แรดขาวเหนือ 2 ตัวสุดท้ายยังมีความหวัง นักวิทยาศาสตร์ ผสมเทียม และย้ายตัวอ่อนให้เกิดการตั้งครรภ์สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก แม้กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นทั่วไปในมนุษย์ ทว่าความสำเร็จนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในแรด มันจึงเป็นความหวังใหม่เพื่อช่วยไม่ให้แรดขาวเหนือ 2 ตัวสุดท้ายของโลกต้องสูญพันธุ์ไปตลอดกาล
นักวิทยาศาสตร์ได้ก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญหลังจากพยายามมาหลายปี โดยรายละเอียดจะเผยแพร่ในรายงานที่จะออกมาในภายหลังมา และกระบวนการเหล่านี้ได้รับการบันทึกโดย ‘เนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก’ ในรายการพิเศษที่มีกำหนดออกอากาศผ่านทาง ‘Nat Geo’ และ ‘ดิสนีย์พลัส’ ในปี 2025
แจน สเตจกาล (Jan Stejskal) จากโครงการ ‘BioRescue’ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เป็นผู้นำทีมปฏิบัติการณ์ครั้งนี้กล่าวว่า ความก้าวหน้าครั้งนี้้ถือเป็น ‘ข้อพิสูจน์’ ถึงแนวคิดนี้ว่าสามารถช่วยเหลือแรดสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
แม้เคอร์ร่า (Curra) แรดขาวใต้ (Southern white rhino) แม่แรดที่อุ้มบุญจะเสียชีวิตหลัง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ทั้งหมด 16 เดือนจากการติดเชื้อของแบคทีเรียที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ แต่ตัวอ่อนที่เป็นแรดขาวใต้จากการผสมเทียมยังคงมีพัฒนาการที่ดีจนสิ้นสุดระยะเวลา ความสำเร็จครั้งนี้ได้เปิดทางสว่างให้กับแรดขาวเหนือ (Northern white rhino)
BioRescue คาดว่าจะปลูกถ่ายเอ็มบริโอ (ตัวอ่อน) ที่เป็นแรดขาวเหนือให้กับแม่แรดขาวใต้ได้ในเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทั้งสองเป็นสปีชีย์ย่อย (Subspecies) ของแรดขาว จึงมีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง จนเชื่อว่าเพียงพอที่จะทำให้เอ็มบริโอมีแนวโน้มที่จะพัฒนา
ขณะเดียวกัน แนวทางนี้ก็อาจช่วยเหลือแรดสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงแรดชวาเอเชียและแรดสุมาตราที่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 100 ตัวแล้ว แต่สถานการณ์ของแรดขาวเหนือเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด พวกมันไม่มีตัวผู้เหลือแล้วหลังจากสูญเสียตัวผู้สุดท้ายไปในปี 2018
และในตอนนี้ก็เหลือเพียงตัวเมีย 2 ตัวสุดท้ายในโลกที่ชื่อว่า ‘นาจิน’ และ ‘ฟาตู’ ที่อยู่ภายใต้ความดูแลติดอาวุธตลอด 24 ชั่วโมงในเขตสวงนพื้นที่ 700 เอเคอร์ (1,771 ไร่) ในประเทศเคนยาที่ชื่อว่า ‘Ol Pejeta Conservancy’
สัตว์ยักษ์เหล่านี้เคยสัญจรไปทั่วแอฟริกากลาง แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของพวกมันลดลงเนื่องจากนักลักลอบล่าสัตว์ที่ตัดเอานอของแรดเหล่านี้แล้วทิ้งไว้ให้ตาย จากนั้นก็ชิ้นส่วนของแรดในตลาดมืดเพื่อตสนอบความต้องการโดยเฉพาะในแถบเอเชียด้วยความเชื่อที่ว่านอแรดจะช่วยรักษาโรคได้ น่าเศร้าที่แรดขาวเหนือได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ
แรดเหล่านี้ “ดูเหมือนสิ่งที่อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พวกมันมีชีวิตรอดมาหลายล้านปี แต่กระนั้นพวกมันก็ไม่สามารถรอดจากเรา (มนุษย์) ได้” เอมี วิตาเล (Ami Vitale) นักสำรวจและช่างภาพของเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก ผู้บันทึกภาพสัตว์เหล่านี้และความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2009 กล่าว
“หากยังมีความหวังในการฟื้นตัวภายในกลุ่มยีนของแรดขาว แม้ว่าจะเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสิ่งที่มีอยู่ เราก็ไม่ได้สูญเสียพวกมันไป” เดวิด บัลโฟร์ (David Balfour) นักนิเวศวิทยาด้านการอนุรักษ์ซึ่งเป็นประธานองค์การนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแรดแอฟริกากล่าว
