มา กินงู เหลือม” กันมั้ย? อาหารใหม่ ยุค “โลกรวน”

งูหลาม (หรืองูเหลือม) อาจกลายเป็นมาอาหารบนจานเร็ว ๆ นี้ ? นักวิทยาศาสตร์กล่าว ‘เรามา กินงู กันเถอะ’

กินงู – เมื่อพูดถึงเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานการอยู่ในทุกวันนี้ หลักๆ ก็จะมีอยู่ไม่กี่ชนิดนั่นคือ วัว หมู ไก่ และปลา ซึ่งในปัจจุบันฟาร์มปศุสัตว์ดังกล่าวกำลังขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนพื้่นที่ป่าให้กลายเป็นสถานที่ผลิตเนื้อ

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ และมีพื้นที่กักเก็บคาร์บอนน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ด้วยเหตุนี้ ดร. เดเนียล นาทุช (Daniel Natusch) นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยแมควอรี่ในประเทศออสเตรเลีย และบริษัท EPIC Biodiversity จึงเสนอทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์แบบใหม่ และสิ่งมีชีวิตนั้นคือ งูสกุลไพธอน (Python) หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นงูเหลือมหรืองูหลามนั่นเอง

“ผมเคยย่างมันมาแล้ว ผมเคยกินแบบเสียบไม้ ผมเคยกินมันแบบแกง และผมกินสิ่งนี้กับชนพื้นเมืองในป่าของมาเลเซีย” ดร. นาทุช กล่าว “ผมทำเองกับมือด้วยซ้ำมันเหมือนกับบิลตง (Biltong เนื้อดิบตากแห้งด้วยสมุนไพร อาหารท้องถิ่นของแอฟริกา)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานกล่าวว่าเนื้องูนั้นมีรสชาติเหมือนไก่ แม้หลายคนจะไม่เชื่อก็ตาม แต่หากลองไปพื้นที่ที่ไกลจากตัวเมืองใหญ่ในประเทศไทย หรือเวียดนาม ดร. แพทริก อัส (Patrick Aust) นักนิเวศวิทยา ผู้ร่วมทีมวิจัยกับดร.นาทุช กล่าวว่าเราอาจจะได้เมนูเนื้องูเป็นปกติ

ในบทความใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports ระบุว่าฟาร์มสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้สามารถเสนอทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนกว่า แทนการสร้างฟาร์มปศุสัตว์เดิมโดยเฉพาะในพื้นที่เช่นแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ

ทีมวิจัยของ ดร. นาทุช ได้ทำการวัดการเติบโตของงูสกุลไพธอนเกือบ 5,000 ในสายพันธุ์งูเหลือม (Malayopython reticulatus) และ งูหลาม (Python bivittatus) ในช่วงระยะเวลา 1 ปี รวมถึงข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น อาหารที่พวกมันได้รับ ปริมาณน้ำที่พวกมันกิน น้ำหนักของซากที่ตายแล้ว (ไม่รวมผิวหนังและอวัยวะภายใน) ขนาดตัว ศีรษะ และหาง จากนั้นก็นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่ในสัตว์อื่น ๆ

จากการศึกษาพบว่า มวลอาหารแห้งที่ใช้เลี้ยงงูเหลือมคือ 1.2 เท่าของซากงูที่ตายแล้ว เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นจะเห็นความแตกต่างมากขึ้นโดยมีตัวเลขดังนี้ ปลาแซลมอนอยู่ที่ 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับซากสุดท้ายของมัน, 2.1 เท่าสำหรับจิ้งหรีด, 2.8 เท่าสำหรับสัตว์ปีก, 6 เท่าสำหรับหมู และ 10 เท่าสำหรับเนื้อวัว

ขณะที่ตัวเลขมวลแห้งของโปรตีนที่ป้อน (เฉพาะโปรตีน) ให้กับงูคือ 2.4 เท่าของมวลซากงู, 3 เท่าสำหรับปลาแซลมอน, 10 เท่าสำหรับจิ้งหรีด, 21 เท่าสำหรับสัตว์ปีก, 38 เท่าสำหรับหมู และ 83 เท่าสำหรับเนื้อวัว ตัวเลขดังกล่าวเหล่านี้หมายความว่า ยิ่งมีค่าน้อยเท่าไหร่ก็แสดงว่าใช้ทรัพยากรเลี้ยงพวกมันน้อยลงเท่านั้น ซึ่งงูมีตัวเลขที่น้อยที่สุด ด้วยการใช้อาหารและน้ำเพียงเล็กน้อยก็สามารถผลิตเนื้อได้จำนวนมาก

