# ฉลองไม่ฉลาม : ตะลึง! หูฉลามที่ขายในไทยกว่า 60% มาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์

ไวล์ดเอด-ทีมนักวิจัยเผยผลวิจัยดีเอ็นเอพบหูฉลามที่ขายในไทยกว่าร้อยละ 60 มาจากฉลามที่เสี่ยงสูญพันธุ์

องค์กรไวล์เอด (WildAid) ร่วมกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ เผยผลการศึกษาดีเอ็นเอจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายในไทยพบ ชนิดพันธุ์ฉลามส่วนใหญ่ (62%) มีสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ ชวนทุกคน #ฉลองไม่ฉลาม ในทุก ๆ โอกาส

นักวิจัยสจล. ร่วมกับกรมประมงเก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด โดยผลการระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ใน ไทยโดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ ซึ่งชนิดพันธุ์ของฉลามส่วนใหญ่ (62%) ที่พบในหูฉลามที่ขายอยู่ในไทยมีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List

ฉลามหัวบาตรถูกลากขึ้นรถซาเล้ง หลังถูกประมูลเพื่อนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ฉลามชนิดนี้อยู่ในบัญชีสิ่งมีชีวิตที่ใกล้ถูกคุกคามโดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น ภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ฉลามหางจุด หรือ Spottail Shark (Carcharhinus sorrah) พบในตัวอย่างหูฉลามเป็นสัดส่วนมากที่สุด มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในระดับโลก แต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยจากการประเมินใน Thailand Red Data นอกจากนี้พบปลาฉลามหัวค้อน สองชนิดพันธุ์ คือ ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หรือ Scalloped Hammerhead Shark (Sphyrna lewini) และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ หรือ Great Hammerhead Shark (Sphyrna mokarran) ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จากการประเมินสถานภาพในระดับโลก และในไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดพันธุ์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย

งานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาที่ระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามครั้งแรกในประเทศไทย และได้รับการเผยแพร่ใน วารสาร Conservation Genetics โดยผลการศึกษาตอกย้ำว่า หูฉลามในถ้วยซุปอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ และยังสะท้อน ว่าตลาดค้าครีบฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง นอกจากนี้พบปลาฉลามที่มีสถานภาพ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในครีบที่มีขนาดเล็กซึ่งมีโอกาสเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อนอีกด้วย

ภาพ องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ประเทศไทย

“การพบชนิดพันธุ์ฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในไทย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากฉลาม โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และการพบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม ตาม IUCN Red List ในครีบขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฉลามวัยอ่อนต่อไป เนื่องจากปลาฉลามวัยอ่อนจะเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญในการฟื้นตัวของประชากรปลาฉลามในอนาคต” ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้วิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. กล่าว

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก นอกจากนี้ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยโดยองค์กรไวล์ดเอดปีพ.ศ. 2560 พบคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้ อยากลอง และค่านิยมเดิม ๆ ของการบริโภคเมนูจากฉลามในงานฉลอง

ภาพ องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ประเทศไทย

“ในช่วง 20ปี มานี้ งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าประชากรฉลามหลายชนิดลดลงอย่างมากทั่วโลกรวมถึงในไทย จากอัตราการจับและการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามที่มากเกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของประชากรพวกมันในท้องทะเล ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค สอดคล้องกับรายงานฉบับอื่นที่พูดถึงบทบาทการกระจายผลิตภัณฑ์หูฉลามของไทยในท้องตลาดในระดับสากล ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการจับฉลามมาตัดครีบเป็นๆก่อนทิ้งร่างกายที่เหลือลงทะเลจะลดน้อยลงมากแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หูฉลามจำนวนมากมาจากฉลามที่ถูกจับจากเครื่องมือประมงทั่วไปก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากถึงบทบาทของอุตสาหกรรมหูฉลามที่ส่งผลต่อประชากรปลาฉลามหลายชนิดที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์และกระทบโครงสร้างของประชากรปลาฉลามไปแล้วหลายชนิดในอดีตรอบโลก” นายศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และทีมนักวิจัย กล่าว

“ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ แถมอาจจะเป็นฉลามวัยเด็กอีกด้วย ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่า การบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด จริงๆแล้วการบริโภคที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดด้วยการหยุดบริโภคฉลามโดยเด็ดขาด” ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว

ภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

“ฉลามเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญนี้ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลาม ของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลาม ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลฉลามจากการส่งออกและนำเข้า และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฉลาม กรมประมงยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อควบคุมติดตามและตรวจสอบการค้าฉลามชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาไซเตสเพื่อการใช้ประโยชน์จากฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป“ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว

องค์กรไวล์ดเอดเตรียมดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคถึงผลกระทบจากการบริโภคเมนูจากฉลามจากผลการศึกษาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ฉลามฯ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันการอนุรักษ์ฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป

เรื่อง องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ประเทศไทย 

ผลวิจัยที่สำคัญ


อ่านเพิ่มเติม ภัยคุกคามฉลามวาฬคือเรื่องจริง

ฉลามวาฬสองตัวถูกชำแหละที่โรงงานแห่งหนึ่งในจีน (ภาพถ่ายโดย WILDLIFE RISK)
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.