หมากินคน ? “หมา” อาจกิน “เจ้าของ” เมื่อตายแล้ว – รับได้หรือไม่?

สุนัข จะกินเราไหมถ้าเราตาย? หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้คุณอาจมอง น้องหมา ที่น่ารักของคุณไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเรื่อง หมากินคน 

หมากินคน – ในปี 1997 ผู้ตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ในกรุงเบอร์ลิน รายงานว่าพบกรณีที่มีความผิดปกติอย่างหนึ่งขณะทำหน้าที่ ในวารสาร ‘Forensic Science International’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายวัย 31 ปีคนหนึ่งทีกำลังพักผ่อนหลังเลิกงานอยู่ในสวนหลังบ้านของแม่ของเขา โดยเขาอาศัยอยู่กับสุนัขสายพันธุ์ ‘เยอรมันเชฟเพิร์ด’ อีกหนึ่งตัว แต่แล้วเมื่อเวลาประมาณ 20:15 น. เพื่อนบ้านก็ยินได้เสียงปืนดังขึ้น

45 นาทีต่อมา แม่ของชายคนนี้และเพื่อนบ้านพบว่าเขาเสียชีวิตด้วยการถูกปืนยิงเข้าที่ปาก โดยมีปืนพกอยู่ใต้มือ พร้อมกับข้อความอำลาวางไว้บนโต๊ะ แต่แล้ว ตำรวจก็ได้ค้นพบสิ่งที่น่าสยดสยองยิ่งกว่านั้น นั่นคือ “รอยกัด” ที่ใบหน้าและลำคอของเขา 

ความลึกลับถูกไขกระจ่างอย่างรวดเร็ว เมื่อ ‘เยอรมันเชฟเพิร์ด’ ตัวนั้นอาเจียนเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงผิวหนังที่มีขนเคราอันเป็นเอกลักษณ์ออกมา ทว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่ว่าสุนัขตัวนี้หิวโหยจนหันไปกินเจ้าของเพื่อเอาชีวิตรอด เพราะอาหารสุนัขยังคงวางอยู่บนพื้นอยู่เมื่อตำรวจมาถึง ‘บางทีเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์อาจไม่ได้ภักดีเสมอไป’ 

ไม่มีใครติดตามอย่างเป็นทางการว่ามีสัตว์เลี้ยงกินเจ้าของที่เสียชีวิตของตนเองบ่อยเพียงใด ดังที่นักวิทยาศาสตร์เขียนไว้ในบทความเมื่อปี 2023 ว่าการขาดข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาในการสืบสวนสาเหตุการตาย ผู้ตรวจสอบทางนิติวิทยาจำเป็นจะต้องทำความคุ้นเคยกับสัญญาณต่าง ๆ ซึ่งอาจปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานการกำจัดสัตว์เลี้ยงหลายสิบฉบับที่อธิบายไว้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ และมันเป็นช่องทางการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับคำถามที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่อยากจะคิดถึงมันว่า สัตว์เลี้ยงของเราจะกินเราหรือไม่ เราเป็นเพียงแหล่งอาหารสำหรับพวกเขาจริง ๆ หรือไม่ก็ทางใดทางหนึ่ง?

การศึกษาพฤติกรรมดังกล่าวสามารถให้คำตอบแก่เราได้ อีกทั้งยังเผยให้เห็นว่า เรามักจะตีความสัญญาณแบบผิด ๆ และล้มเหลวในมองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของสัตว์เลี้ยงมากเพียงใด นี่คือสิ่งที่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ได้เปิดเผยออกมา

เป็นแมวอย่างแน่นอน

บางคนคิดว่าแมวไม่มีอารมณ์ร่วมใด ๆ ในการกินเจ้าของ แต่ปรากฎว่ามีเรื่องราวซึ่งพูดถึงกรณีนั้นอยู่บ้างเล็กน้อย มีรายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Journal of Forensic and Legal Medicine’ เมื่อปี 2010 ผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งถูกพบในเวลาเช้าวันต่อมา การทดสอบทางนิติเวชพบว่า สุนัขของเธอกินใบหน้าบางส่วน ในขณะที่แมวอีก 2 ตัวของเธอไม่ได้แตะต้องร่างกายเธอเลย 

เมื่อมีการเสียชีวิต โดยทั่วไปแล้วแมวจะไม่สร้างความเสียหายให้กับร่างกายมากเท่ากับสุนัข โดยแมวมักจะมุ่งยังใบหน้าโดยเฉพาะกับส่วนที่อ่อนนุ่มเช่น จมูกและริมฝีปาก 

“ฉันไม่แปลกใจเลยในฐานะเจ้าของแมว” แคโรลิน รันโด (Carolyn Rando) นักมานุษยวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว “ถ้าคุณหลับอยู่ พวกมันมักจะตบหน้าคุณเพื่อปลุก” ดังนั้นแมวอาจพยายามเริ่ม ‘ปลุก’ เจ้าของที่ตายไปแล้ว จากนั้นจึงเริ่มกัดเมื่อไม่ได้ผล

