อยากได้ไหม “แพนด้า” มาไทย หรือเก็บเงินไว้เลี้ยงช้างดีกว่า

นายกไทย หวังขอหมีแพนด้าจากจีนเชื่อมสัมพันธ์ 50 ปี แต่หลายคนไม่เห็นด้วย ชี้นำงบประมาณไปดูแลช้างไทยดีกว่า

เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เปิดเผยหลังการหารือกับ หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า รัฐบาลไทยมีความต้องการ ‘หมีแพนด้า’ มาอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อฉลองสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี

“ถ้ายังจำกันได้ เดิมสวนสัตว์เชียงใหม่ เคยมีหมีแพนด้า แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว บังเอิญเมื่อ 2-3 วันก่อน ได้เข้าไปดูทวิตเตอร์ (หรือในชื่อ X ปัจจุบัน) เกี่ยวกับประเทศที่มีหมีแพนด้า ไล่ลงมาหลายประเทศ พบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์ ก็ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ดีสำหรับสัมพันธ์ทางด้านการทูตที่เรามีมาอย่างดีกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ขอไป และทางจีนก็ให้การสนับสนุน” นายกเศรษฐา กล่าว

ขณะเดียวกันทางนาย วุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่เองก็ได้ออกมายืนยันความพร้อมในการดูแลแพนด้า ว่าจากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ดูแล ช่วงช่วงและหลินปิง ในอดีตนั้นสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนไม่เห็นด้วยกับการนำแพนด้ากลับมาอยู่ในประเทศไทยอีกครั้ง โดยล่าสุด น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้ความเห็นว่าตนเป็นคนที่รักแพนด้าเช่นกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

“ในบรรดาคนรักแพนด้า ดิฉันนี้อันดับต้น ๆ เลย แต่เมื่อรักก็ต้องเห็นความสุขเขาเป็นหลัก ไม่ใช่ความสุขเรา เขาอยู่จีนดีแล้ว” กล่าวผ่านโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์โพสต์ของ ‘วินทร์ เลียววาริณ’ นักเขียนชื่อดัง และเสริมด้วยการให้เหตุผล 5 ประการซึ่งสรุปใจความดังนี้

1.แพนด้าอยู่จีนดีแล้ว เนื่องจากมีพื้นที่กว้างและอากาศเหมาะสม
2. ส่วนจัดแสดงของสวนสัตว์เชียงใหม่มีขนาดเล็ก และพื้นที่จำกัดอีกทั้งยังเป็นห้องแอร์ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เพียงเท่านั้นแพนด้าจะมีโอกาสออกมาสัมผัสธรรมชาติเพียงไม่เกินปีละ 1 สัปดาห์
3. ค่าเช่าแพนด้ามีราคาแพง
4. กระแสแพนด้าในไทยหมดแล้ว และ
5. กระแสช้างไทยมาแรงกว่า ควรนำเงินส่วนนั้นไปแก้ปัญหาช้างดีกว่า

โดยสรุปแล้ว แพนด้าควรเหมาะกับการอยู่ที่ประเทศจีนมากกว่า และใช้เงินเพื่อสัตว์ในบ้านเรา ซึ่งมีคนเห็นด้วยจำนวนมาก จึงต้องมีการติดตามต่อไปว่า ทางนายกจะดำเนินแผนการต่อหรือไม่

ทว่า กระแสต่อต้าน “สวนสัตว์” เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถานที่กักขังมากกว่าที่จะเป็น ‘บ้าน’ จริง ๆ แม้จะพยายามเลียนแบบธรรมชาติแค่ไหนก็ตาม แล้วบ้านที่เหมาะสมกับแพนด้าคือแบบไหนกันแน่?

แพนด้าในธรรมชาติ

ตามข้อมูลของสถาบันสวนสัตว์แห่งชาติและการอนุรักษ์ทางชีววิทยาสมิธโซเนียน ระบุเอาไว้ว่าแพนด้า หรือชื่อเต็มคือ แพนด้ายักษ์ (Giant Panda : Ailuropoda melanoleuca) นั้นมีถิ่นกำเนิดในตอนกลางของจีน โดยคาดว่าเหลืออยู่ในธรรมชาติราว ๆ 2,000 ตัวอ้างอิงจากบัญชีแดงสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List)

ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์อย่างมากของทั้งประเทศจีนเองและนานาชาติ ทำให้แพนด้ายักษ์เลื่อนสถานะจาก ‘ใกล้สูญพันธุ์’ เป็น ‘เปราะบาง’ แพนด้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรอย่าง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF (World Wide Fund for Nature)

