เข้าสู่สัปดาห์กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่อากาศอบอ้าว และเวลาเดียวกันนี้หลายคนตั้งข้อสังเกตุถึงจำนวนแมลงเม่าซึ่งมักบินออกมารวมตัวจำนวนมากท้าทายแสงไฟในช่วงหัวค่ำ ทั้งในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น บ้านจัดสรรชานเมือง สนามกีฬากลางแจ้ง กระทั่งบริเวณห้างสรรพสินค้าที่น้อยครั้งจะเห็นการรวมตัวของสัตว์ตามธรรมชาติ
National Geographic ภาษาไทย ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฎการณ์ และสอบถามไปนักกีฏวิทยา ซึ่งได้รับคำตอบว่า เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ซึ่งมักพบในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะจากอากาศร้อนไปสู่อากาศชื้น นั่นเพราะสภาพอากาศเช่นนี้ เหมาะสมสำหรับแมลงเม่าซึ่งเป็นตัวเต็มวัยของปลวกก็จะออกมาจากรังเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์
อิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศแห้งและฝนทิ้งช่วง และในช่วงเดือนนี้หลายแห่งพบฝนตก หรือถ้ายังไม่ตกก็จะสังเกตได้ว่าอากาศเริ่มมีความชื้น ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้เป็นที่ชื่นชอบของแมลงเม่า (alates) ซึ่งเป็นวรรณะสืบพันธุ์ของปลวก ต้องการออกจากรังเพื่อบินจับคู่ผสมพันธุ์ โดยสาเหตุหลักที่มีผู้สังเกตได้มากในขณะนี้น่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1.ความชื้นอยู่ในสภาพที่เหมาะสม กระตุ้นให้แมลงเม่าบินขึ้นจากรังใต้ดิน 2.จำนวนประชากรในรังปลวกมีจำนวนมากขึ้นอาหารน้อยลง นางพญาปลวกจะควบคุมประชากรโดยการปล่อยฟีโรโมนส่งสัญญาณให้วรรณะสืบพันธุ์รองพัฒนาเป็นแมลงเม่าตัวเต็มวัยพร้อมที่จะออกจากรังไปจับคู่ผสมพันธุ์และสร้างรังใหม่ ทิ้งไว้แต่นางพญา (queen) ราชา (king) ปลวกงาน (workers) และปลวกทหาร (soldier) ให้อยู่เฝ้ารังไว้เช่นเดิม
“ถามว่าขณะนี้มันเยอะขึ้นกว่าเดิมไหม ก็คงตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยมีงานวิจัย หรือการสำรวนจำนวนที่แน่ชัด เป็นเพียงความรู้สึก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องธรรมดาตามวงจรธรรมชาติ”
แมลงเม่าที่บินออกมา มักจะเป็นแมลงเม่าที่เป็นตัวเต็มวัย เตรียมจะไปเป็นนางพญาหรือราชาปลวก พวกมันบินขึ้นมาเพื่อ จับคู่ผสมพันธุ์ตามแสงไฟ เสร็จแล้วก็จะสลัดปีก แล้วมุดเข้าไปวางไข่ตามที่ต่างๆ เช่น ใต้ดิน บริเวณซอกหลืบที่มีความชื้นเหมาะสม จากนั้นก็จะสร้างรังใหม่ใต้ดิน วงจรเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่ช่วง18.00 น. ไล่ไปจนถึงประมาณ 21.00 น. หลังจากนั้นประชากรมันจะน้อยลง บ้างก็ได้คู่แล้ว สลัดปีก กลับเข้ารังไปหมด บ้างก็ปีกหลุดและตายไป
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของแมลงเม่าคือเรื่องปกติในวงจรของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และเท่าที่สังเกตแมลงเม่าที่ออกมาในช่วงนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มาจาก ปลวกไม้แห้ง ซึ่งคือ ปลวกกินไม้ ที่ชอบแทะหรือกิน ไม้แห้ง ซึ่งมักจะชอบออกมาในช่วงต้นปีตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงมีนาคม ส่วนจำนวนที่พบมากในสัปดาห์นี้ น่าจะมาจากฝนที่ทิ้งช่วงนาน ซึ่งเมื่ออากาศชื้น ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้ปลวกบินขึ้นมาเป็นแมลงเม่า
“ในความเห็นของผม ยังไม่มีอะไรที่ผิดปกตินะ แม้สถานการณ์ Climate Change จะเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของสัตว์ แมลง ให้ออกมาช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงได้ คาดการณ์ได้แค่ว่าอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง และมีความชื้นมากในช่วงสัปดาห์นี้”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำอันตรายใดๆ ให้แก่มนุษย์ เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มแมลงที่สร้างความรำคาญเท่านั้น ข้อแนะนำมีเพียงปิดไฟ และปิดประตูหน้าต่างบริเวณบ้านในช่วงหัวค่ำ ส่วนกรณีข้อสังเกตว่าบริเวณใดมีแมลงเม่าจำนวนมากหมายความถึงการทีปลวกจำนวนมากเช่นกันนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับว่าแมลงเม่าที่บินขึ้นมานั้นผสมพันธุ์กันแล้วสร้างรังใหม่ได้หรือไม่