เพื่อป้องกันการหายไปตลอดกาลของสายพันธุ์นี้ BioRescue กล่าวว่าได้เก็บรักษาสเปิร์มจากแรดขาวเหนือตัวผู้และไข่จากตัวเมียก่อนหน้ารวมถึงตัวเมียทั้งสองตัวที่เหลืออยู่ ซึ่งโทมัส ไฮล์เดอบรานด์ (Thomas Hildebrandt) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ BioRescue และผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบพันธุ์ของสัตว์ป่าจากสถาบันวิจัยสวนสัตว์และสัตว์ป่าไลบ์นิซ ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่าสามารถสร้างเอ็มบริโอได้ประมาณ 30 ตัว
โดยมีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่คือต้องการนำแรดขาวเหนือกลับคืนสู่ธรรมชาติภายในประเทศที่พวกมันเคยอาศัยอยู่ “นั่นคงจะวิเศษมาก แต่จริง ๆ แล้วยังมีหนทางอีกยาวไกลจากนี้มาก ในทศวรรษต่อจากนี้”
ปัจจุบันทั่วโลกมีแรดอยู่ทั้งหมด 5 สายพันธุ์ และต่างก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยทั่วแอฟริกามีสัตว์เหล่านี้เพียง 23,000 ตัวโดยกว่า 17,000 ตัวเป็นแรดขาวใต้ และยังมีแรดดำอยู่ราว 6,000 ตัวซึ่งมี 3 ชนิดย่อยที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ขณะที่เอเชียมีแรดชวาและแรดสุมาตราที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่แรดเขาเดียวที่ใหญ่กว่าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปัจจุบันคาดว่าจะมีประมาณ 2,000 ตัว
ความพยายามของ BioRescue ประสบกับความล้มเหลวมามากมาย และแม้ว่าตอนนี้ทีมจะได้แช่แข็งเอ็มบริโอแล้ว แต่นาฬิกายังคงเดินอยู่ นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจจะใช้แรดขาวใต้เป็นแม่ตั้งครรภ์แทนแรดขาวเหนือ เนื่องจากตัวเมียทั้งสองตัวที่เหลืออยู่ไม่สามารถอุ้มท้องได้ แต่ทีมงานต้องให้ลูกแรดขาวเหนือที่จะเกิดในอนาคตได้ใกล้ชิดกับสายพันธุ์ของมัน ดังนั้นจึงหมายความลูกแรดขาวเหนือจะต้องเกิดก่อนที่ทั้งสองตัวจะตาย
นาจิน ซึ่งเป็นตัวเมียที่อายุมากกว่าจะก้าวเข้าสู่ 35 ปีแล้วในปีนี้ และฟาตู ลูกสาวของนาจินก็อายุได้ 24 ปี การเลี้ยงในที่คุ้มครองเผยสัญญาณว่าพวกมันอาจมีอายุได้ประมาณ 40 ปี ดังนั้นจึงเหลือเวลาอีกไม่มากหากต้องการให้ลูกแรดตัวนี้ได้เจอคุณย่าของพวกมัน
แผนระยะต่อไปของ BioRescue คือการฝังตัวอ่อนที่เป็นแรดขาวเหนือจำนวนหนึ่งลงในแม่แรดขาวใต้ที่มีศักยภาพในการตั้งครรภ์แทนได้ ซึ่งทางกลุ่มวางแผนที่จะทำให้ได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า พวกเขาสามารถระบุแม่อุ้มบุญตัวต่อไปได้ และกำหนดมาตราการป้องกันเพื่อปกป้องมันจากการติดเชื้อ รวมถึงสถานที่ใหม่และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้
แต่มีอย่างเดียวที่ต้องรอคอยคือให้แม่อุ้มบุญถึงเวลาที่พร้อมผสมพันธุ์เพื่อที่จะฝังไข่ได้เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ ทีมงานไม่สามารถทำอัลตราซาวนด์ได้ตามปกติเหมือนที่ศูนย์อนุรักษ์อื่น ๆ ทำได้ แต่พวกเขาจะต้องเลือกแรดที่ผ่านการฆ่าเชื้อมาทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘แบบตัวอย่าง’ ไฮล์เดอบรานด์ กล่าวว่ากระบวนการนี้ต้องใช้เวลาเพิ่ม 2-3 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่าตัวผู้ที่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์เทียม (เพื่อกระตุ้นแม่อุ้มบุญคิดว่าตนท้อง) จะต้องปราศจากอสุจิตกค้างอย่างแท้จริง
เมื่อสัตว์ถูกนำมารวมกัน การมีเพศสัมพันธ์ของพวกมันจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นมาถึงแล้ว กิจกรรมทางเพศก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะมันทำให้เกิดสัญญาณกระตุ้นเป็นห่วงโซ่ของเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในร่างกายตัวเมีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการปลูกฝังตัวอ่อน
