มีฉากธรรมชาติบนภาพศิลปะมากมายที่เต็มไปด้วยกวางตัวผู้ที่มีเขาขนาดใหญ่ที่โค้งงอสวยงาม หรือไม่ก็เขากวางมูสมหึมายาวเกือบ 2 เมตรเมื่อมันโตเต็มที่ สัญลักษณ์อันสง่างามของเพศผู้นี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ และมนุษย์ก็ชื่นชอบมาอย่างยาวนานเช่นกัน แต่ความหลงใหลในธรรมชาติของเขา นอ หรืองา อาจทำให้เรามองไม่เห็นความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นใน ตัวเมีย ได้
ในการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Behavioral Ecology and Sociobiology’ ได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานชิ้นแรกว่า ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวผู้พัฒนาอาวุธให้ใหญ่ขึ้นสำหรับการต่อสู้ และเพื่อส่งสัญญาณความพร้อมในการผสมพันธุ์ของพวกมันออกมา
แต่ตัวเมียที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกันเหล่านี้ก็มีสมองใหญ่ขึ้นกว่าใคร ๆ คาดไว้ “ฉันคิดว่าชีววิทยาที่สำคัญของตัวเมียมักถูกมองข้าม” นิโคล โลเปซ (Nicole Lopez) นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยมอนทานา และผู้เขียนงานวิจัยหลัก กล่าว “เพราะว่าปกติแล้วพวกมันจะดูจืดชืด น่าเบื่อ หรือไม่ก็ไม่ซับซ้อนเท่า (เหมือนตัวผู้)”
ข่าวดีสำหรับเพศผู้ตัวใหญ่ทุกตัวก็คือ งานวิจัยไม่ได้ระบุว่าอาวุธที่ใหญ่ขึ้น ไม่ได้หมายถึงปัญญาที่ต่ำแต่อย่างใด “ไม่ใช่ว่าหากตัวผู้ลงทุนกับอาวุธ (ในที่นี้คือกล้ามเนื้อ) มากขึ้น พวกเขาจะโง่ขึ้น” เท็ด สตานโควิช (Ted Stankovich) นักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมเชิงวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนียลองบีช กล่าว
แต่ขนาดสมองของตัวผู้ดูเหมือนจะคงเดิม แม้ว่าวิวัฒนาการจะสร้างกะโหลกที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าตัวเมียจะเททรัพยากรไปลงที่ขนาดของสมอง สตานโควิชกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าลักษณะทั้ง 2 นี้เชื่อมโยงกันโดยตรงหรือไม่ แต่ในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันจริง ๆ
เพื่อรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน สตานโควิช, โลเปซ และโจนาธาร มัวร์ ทูปาซ (Jonathon Moore Tupas) ผู้เชียนงานวิจัยร่วม ได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ 7 แห่งเพื่อวัดกะโหลกศีรษะ ปริมาตรสมอง และขนาดอาวุธในตัวอย่างกว่า 413 ชิ้นจากสัตว์กีบเท้า 29 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงทุกอย่างตั้งแต่กวาง เรนเดียร์ มูส ไปจนถึงแพะ แกะ และละมั่ง
“ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ตัวอย่างมามากกว่า 400 ตัวอย่าง” โลเปซบอก และพวกเขากำลังพยายามหาคำตอบถึงสาเหตุว่าทำไมตัวเมียต้องเพิ่มสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวผู้และอาวุธของพวกเขา
“สิ่งที่เราคิดว่ากำลังเกิดขึ้นก็คือตัวผู้ลงทุนในอาวุธมากขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาส่งสัญญาณที่สำคัญมากขึ้นสำหรับตัวเมีย และบางทีระบบสังคมอาจจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อถึงจุดนั้นเช่นกัน” สตานโควิช บอก “และบางทีตัวเมียอาจต้องการสมองที่ใหญ่กว่าเพื่อที่จะรู้ได้ว่าควรจับคู่กับใคร และจะนำทางระบบสังคมของพวกเขาอย่างไร”
อัมเม็ท โซมจี (Ummat Somjee) นักชีววิทยาเชิงวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน และสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนในปานามากล่าวว่า ข้อจำกัดหลายประการในการศึกษานี้ เช่น ขนาดสมองที่ไม่ได้แปลว่าเป็นความฉลามเสมอไป ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น จะต้องศึกษาพฤติกรรมสัตว์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก
กระนั้น เขาก็ชื่นชมทีมวิจัยที่พยายามตรวจสอบตัวอย่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาทำได้ แม้ 29 สายพันธุ์จะเป็นตัวแทนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของสัตว์กีบเท้าที่มีเขาบนโลก ใครจะรู้ว่ารูปแบบนี้อาจเปลี่ยนไปก็ได้ หากได้ประเมินสัตว์ที่ไม่ใช่กีบเท้า แต่เป็นงา (ช้าง) หรือนอ (แรด) แทน
ทว่า “แนวคิดนี้ก็น่าสนใจอย่างยิ่งและอาจมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” โซมจี กล่าว
โซมจีกล่าวว่า ในบางแง่ก็ไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์ต่างยึดติดกับอาวุธของสัตว์ เพราะท้ายที่สุดแล้วการที่โครงสร้างต่าง ๆ เหล่านี้พัฒนาขึ้นมาก็เพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น ร่างกายของกวางมูส หรือกวางเอลค์ จะเกิดภาวะกระดูกพรุนชั่วคราวในแต่ละปี เนื่องจากพวกมันต้องแบ่งสารอาหารจากโครงกระดูกของมันเองเพื่อไปสร้างเป็นเขากวาง
“มันเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่น่าทึ่งมาก มันแปลก และก็แปลกจริง ๆ” โซมจีกล่าวถึงการเจริญเติบโตและการสูญเสียของเขขากวาง “แต่ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยไปคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเมียก็น่าทึ่งมากเช่นกัน”
ตัวอย่างเช่น เพศเมียเปลี่ยนแคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารอาหารอื่น ๆ จำนวนมากออกจากร่างกายเพื่อสร้างลูกหลานทั้งหมดภายในมดลูก และแน่นอนว่าเนื้อเยื่อใด ๆ ที่สร้างเขากวาง นอ หรืองา ต่างล้วนถูกสร้างขึ้นครั้งแรกจากตัวเมียเหล่านั้น
ในส่วนของโลเปซ เธอชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ระหว่างเพศชายเพื่อทำความเข้าใจการคัดเลือกเพศที่เกิดขึ้นภายในสายพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้ว มันก็นำไปสู่เรื่องราวที่แพร่หลายซึ่งมีมาอย่างยาวนานว่า ตัวผู้ที่ตัวใหญ่ที่สุดและติดอาวุธหนักที่สุดจะได้ตัวเมียมา
“แต่อาจเป็นได้ว่าเราไม่ได้ทดสอบด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า [ตัวเมีย] มีการตัดสินใจบางอย่างกับตัวผู้ที่พวกเขาลงเอยด้วยการผสมพันธุ์” โลเปซกล่าว (ในบริบทนี้โลเปซกล่าวถึงตัวเมียอาจไม่ได้สนใจแค่เขาของตัวผู้เท่านั้น อาจมีอะไรอย่างอื่นที่ยังไม่รู้)
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/premium/article/female-male-animals-brain-brawn-evolution