“เมื่อพิจารณาถึงแอฟริกาที่กำลังประสบกับความแห้งแล้งอันรุนแรงจากปรากฏารณ์เอลนีโญอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้ปศุสัตว์ทั่วไปกำลังจะตายอยู่ในทุ่ง (ด้วยเหตุนี้) ความสามารถในการควบคุมกระบวนการเผาผลาญและรักษาร่างกายที่สัตว์เลื้อยคลานมีในช่วงเวลาอดอยาก อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับการผลิตในปศุสัตว์” ดร. อัส กล่าว

รายงานระบุว่า งูสามารถอดอาหารได้เป็นเวลาหลายเดือนหรือราว 127 วัน โดยไม่สูญเสียมวลกายไปเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นหลายเท่า รวมถึงอดน้ำได้เป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้หมายความว่าเกษตรกรสามารถใช้อาหารเลี้ยงพวกมันน้อยลง ซึ่งก็หมายความต่อไปว่าเราจะผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้อยลงด้วยเช่นกัน และที่สำคัญ งูต้องการเพียงพื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้นก็สามารถอาศัยอยู่ได้โดยไม่ไปไหน

“ความสามารถของงูสกุลไพธอนในการอดอาหารเพื่อควบคุมกระบวนการเผาผลาญ และรักษาสภาพของร่างกายนั้นช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในสภาพแวดล้อมที่ผันผวน (รายงานนี้) แนะนำว่าการเลี้ยงงูอาจตอบสนองต่อความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลกได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ” ดร. นาทุช กล่าว

“หากมนุษยชาติจรังจังกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้อย่างแท้จริง และอยากพิสูจน์ตัวเองในอนาคต เราจำเป็นต้องเริ่มคิดนอกกรอบ” เขากล่าวเสริม

แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะเหมาะสมกับการกินงู เนื่องจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และธรรมชาติของแต่ละประเทศ เช่นในออสเตรเลียที่มีสายพันธุ์งูน้อยเกินไป และหลายชนิดก็มีขนาดเล็กเกินไป อีกทั้งยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้เช่นการสร้างสถานที่เลี้ยงงูและดูแลงู ซึ่งยังคงมีราคาแพง และไม่แพร่หลาย และที่สำคัญ ‘ทัศนคติในเรื่องการกินงู’ ที่ยังดูเป็นอาหารซึ่งไม่น่ากินมากนัก

อย่างไรก็ตาม ลิน ชวาร์สคอฟ (Lin Schwarzkopf) หัวหน้าภาควิชาสัตววิทยาและนิเวศวิทยา จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก กล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติมในทุกแง่มุม เพราะงูต้องใช้เวลาพอสมควรในการเติบโต และความยากในการสร้างสถานที่เพาะงูในระดับอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเน้นย้ำว่า หากต้องการช่วยโลกจริง ๆ แนะนำให้มีการรับประทานอาหารจากพืชให้มากขึ้นจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

“ฉันจะต้องดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานก่อนที่จะคิดว่ามันเป็นความคิดที่ดี” ชวาร์สคอฟ กล่าว

ในขณะที่ทางทีมวิจัยของ ดร. นาทุช ระบุว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการให้ทุกคนหันมากินงู แต่ต้องการให้เกิดทางเลือกใหม่ ๆ

“เราไม่ได้จำเป็นต้องบอกว่าทุกคนควรหยุดกินเนื้อวัวและหันไปกินงูหลาม แต่จำเป็นต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมอย่างจริงจัวว่าพวกเขา (งู) มีความโดดเด่นมากกว่าในด้านการปศุสัตว์” ดร. นาทุช กล่าว “เมื่อประกอบกับความกลัวทั่วไปที่มนุษย์มีต่องู อาจต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่ศักยภาพทางการเกษตรของงูเหลือมจะเกิดขึ้นในระดับโลก”
.

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nature.com/articles/s41598-024-54874-4
.
https://www.newscientist.com/article/2422260-should-everyone-start-eating-snakes-to-save-the-planet/
.
https://www.theguardian.com/environment/2024/mar/14/let-them-eat-snake-why-python-meat-could-soon-be-on-the-menu
.
https://www.sciencealert.com/wild-new-study-suggests-we-should-put-more-python-on-our-plates-in-future


อ่านเพิ่มเติม เพราะมีอสรพิษจึงมีเรา เมื่องูคือตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการ

ภาพเขียนการต่อสู้ระหว่างเทพธอร์กับยอร์มุนกานดร์ งูยักษ์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากโลกิและนางยักษ์แองเกอร์โบดา ตามคำทำนายวันสิ้นโลกของชาวไวกิ้ง งูยักษ์จะสู้กับเทพธอร์ และถูกเทพธอร์กำจัดไปในที่สุด แต่เทพธอร์เองก็จะเสียชีวิตจากพิษงูเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก https://www.ancient-origins.net
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.