มังกรโคโมโดวางไข่ได้เอง แม้ไม่มีตัวผู้ผสมพันธุ์

เรื่อง แพททริเกีย เอ็ดมอนด์

มังกรโคโมโด สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เมื่อโตเต็มที่พวกมันสามารถยาวได้ถึง 10 ฟุต และหนักเกือบ 200 ปอนด์ ร่างกายที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อแข็งแรง ฟันอันแหลมคมทำให้มังกรโคโมโดสามารถล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่อย่างกวาง, หมูป่า และควายน้ำได้

ดูเหมือนว่ามังกรโคโมโดจะเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งเสียจนไม่มีใครสามารถทำอะไรมันได้ แต่ ณ ตอนนี้มังกรโคโมโดกำลังเผชิญกับความเสี่ยง บนเกาะ 7 เกาะของอินโดนีเซีย สถานที่เพียงแห่งเดียวที่เป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ พวกมันกำลังถูกคุกคามโดยมนุษย์ที่ต้องการพื้นที่ในการทำการเกษตรหรือล่าพวกมัน แม้กระทั่งในพื้นที่ที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติโคโมโด รายงานอย่างเป็นทางการระบุจำนวนของมังกรโคโมโดลดลงเหลือ 3,013 ตัว ในปี 2016 จากเดิมที่จำนวน 3,222 ในปี 2013

เมื่อสายพันธุ์ของพวกมันต้องการผู้สืบทอด แม่มังกรโคโมโดจะทำอย่างไร? มันสามารถเลือกวิถีแบบเก่าด้วยการหาตัวผู้สักตัวเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ หรือบางครั้งมันอาจวางไข่ได้เองโดยปราศจากการผสมพันธุ์ ลักษณะของการกำเนิดในลักษณะนี้เรียกว่า พาร์ธีโนเจเนซิส (Parthenogenesis) หรือการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ

ในปี 2006 ที่สวนสัตว์เชสเตอร์ ในอังกฤษ มังกรโคโมโดเพศเมียที่มีชื่อว่า ฟลอร่า และไม่เคยพบเจอกับมังกรโคโมโดเพศผู้มาก่อนวางไข่จำนวนหนึ่ง ซึ่งผลการตรวจสอบ DNA พบว่าพวกมันมีแค่ DNA ของแม่ในร่างกาย นั่นทำให้การให้กำเนิดลูกมังกรโคโมโดครั้งนี้เป็นการกำเนิดแบบไม่อาศัยเพศครั้งแรกของมังกรโคโมโด

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในมนุษย์เพศชาย จะมีโครโมโซมเพศทั้งของเพศหญิงและเพศชาย และเป็นเช่นนี้เช่นกันในมังกรโคโมโดเพศเมีย ดังนั้นฟลอร่าจึงสามารถให้กำเนิดลูกของตัวเองได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกมังกรโคโมโดทั้งหมดมีสุขภาพดี แต่พวกมันเป็นตัวผู้

ความสามารถในการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศช่วยยกวิวัฒนาการของพวกมันไปอีกระดับหากต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนตัวผู้ และเมื่อลูกๆ ของพวกมันโตขี้น ตัวแม่ก็สามารถผสมพันธุ์กับลูกชายของตัวเองได้แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วมันจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เพราะจะให้กำเนิดลูกมังกรโคโมโดที่มียีนด้อยคุณภาพก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังคงไว้ซึ่งการสืบสายพันธุ์ให้ดำเนินต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม : ทำไมสุนัขต้องกินอึด้วย?จูจุ๊บสุนัขและแมวของคุณอาจนำไปสู่ความตายได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.