การเตรียมพร้อมจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ไมพลาดสัญญาณต่าง ๆ โดยแรดขาวเหล่านี้จะใช้เวลาการผสมพันธุ์ราว 90 นาทีต่อครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น ไฮล์เดอบรานด์ กล่าาว่าขณะที่ตัวผู้ขี่ตัวเมีย มันก็มักจะใช้ความสูงที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวเข้าถึงขนมจากพืชแสนอร่อยได้ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้สัญญาณเกิดขึ้นชัดเจนยิ่งขึ้น
เนื่องจากแรดขาวเหนือเหลืออยู่เพียง 2 ตัวเท่านั้น ความหลากหลายทางพันธูกรรมของพวกมันจึงแทบไม่มีเลย แต่ทีม BioRescue กล่าวว่าแรดขาวใต้เองก็เคยเจอสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเคยลดลงเหลือน้อยกว่า 100 ตัว และอาจถึง 20 ตัวเนื่องจากถูกล่าอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษปี 1800 ทว่าการคุ้มครองที่แข็งแรก่งก็ช่วยให้มันฟื้นตัวกลับมาจนขณะนี้มีเกือบ 17,000 ตัว
“พวกมันมีความหลากหลายที่เพียงพอต่อการรับมือกับสภาวะต่าง ๆ ได้” บัลโฟร์บอก แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่แน่ใจว่าแรดขาวใต้เหลืออยู่กี่ตัวจริง ๆ แต่พวกเขาก็แน่ใจว่าสัตว์เหล่านี้สามารถกลับมาได้จากประชากรที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ และพวกมันก็ดูมีสุขภาพที่ดี
นอกเหนือไปจากการรวบรวมเอ็มบริโอจำนวนเล็กน้อยแล้ว ทีม BioRescue ยังหวังที่จะขยายแหล่งยีนของแรดขาวเหนือโดยดึงมาจากแหล่งอื่นที่แปลกใหม่เช่น เซลล์ผิวหนังที่สกัดจากตัวอย่างเนื้อเยื่อซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในสวนสัตว์ และจะใช้เทคนิคสเต็มเซลล์เพื่อปรับโครงสร้างเซลล์เหล่านั้น เพื่อพัฒนาให้เป็นเซลล์เพศ ซึ่งสำเร็จจากงานวิจัยที่ทำในหนูทดลอง
ตามแผนของพวกเขา เซลล์เพศที่ออกแบบในห้องปฏิบัติการเหล่านั้นจะถูกรวมเข้ากับสเปิร์มและไข่ตามธรรมชาติเพื่อสร้างเอ็มบริโอ จากนั้นเอ็มบริโอจะถูกฝังเข้าไปในแม่แรดขาวที่ตั้งครรภ์แทน ในหนูทดลอง การตัดต่อพันธุกรรมในสเต็มเซลล์ใหม่ดังกล่าวทำให้เกิดลูกหลานที่มีสุขภาพดีได้ แต่แรดยังไม่เคยได้รับการศึกษาและเข้าใจอย่างดีเท่ากับหนู ทำให้งานนี้ท้าทายอย่างมาก
โครงการฟื้นฟูแรดขาวเหนือมีค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคภาครัฐและเอกชนหลายราย รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี อีกทั้งยังมีพันธมิตรอื่น ๆ ในความพยายามร่วมด้วย ได้แก่ สถาบันวิจัยสวนสัตว์และสัตว์ป่าไลบ์นิซ สวนซาฟารีของสาธารณรัฐเช็ก หน่วยงานบริการสัตว์ป่าเคนยา Ol Pejeta Conservancy และคัตสึฮิโกะ ฮายาชิ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจีโนมที่มหาวิทยาลัยโอซาก้าในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการวิจัยสเต็มเซลล์ในหนู
การใช้เทคนิคของฮายาชิอาจทำให้สัตว์มียีนแรดขาวเหนือรวมกันได้ถึง 12 ตัว ซึ่งรวมถึงไข่จากตัวเมีย 8 ตัวและน้ำอสุจิตัวผู้ 4 ตัว อีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้มีลูกแรดมากขึ้นเช่น การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแรดขาวเหนือและใต้ แต่ก็หมายความว่าลูกจะไม่ใช่แรดขาวเหนือที่บริสุทธิ์ทางพันธุกรรม
ไฮล์เดอบรานด์ ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองชนิดย่อยมีลักษณะค่อนข้างคล้ายกัน แต่ก็มีความแตกต่างทางกายภาพเล็กน้อยอย่างหูและเท้าที่มีขนมากกว่า ซึ่งเหมาะกับถิ่นอาศัยในหนองน้ำมากกว่า
การที่ยีนทั้งสองแตกต่างกันอาจให้ความสามารถในการรับมือโรคหรือประโยชน์อื่น ๆ รวมความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นในด้านพฤติกรรมและผลกระทบต่อระบบนิเวศเมื่อประชากรในพื้นที่ที่มีแรดขาวใต้หรือสัตว์ผสมพันธุ์ หากจะให้ดีที่สุดแรดขาวเหนือจำเป็นต้องมียีนของแรดขาวเหนือ
แรดขาวเหนือ “ใกล้จะสูญพันธุ์เพราะความโลภของมนุษย์เท่านั้น” สเตจกาล กล่าว “เราอยู่ในสถานการณ์ที่การช่วยเหลือพวกเขาอยู่ใกล้แค่เพียงปลายนิ้ว ดังนั้นฉันคิดว่าเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องพยายาม”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล