เรื่อง อเล็กซา คีฟ
ภาพถ่าย บริทธา ยาสชินสกี
ที่รองเท้าสองอันซึ่งทำมาจากเท้าของช้าง, เสื้อโค้ทจากขนเสือดาวที่เข้าชุดกันพอดีกับรองเท้าและกระเป๋า, ลังไม้บรรจุถุงที่ภายในอัดแน่นไปด้วยซากของม้าน้ำตากแห้ง เหล่านี้คือสิ่งของที่บริทธา ยาสชินสกีช่างภาพบันทึกไว้ เมื่อสินค้าเหล่านี้ถูกยึดที่สนามบินระหว่างกำลังถูกขนย้ายข้ามพรมแดน นำมาซึ่งคำถามตามมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับภายในจิตใจของมนุษย์ จึงต้องเติมเต็มความต้องการของตนเองด้วยสินค้าจากสัตว์ป่าเหล่านี้ สินค้าพวกนี้ทำให้สัตว์บางชนิดต้องได้รับความเจ็บปวด ในขณะที่บางชนิดสินค้ากำลังนำพวกมันไปสู่การสูญพันธุ์
“ปัญหาตอนนี้ก็คือยิ่งพวกมันหายากมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำกำไรได้ดีมากเท่านั้นเมื่อพวกมันตายไปแล้ว” ช่างภาพสาวกล่าว “ผู้คนต้องการแรดตัวสุดท้ายเพราะมันยิ่งมีค่าสุดๆ หากเรื่องนี้ไม่อาจเล่าด้วยภาพได้ ฉันก็จะหาวิธีอื่น ภารกิจแรกในใจฉันก็คือทำยังไงก็ได้ให้ฉันเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกสัตว์ที่คุณไม่มีวันได้ยินเสียงของพวกมัน”
ยาสชินสกีถ่ายภาพสิ่งของเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเผยด้านมืดของมนุษย์ที่เราทำกับธรรมชาติ ตลอดจนเราควรหันมาใส่ใจว่ามีสิ่งใดบ้างที่เราสูญเสียไป “สื่อมักใช้ภาพของการเผาทำลายงาช้าง แต่เราจำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นใหม่” เธอกล่าว
แม้ว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ป่าในธรรมชาติของผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าจะเป็นเรื่องของอดีต แต่ยาสชินสกีตั้งทฤษฎีว่าสัญชาตญาณเดิมของเรายังคงอยู่ ผ่านการเสาะแสวงหาบางส่วนของสัตว์ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งความแข็งแรงและกำลังวังชา “ฉันคิดว่ามนุษย์เรามีความต้องการที่จะครอบครองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล”เธอกล่าว “ในตอนที่เรายังอาศัยอยู่แบบชนเผ่า เราทำเพื่อความอยู่รอด นั่นคือจุดผิดพลาดของวิวัฒนาการเรา”
ยาสชินสกีถ่ายภาพกับฉากหลังที่เธอพกติดตัวไปด้วยยังสนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน และพื้นที่เก็บรักษาสัตว์ป่าในรัฐโคโลราโด ที่ซึ่งสินค้าจากสัตว์ป่าจำนวน 1.5 ล้านชิ้นถูกเก็บอยู่ที่นั่น แทนที่จะทำลายพวกเขาเก็บของเหล่านี้ไว้เพื่อศึกษาและทำวิจัย เช่นในกรณีโปรเจคของยาสชินสกีชิ้นนี้ เป็นผลงานการส่งต่อความตระหนักรู้ต่อประเด็นดังกล่าวได้อย่างมีพลัง
“ไม่ว่าฉันจะไปที่ไหน ฉันพบว่าบรรดาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติตัวด้วยความเคารพต่อสินค้าเหล่านี้” เธอกล่าว “เมื่อถึงเวลาที่ต้องแกะหีบห่อบรรจุ ฉันมักจะได้ยินพวกเขาพูดว่า พวกเราดีใจที่คุณอยู่ที่นี่”
ยาสชินสกีทำงานร่วมกับช่างภาพสัตว์ป่าอีก 20 ราย ในจำนวนนี้รวมถึงช่างภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกอย่าง Charlie Hamilton James, Klaus Nigge, Michael “Nick” Nichols, Brian Skerry และ Brent Stirton ด้วยซึ่งทั้งหมดคาดหวังว่าความตระหนักรู้ต่อปัยหาดังกล่าวจะช่วยยุติความต้องการสินค้าจากสัตว์ป่าเหล่านี้
อ่านเพิ่มเติม : การล่าจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าได้จริงหรือ, การท่องเที่ยวสัตว์ป่ากำลังทำร้ายสัตว์