง ทั้งคู่ก็ยืนอึ้งตะลึงงัน
ความยินดีปรีดาของเทรลกับบรักเกอร์กลายเป็นความวิตกกังวลในไม่ช้า ถิ่นอาศัยช่วงฤดูหนาวของผีเสื้อจักรพรรดิในเม็กซิโกเกือบจำกัดเฉพาะดงสนโอยาเมลเล็กๆบนเขาสูง ซึ่งมีอยู่แค่ราว 10 แห่งในพื้นที่ 562 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ในทศวรรษ 1970 ชุมชนท้องถิ่นที่ถือครองสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์จากป่าดำรงชีวิตด้วยการ ตัดไม้ และเรือนยอดไม้ไม่ผลัดใบที่ปกป้องผีเสื้อจักรพรรดิจากอากาศอันหนาวเย็นก็หดหายอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่สนใจใคร่รู้อาจทำให้ถิ่นอาศัยเสียหายหนักขึ้นไปอีก
เมื่อข่าวแพร่ออกไป นักท่องเที่ยวก็มายังเขตเทือกเขาเพื่อชมผีเสื้อจักรพรรดิจริงๆ แต่ข่าวกระตุ้นให้เกิดมาตรการต่างๆ ด้วย ไอยูซีเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลเม็กซิโกปกป้องป่าสนโอยาเมล รัฐบาลประกาศตั้งเขตสงวนแห่งชาติและสั่งห้ามหรือจำกัดการตัดไม้ในป่าสนที่เป็นถิ่นอาศัยฤดูหนาวของผีเสื้อห้าแห่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1986 แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชุมชนท้องถิ่นคาดหวังกลับเอาแน่เอานอนไม่ได้ และการตัดไม้ก็ดำเนินต่อไป
ในปี 2000 หลังการถกเถียงยาวนานและบางครั้งก็เผ็ดร้อนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และตัวแทนชุมชน เขตสงวนขยายตัวขึ้นสามเท่าจนครอบคลุมถิ่นอาศัยฤดูหนาวส่วนใหญ่เท่าที่ทราบของผีเสื้อจักรพรรดิ กองทุนผีเสื้อจักรพรรดิ (The Monarch Fund) ที่รัฐบาลเม็กซิโกบริหารจัดการโดยมีกลุ่มอนุรักษ์ระหว่างประเทศให้ การสนับสนุน เริ่มจ่ายเงินก้อนเล็กๆแต่ต่อเนื่องให้ชาวบ้านที่ถือสิทธิทำกินในเขตสงวน
เช้าตรู่วันหนึ่งของเดือนธันวาคม ปี 2022 ฉันตามอันเดร กรีน และทีมงานของเขาไปตามเส้นทางแคบๆ เข้าสู่เขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อจักรพรรดิเซียร์ราชินกัวทางตอนกลางของเม็กซิโก แวบแรกที่เห็น ฉันคิดว่าต้นไม้ผอมสูงรอบตัว ปกคลุมด้วยใบไม้สีสนิม แต่เมื่อตาและสมองปรับตัวได้ ฉันก็ตระหนักว่า สนทุกต้นที่เห็นล้วนมีผีเสื้อเกาะนิ่งอยู่ หุบปีกอวดลายสีจางใต้ปีก แมลงที่เกาะซ้อนทับกันนี้มีน้ำหนักมากพอจะทำให้กิ่งไม้ที่แข็งแกร่งที่สุดโค้งงอลงได้
ขณะที่การต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นอาศัยฤดูหนาวของผีเสื้อจักรพรรดิเปิดฉากขึ้นในทศวรรษ 1990 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นศตวรรษนี้ นักวิทยาศาสตร์จากเม็กซิโกถึงแคนาดาพยายามทำความเข้าใจการอพยพประจำปีอันน่าทึ่งของพวกมัน ลิงคอล์น เบราเวอร์ นักวิจัยผีเสื้อจักรพรรดิผู้คร่ำหวอด กับเพื่อนร่วมงานพบว่า ขณะที่ผีเสื้อจักรพรรดิที่ใช้เวลาช่วง ฤดูหนาวในเม็กซิโกและเดินทางขึ้นเหนือในฤดูใบไม้ผลิ ไปไม่ถึงจุดหมาย แต่จะหยุดวางไข่ทางตอนเหนือของเม็กซิโกและทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เมื่อลูกผีเสื้อรุ่นนี้โตเต็มวัย พวกมันจะมุ่งหน้าต่อไปยังตอนเหนือของสหรัฐฯและทางตอนใต้ของแคนาดา โดยวางไข่ระหว่างทางเช่นกัน ในช่วงฤดูร้อน จะมีผีเสื้ออีกสองหรือสามชั่วรุ่นเกิดขึ้น และผีเสื้อรุ่นสุดท้ายจะไม่สืบพันธุ์ทันทีเหมือนผีเสื้อรุ่นก่อนๆ แต่จะเข้าสู่ภาวะพักการเจริญ (diapause) เมื่อวันเริ่มสั้นลงและเย็นขึ้น ผีเสื้อวัยรุ่นที่อายุมากขึ้นเหล่านี้จะมุ่งหน้าลงใต้ บินกลับเม็กซิโกในชั่วรุ่นเดียว
เนื่องจากผีเสื้อจักรพรรดิที่มุ่งหน้าไปเม็กซิโกเหล่านี้ไม่อาจถามทางไปถิ่นอาศัยฤดูหนาวจากบรรพบุรุษของ มันได้ นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าพวกมันต้องรู้ทิศทาง และการศึกษาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้งก็เผยให้นักวิจัยทราบว่า ผีเสื้อจักรพรรดิมีเข็มทิศสองอันอยู่ในตัว นั่นคือระบบหลักที่ใช้ดวงอาทิตย์และระบบสำรองที่ใช้สนามแม่เหล็กโลก
ในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 คริสติน เมอร์ลิน นักชีววิทยา กับเพื่อนร่วมงานพบว่า ผีเสื้อจักรพรรดิใช้นาฬิกาชีวภาพในหนวดของมันปรับแก้การอ่านค่าเข็มทิศจากดวงอาทิตย์เพื่อดูการหมุนของโลกในแต่ละวัน ระบบ อันซับซ้อนนี้เอื้อให้ผีเสื้อจักรพรรดิมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้ก็จริง แต่กลับไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลที่ทำให้พวกมันไปถึงถิ่นอาศัยฤดูหนาวเดิมได้อย่างเที่ยงตรงปีแล้วปีเล่า
“มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อัศจรรย์อย่างยิ่งเลยครับ และการทำความเข้าใจว่า มันสามารถทำสิ่งที่มันทำอยู่ได้อย่างไร จะเอื้อให้เราเข้าใจโลกชีววิทยาได้ดีขึ้นเล็กน้อย” กรีนบอก
เรื่อง มิเชลล์ ไนฮัส
ภาพถ่าย ไฆเม โรโฆ
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี ปกป้องผีเสื้อจักรพรรดิ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนมกราคม 2567
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/598788