การกำจัดซากศพมนุษย์ที่ได้รับการบันทึกไว้ส่วนใหญ่นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสุนัข ในบทความที่เผยแพร่บนวารสาร ‘Journal of Veterinary Behavior’ เมื่อปี 2016 พบว่า “การกินซากของสุนัขไม่ค่อยเกิดขึ้นในพื้นที่ในร่ม แต่มักพบเห็นเป็นประจำในการปฏิบัติงานทางนิติเวชด้านนอก” 

โจเซฟ พราห์โลว์ (Joseph Prahlow) ผู้ตรวจสอบทางการแพทย์ในรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ยืนยันถึงเรื่องนี้ เขาเห็นหลักฐานการกินซากของสัตว์เลี้ยงในระหว่างการชันสูตรพลิกศพ “อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง” เขากล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วสุนัขคือผู้กระทำ ไม่ใช่แมว

นั่นก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล เพราะเมื่อเราดูพฤติกรรมการกินอาหารของแมวและสุนัขที่โดยทั่วไปแล้ว สุนัขมักจะเป็นพวกชอบฉวยโอกาสมากกว่า พวกเขามีแนวโน้มที่กินสัตว์ที่ตายแล้ว ใครก็ตามที่เคยเอาสัตว์ที่ตายแล้วยื่นไปที่จมูกของน้องหมาสามารถเป็นพยานได้ แม้ว่าทั้งหมาและแมวจะไม่ชอบคุ้ยขยะเป็นพฤติกรรมปกติ แต่สุนัขก็มักจะกินทุกอย่างที่เจอ

สมมติฐานของความหิว

“สุนัขสืบเชื้อสายมาจากหมาป่า” สแตนลีย์ คอเรน (Stanley Coren) นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือและจัดรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับสุนัขกล่าว “ถ้าเรามีสถานการณ์ที่เจ้าของเสียชีวิต และไม่มีแหล่งอาหารแล้วพวกเขาจะทำยังไง? พวกเขาก็จะหาเนื้ออะไรก็ตามที่อยู่รอบ ๆ นั้น” 

สำหรับในบางกรณีนั้นเห็นได้ชัดยิ่งกว่าว่าสัตว์เหล่านี้ทำเพื่อความอยู่รอด ในรายงานฉบับหนึ่งเมื่อปี 2007 พบว่าสุนัขสายพันธุ์เชาเชาที่มีลาบราดอร์ผสมอยู่ด้วย สามารถมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือนหลังจากกินร่างของเจ้าของที่เสียชีวิตไปแล้ว และเหลือเพียงส่วนบนของกะโหลกศีรษะกับเศษกระดูกหลายประเภท

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับมาคดีฆ่าตัวตายเมื่อปี 1997 สุนัขเยอรมันเชฟเพิร์ด เริ่มกินร่างกายของเจ้าของทันทีหลังจากที่เขาเสียชีวิต มาร์คัส รอทส์ชายด์ (Markus Rothschild) เจ้าหน้าที่นิติเวชในคดีดังกล่าวระบุว่า ในขณะที่หลายคนคิดว่าสุนัขจะกินเจ้าของเฉพาะตอนที่มันหิวโหยเท่านั้น “ประสบการณ์ทางนิติเวชแสดงให้เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ผิดอย่างชัดเจน” 

ในการทบทวนกรณีสุนัขกินศพ 63 คดีเมื่อปี 2015 พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 วันก่อนที่จะพบการเสียชีวิต ศพจะถูกกินไปประมาณ 1 ใน 4 ยิ่งไปกว่านั้น สุนัขบางตัวยังสามารถเข้าถึงอาหารที่พวกเขาไม่ได้กินอีกด้วย บางทีคุณอาจคิดว่าหากสุนัขกินเจ้าของเพราะมันหิว พวกเขาก็น่าจะกินแบบเดียวกับที่หมาป่าในธรรมชาติกิน แต่ไม่เลย

สัตว์ป่ามีรูปแบบการกินที่ถูกบันทึกไว้อย่างดี

พวกมันแหวกหน้าอกและหน้าท้องเพื่อกินอวัยวะที่อุดมไปด้วยสารอาหารตั้งแต่เนิ่น ๆ ตามด้วยแขนขา มีแค่เพียง 10% เท่านั้นที่มีร่องรอยตรงศีรษะ กลับกันสุนัขเลี้ยงที่กินเจ้าของในบ้านกว่าร้อยละ 73 เกิดขึ้นที่ใบหน้า และมีเพียง 15% เท่านั้นที่กัดตรงหน้าท้อง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าสุนัขเลี้ยงมีปฏิสัมพันธ์กับใบหน้าของเจ้าของ แทนที่จะปฏิบัติต่อร่างกายให้เหมือนเป็นเพียงอาหาร

แรงจูงใจของพวกเขาคืออะไร?