ครั้งหนึ่ง แพนด้าเคยอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่ม แต่ด้วยการทำฟาร์ม การตัดไม้ทำลายป่า ความแห้งแล้ง และการพัฒนาอื่น ๆ จำกัดพวกมันให้อาศัยอยู่ในเทือกเขาไม่กี่แห่งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 1,524 ถึง 3,048 เมตร ในมณฑลเสฉวน ส่านซี และกานซูเท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีป่าไผ่หนาแน่น ฝนตกหนัก หมอกหนาทึบตลอดทั้งปี และอากาศหนาวเย็น

ด้วยสภาพอากาศเช่นนั้นทำให้ป่าไผ่เจริญเติบโตได้สูง หมีแพนด้าจึงปรับเปลี่ยนตัวเองให้เกินไม้ไผ่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียวจนกลายเป็นเอกลักษณ์เมื่อทุกคนนึกถึงแพนด้า ก็จะคิดถึงไม้ไผ่ขึ้นตามมาทันที ทว่าไม้ไผ่ก็ไม่ได้สารอาหารมากนัก ทำให้พวกมันต้องกินมากถึง 31-45 กิโลกรัมต่อวันจึงจะได้สารอาหารครบ และต้องใช้เวลา 10-16 ชั่วโมงต่อวันในการกิน

โดยทั่วไปแล้วแพนด้าตัวเต็มวัยมักจะอยู่โดดเดี่ยว ด้วยเหตุนี้ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้พวกมันได้รู้สึกสบายใจ และทั้งหมดนี้ต้องใช้ทรัพยากรและเงินทุนจำนวนมากในการดูแลแพนด้า

สถานะช้างไทยในธรรมชาติ

อ้างอิงจากบัญชีแดงของ IUCN ระบุเอาไว้เมื่อปี 2021 ว่าช้างไทยอยู่ในสถานะ ‘ใกล้สูญพันธุ์’ และได้รับกการคุ้มครองจากกฎหมาย ‘CITES’ ที่ไม่สามารถซื้อขายส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างได้ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากการวิจัย

ขณะที่ภายในประเทศไทยเองก็บรรจุช้างไทยเป็น ‘สัตว์สงวน’ ในพระราชบัญญัติอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าปีพ.ศ. 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และงาช้างเองก็ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 โดยห้ามฆ่า ล่า รวบรวม หรือทำซ้ำชิ้นส่วนของช้างใด ๆ ในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ปัจจุบันทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่าในตอนนี้มีประชากรช้างอยู่ในธรรมชาติประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง แม้ว่าประชากรในประเทศไทยจะมีแนวโน้มประชากรช้างป่าโดยรวมค่อนข้างคงที่ อย่างไรก็ตามการสำรวจติดตามและศึกษาประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานนั่นคือ ปัญหาคนกับช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างที่ออกมานอกเขตป่าแล้วเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ หนำซ้ำดูเหมือนว่าปัญหาจะขยายตัวมากขึ้นและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ทางภาครัฐเองจะมีโครงการจำนวนมากเช่น การฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างอย่างการสร้างแหล่งน้ำหรือปลูกพืชให้เป็นอาหาร รวมถึงไปการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทว่าก็ยังไม่มีท่าทีที่จำดีขึ้นในเร็ววัน

ด้วยปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า จำนวนเงินที่นำไปดูแลใช้จ่ายกับหมีแพนด้าอาจไม่ได้สร้างประโยชน์เท่ากับการแก้ปัญหาช้างที่เกิดขึ้นภายในประเทศอยู่ทุกวันนี้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo vector by freepik and macrovector via freepik. com 

ข้อมูลจาก

http://news.dnp.go.th/news/23197

https://humanelephantvoices.org/en/elephants-in-thailand/#:~:text=distribution%20in%20Thailand-,Conservation%20Status%20of%20Elephants%20in%20Thailand,IUCN%20Red%20List%20(2021).

https://nationalzoo.si.edu/animals/giant-panda#:~:text=Native%20Habitat,-Giant%20pandas%20live&text=Giant%20pandas%20live%20in%20broadleaf,often%20shrouded%20in%20heavy%20clouds.


อ่านเพิ่มเติม พลายศักดิ์สุรินทร์ ชีวิต ช้างไทย ในกำมือ “คนต่างแดน” ช้างทูตสันถวไมตรีมีเท่าไหร่

พลายศักดิ์สุรินทร์, ช้างไทย
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.