ทำไมชอบดูนก

ทำไมชอบดูนก

“ดูนก ไปทำไม” โดยทั่วไปเมื่อถามคำถามนี้กับบรรดานักดูนก  เรามักได้เหตุผลเบื้องต้นประมาณว่า  เพราะนกน่ารัก… เพราะอยากเป็นนก…  เพราะได้ไปอยู่ในป่า…  ดูนกแล้วมีสมาธิ… ชอบอิริยาบถของนก… เพราะได้ตื่นเช้า… ได้หัดสังเกต… รู้จักเฝ้ารอ… ไม่เอาแต่ใจ… ไม่เร่งรีบ… ดูแล้วมีความสุข… รู้สึกสบายใจ เรื่อยไปจนถึงคำตอบห้วนๆว่า ไม่มีเหตุผลอะไร แค่ชอบ แต่ทำไมคนเหล่านั้นถึงยอมตื่นแต่เช้ามืดไปเดินท่อมๆ เงียบๆ ทนทาก/ยุง/เห็บกัด หรือไม่ก็นั่งรอในบังไพรนานเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ได้เห็นนกสักตัว  คนดูนกมักตอบคนไม่ดูอย่างกำปั้นทุบดินว่า  ต้องลองไปดูนกเอง

นกเป็นสิ่งมีชีวิตล้ำเลิศที่มนุษย์เฝ้ามองมาทุกสมัย  วิวัฒนาการสองขาหน้าของนกได้ชื่อว่าเป็นวิวัฒนาการที่สร้างสรรค์ที่สุด  คนทุกยุคฝันอยากมีปีกบินได้เหมือนนก แต่บรรพบุรุษของนกกลับเป็นสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์  มีทั้งขนาดใหญ่ยักษ์วิ่งได้แต่บินไม่ได้ และขนาดเล็กจิ๋วเท่าแมลงภู่  มีทั้งสีสันฉูดฉาด  แพรวพราว ขาวปลอดและดำปลอด

นกหัวขวานหลังสีไพล (Dinopium rafflesii) เป็นนกชนิดหนึ่งที่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม เพราะการทำลายป่าที่ราบต่ำซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักของพวกมัน ปัจจุบันมีรายงานพบในพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งทางภาคใต้

อายุวัต เจียรวัฒนกนก นักวาดภาพธรรมชาติอายุ 27 ปี บอกว่า  ที่ยังชอบดูนกมาถึงทุกวันนี้  เพราะยังมีสิ่งให้ค้นหาอยู่ไม่รู้จบ  “ยิ่งดู ยิ่งรู้สึกอยากเจอตัวนั้น อยากเจอตัวนี้  นกทั่วโลกมีหมื่นกว่าชนิด ในเมืองไทยพันกว่า  พอเราไปดูนก เราก็ไปอยู่ในธรรมชาติ  ช่วงที่ไม่มีนก เราก็ได้ดูอย่างอื่นด้วย ทำให้เราสังเกตต้นไม้ใบหญ้า สัตว์ประเภทอื่นๆ นกเป็นตัวจุดประกาย  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจธรรมชาติ แล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ”  เขาเริ่มดูนกครั้งแรกกับ นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งมักชี้ชวนให้เด็กๆ ดูสิ่งละอันพันละน้อยในป่า  จนอายุวัตเกิดความประทับใจไม่ใช่เฉพาะกับนก  “ช่วงที่ไม่มีนก หมอหม่องก็สอนให้ดูไลเคน ดูเห็ด ใบไม้ แมลง เลยมีอะไรให้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด”

อายุวัตชอบวาดรูปตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก  เขาเริ่มดูนกตั้งแต่อายุ 10 ขวบและหัดสเก็ตช์ภาพนกจากธรรมชาติโดยมีหมอหม่องเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจ  “เราไปดูนก แต่ที่เราสังเกตไม่ใช่แค่ตัวนก  เราดูความสัมพันธ์ระหว่างนกกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ที่นกอยู่ตรงนี้  ก็เพราะมีสภาพแวดล้อมแบบนี้ เลยมีสิ่งที่ทำให้เราสนใจมากขึ้นกว่านก”  อายุวัตได้ทุนระดับปริญญาตรีและโทไปเรียนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศญี่ปุ่น  ปัจจุบันเขาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และระดมทุน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และดูแลโครงการอนุรักษ์ต่างๆ ของสมาคมควบคู่ไปกับการวาดภาพธรรมชาติ   การดูนกของเขาส่วนหนึ่งเพื่อทำความรู้จักและสังเกตท่วงท่า การเคลื่อนไหว และพฤติกรรมของนกในธรรมชาติเพื่อวาดภาพด้วย

“การดูนกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะดึงให้เราเข้าใจระบบนิเวศ” นายแพทย์รังสฤษฏ์ กล่าว “แต่ควรได้รับการชี้นำที่ดี เห็นนก เห็นนิสัยนก เห็นถิ่นอาศัยที่นกอยู่แล้วเกิดความเชื่อมโยง ก็เกิดความเข้าใจ”  ระยะหลังมานี้ เมืองไทยเริ่มมีกลุ่มเด็กหันมาดูนกมากขึ้น จากเดิมที่มักมีแต่คนทำงานหรือนักศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่เรียนโฮมสกูล “เด็กแฟนพันธุ์แท้มีเยอะขึ้นและดูอย่างจริงจังมาก”  แต่ใช่ว่าการดูนกของเด็กจะยั่งยืนเสมอไป เพราะเมื่อเติบโตขึ้น เด็กๆ ย่อมมีเรื่องอื่นต้องทำมากขึ้น

นกกินปลีแดงหัวไพลิน (Aethopyga ignicauda) เป็นนกอพยพที่หายากในเมืองไทย พบได้เฉพาะในป่าดิบเขาทางภาคเหนือเพียงไม่กี่แห่ง หาอาหารโดยใช้ปากที่แหลมโค้งในการดูดน้ำหวานจากดอกไม้โดยเฉพาะดอกราชาวดีหลวง

สำหรับอายุวัต  เขาเห็นว่าการดูนกทำให้มองเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งรอบตัว “เวลามองอะไรจะไม่มองแค่สิ่งนั้นโดดๆ ไม่มองว่านกอยู่อย่างตัดขาด  แบ่งแยกจากต้นไม้  ทำให้เราใส่ใจมากขึ้น  และมองโลกอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น เห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ และใส่ใจผลกระทบที่จะส่งต่อไปเป็นทอดๆ”  ยิ่งไปกว่านั้น การดูนกทำให้ผู้ดูเรียนรู้อย่างจริงจังเพื่อเข้าหานกด้วยการทำความรู้จักกับอุปนิสัยและพฤติกรรม  “พอเราเข้าใกล้นกแบบนั้น มันทำให้เรารู้สึกเหมือนได้รับความไว้วางใจจากสัตว์ร่วมโลกที่เป็นสัตว์ป่า  เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ และยิ่งผลักดันให้เราอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเขาซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลก เหมือนเขายอมรับเราว่า  เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในธรรมชาติที่ไม่ไปทำร้ายเขา”

เช่นเดียวกับ สมิทธิ์ สุติบุตร์ ช่างภาพธรรมชาติที่ถ่ายภาพนกและสัตว์ป่ามานานเกือบสามทศวรรษ  เขาคิดว่านกเป็นสัตว์ป่าที่หาดูง่ายที่สุดในบรรดาสัตว์ป่าด้วยกัน และเมื่ออยู่ในธรรมชาติจริงๆ เขาก็ไม่ได้ดูนกอย่างเดียว “เราก็ได้ดูแมลง ผีเสื้อ  ต่อให้ไม่มีนกดู  เราก็ดูพรรณไม้ ดอกไม้  ถ้ามีความสนใจ มีความรักแบบนี้  เขาจะมีความสนใจสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวด้วย”

นักดูนก (bird watcher หรือ birder) หลายคนมีช่วงเวลาดูนกแบบตามล่าหานกเพื่อ “เก็บแต้ม” ชนิดพันธุ์ของนกในบันทึกของตัวเอง โดยมีกลุ่มเพื่อนๆ ท้าทายให้แข่ง “เล่นนกหายาก”  นักดูนกกลุ่มนี้เรียกว่า “ทวิตเชอร์” (twitcher)  บางคนขยับการบันทึกนกที่ได้เห็นแล้วจาก 400 ไป 500 หรือ 600 ชนิดไปเรื่อยๆ และยอมดั้นด้นเดินทางไกลเพื่อให้เห็นนก (และถ่ายภาพนกตัวนั้น) เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว   ในขณะที่หลายคนเลิกนับ หันมาดูนกอะไรก็ได้ที่ผ่านเข้ามาให้เห็น ให้ค่ากับการอยู่ในธรรมชาติ มีความสุขกับนกที่เห็นอยู่ตรงหน้า และสังเกตพฤติกรรมนกอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Eurochelidon sirintarae) เป็นนกถิ่นเดียวของประเทศไทย พบเฉพาะในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ แต่คาดว่าปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การดูนก ถ่ายภาพนก หรืออยู่ในธรรมชาติไม่ได้ให้ผลในทิศทางเดียวกันเสมอไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะอดทน ค้นคว้าข้อมูล หรือทำความรู้จักนกอย่างที่มันเป็น  เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่นักดูนกว่าในบางกรณีมีการใช้เสียงหรือหนอนอาหารล่อนก  และในบางกรณีเหตุผลของการดูนกก็เป็นไปเพียงเพื่อดูหรือถ่ายภาพนกหายากโดยไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของนกหรือถิ่นอาศัยของมัน  มากไปกว่าการได้ภาพเพื่ออัปโหลดอวดเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์

เรื่อง   นิรมล มูนจินดา

รูปประกอบ  อายุวัต เจียรวัฒนกนก

 

อ่านเพิ่มเติม : ทำไมเหล่าวิหคจึงสำคัญนัก, เบื้องหลังภาพนกพัฟฟินคาบปลาอันน่าทึ่ง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.