แม้คุณจะใกล้ชิดกับสุนัขและปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงค่อนข้างดี แต่คุณจะไม่สามารถช่วยอะไรพวกมันได้อีกต่อไปหากคุณเสียชีวิต ซึ่งพฤติกรรมของสุนัขนั้นไม่ได้ดูสะอาดตามากนัก รายงานหลายฉบับระบุว่า เจ้าของมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสุนัขของตน มีการกินซากศพในเวลาต่อมา

ดังนั้นจึงต้องหันไปที่ “สภาพจิตใจ” ของสัตว์เลี้ยงแทน “คำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งสำหรับพฤติกรรมดังกล่าวคือ สัตว์เลี้ยงจะพยายามช่วยเหลือเจ้าของที่หมดสติก่อนด้วยการเลียหรือการสะกิด” รอทส์ชายด์ กล่าวในรายงานของเขา “แต่เมื่อสิ่งนี้ล้มเหลว ซึ่งไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีใด ๆ พฤติกรรมของสัตว์อาจรุนแรงขึ้น และอยู่ภายใต้ภาวะตื่นตระหนก ซึ่งอาจนำไปสู่การกัดได้” 

จากการกัดมันก็เป็นเรื่องง่ายที่จะกระโดดไปสู่การกิน รันโด กล่าว “สุนัขไม่จำเป็นต้องอยากกินเสมอไป แต่การกินจะถูกกระตุ้นเมื่อได้รสเลือด” 

เรื่องของสายพันธุ์ 

รันโด กล่าวเสริมว่า สุนัขแต่ละสายพันธุ์นั้นมีนิสัยที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจมีบทบาทในการตอบสนองต่อการตายของเจ้าของได้ ในกรณีที่ได้เผยแพร่ออกมานั้นเกี่ยวข้องกับสุนัขสายพันธุ์ที่ผสมกับสุนัขล่าสัตว์หรือสุนัขทำงานหลายสายพันธุ์ แต่ก็มีบางชนิดที่น่ารักซุกซนปรากฏตัวในรายงานทางนิติเวช นั่นคือ โกลเดน รีทรีฟเวอร์ 

แต่โดยรวมแล้วสุนัขขนาดใหญ่ถึงปานกลาง ซึ่งที่เล็กสุดคือบีเกิล เกี่ยวข้องกับการกินศพ อย่างไรก็ตาม สุนัขที่ตัวใหญ่แข็งแรงกว่าก็สามารถสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นกรณีเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่น่าสังเกตเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น ใน 3 กรณี เจ้าของที่เสียชีวิตมักจะถูก ‘กัดที่หัว’ และทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเยอรมันเชฟเพิร์ด ทว่า เท่าที่เรารู้ แม้แต่ปอมเมอเรเนียนหรือชิวาวาก็สามารถฉีกหัวเจ้าของได้ถ้ามันต้องการ

รันโด สงสัยว่านิสัยของสุนัขแต่ละตัวก็อาจมีความสำคัญ สุนัขที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและขี้กลัวตลอดเวลา ซึ่งมักแสดงอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากกันเป็นประจำนั้น อาจมีแนวโน้มที่จะหงุดหงิดและกัดกินเจ้าของมากกว่านิสัยอื่น ๆ 

แล้วต้องทำอย่างไร?

ไม่มีวิธีรับประกันว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะไม่กินคุณ เป็นที่รู้กันดีว่าแม้แต่หนูแฮมสเตอร์และนกก็สามารถกินศพได้ในบางครั้ง 

รันโด กล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลดโอกาสนั้น คือต้องแน่ใจว่ามีคนแวะเข้ามาหาสัตว์เหล่านี้เมื่อไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าของ และหากคุณมีเพื่อนบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ ป่วย หรืออ่อนแอ ให้ตรวจดูพวกเขาเป็นประจำ 

“เป็นเหตุผลที่ดีที่จะทำให้แน่ใจว่าคุณมีคนอยู่รอบตัวคุณเสมอ” เธอกล่าว “กิจกรรมทางสังคมภายหลังการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน” 

แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกคนที่ควรกังวล โพสต์บนโซเชียลมีเดียที่ตอบสนองต่อบทความฉบับก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางคนต้องการให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขากินร่างพวกเขา มากกว่าให้สัตว์เลี้ยงตัวเองต้องอดอาหาร

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดูร่าเริงได้ แต่กรณีเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเป็นทุกข์ของสัตว์เลี้ยงในการ ‘ปลุก’ เจ้าของที่เสียชีวิต มันบ่งบอกว่าการสูญเสียเพื่อนที่เป็นมนุษย์นั้นคือประสบการณ์ที่เจ็บปวด และเมื่อต้องเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจ 

เราก็ไม่สามารถคาดหวังให้สัตว์เลี้ยงประพฤติตัวเหมือนที่มนุษย์ไว้ทุกข์ให้กันได้ ในแง่หนึ่ง เราก็ได้เลี้ยงดูพวกเขาด้วยความรักจนเราตาย

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/pets-dogs-cats-eat-dead-owners-forensics-science


อ่านเพิ่มเติม สุนัขกินเจ้าของ เรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ?

(ซ้าย) เยลโลว์ ลาบราดอร์ ริทรีฟเวอร์ (ขวา) บาสเซ็ต ฮาวด์
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.