คืนชีพเสือทัสมาเนียหลังสูญพันธุ์ไปร่วม 40 ปี

ร่างของลูก เสือทัสมาเนีย (หรือเสือแทสเมเนีย) ที่ถูกเก็บรักษาไว้เมื่อ 108 ปีก่อน มีความสมบูรณ์มากพอที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถสกัดเอาสารพันธุกรรมออกมาได้ เพื่อใช้สำหรับการสร้างพิมพ์เขียวใหม่ให้แก่สัตว์ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว

ข่าวดังกล่าวถูกประกาศเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ลงในวารสาร  Nature Ecology & Evolution ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนมได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเสือทัสมาเนีย นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถโคลนนิ่งจีโนมนี้ขึ้นมาใหม่ได้เพื่อคืนชีพสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวให้กลับมาจากความตาย

เสือทัสมาเนีย หรือไทลาซีน เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดพอๆ กับหมาป่า พวกมันเคยมีถิ่นอาศัยอยู่ในรัฐแทสเมเนีย ของออสเตรเลีย ย้อนกลับไปเมื่อ 3,000 ปีก่อน พวกมันเผชิญกับการสูญพันธุ์บนผืนแผ่นดินใหญ่ มีเพียงกลุ่มเดียวในรัฐแทสเมเนีย ของออสเตรเลียที่รอดชีวิต จนกระทั่งเผชิญกับการคุกคามอีกครั้ง ด้วยน้ำมือของมนุษย์สมัยใหม่ เสือแทสเมเนียถูกสังหารจากความพยายามในการปกป้องฟาร์มปศุสัตว์ จนในที่สุดพวกมันก็สูญพันธุ์ไปในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20

ไทลาซีนตัวสุดท้ายตายลงที่สวนสัตว์ Hobart เมื่อปี 1936 แต่เชื่อกันว่ายังคงมีไทลาซีนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจนถึงปี 1940 การประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการของสัตว์สายพันธุ์นี้โดย ICUN เกิดขึ้นในปี 1982

ทีมนักวิจัยต้องการพิจารณาจีโนมของมันเพื่อเข้าใจว่าเหตุใดสัตว์นักล่าที่มีกระเป๋าหน้าท้องตัวนี้จึงวิวัฒนาการตนเองให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับหมาป่า เดิมทีสัตว์ทั้งสองกลุ่มที่แตกต่างกันนี้มีบรรพบรุษร่วมกันเมื่อ 160 ล้านปีก่อน ก่อนที่จะแยกสายวิวัฒนาการไปตามเส้นทางของตนเอง

“ไทลาซีนและหมาป่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่มาบรรจบกันระหว่างสองสายพันธุ์” Andrew Pask หัวหน้าการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าว เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลของจีโนมของสุนัขและสายพันธุ์ญาติของพวกมัน ข้อมูลจากจีโนมของสัตว์ที่สูญพันธู์ไปแล้วจะช่วยให้พวกเขาพบความคล้ายคลึงกันของสองสายพันธุ์ เพื่อหาโมเดลการวิวัฒนาการ

“หากสัตว์สองสายพันธุ์ปรับตัวจนมีหน้าตาคล้ายกัน สิ่งนี้น่าจะปรากฏในระดับดีเอ็นเอด้วยเช่นกัน” เขากล่าว

ในปี 2008 Pask และทีมวิจัยสกัดเอาจีโนมออกมาจากสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วนี้และถ่ายเทเข้าสู่สัตว์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ พวกเขาใส่ดีเอ็นเอที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนากระดูกและกระดูกอ่อนของไทลาซีนลงไปยังเอ็มบริโอของหนู ในเวลานั้นดีเอ็นเอที่พวกเขาใส่เข้าไปถูกย่อยสลายอย่างรวดเร็ว จากตัวอย่างของไทลาซีน 750 ตัวอย่างที่ได้จากการรวบรวมโดยพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นขนหรือชิ้นกระดูกที่มีดีเอ็นเออยู่เพียงน้อยนิด แต่ซากของลูกไทลาซีนจำนวน 13 ตัวที่ได้จากกระเป๋าหน้าท้องของแม่ๆ มัน หนึ่งในนั้นมีจีโนมที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างดี

เมื่อเปรียบเทียบกับจีโนม ทีมนักวิจัยพบว่าสัตว์ทั้งสองสายพันธุ์วิวัฒนาการแตกต่างกันอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าพวกมันจะมีรูปลักษณ์และพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันก็ตาม

นอกจากนั้นทีมนักวิจัยยังได้ค้นพบสิ่งใหม่ พวกเขาพบว่าความหลากหลายในจีโนมของไทลาซีนปรับตัวลดลงเมื่อราว 70,000 – 120,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดเพราะก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยคิดไว้ว่าความหลากหลายของสายพันธุ์พวกมันเพิ่งจะปรับตัวลดลงเมื่อเร็วๆ นี้

“เราคิดมาตลอดว่าไทลาซีนมีวิวัฒนาการของมันเองหลังพวกมันแยกตัวออกมาเป็นสายพันธุ์โดดเดี่ยวเดียวในแทสเมเนียเมื่อแผ่นดินเชื่อมระหว่างออสเตรเลียและทวีปใหญ่ถูกน้ำทะเลท่วมเมื่อราว 10,000 – 15,000 ปีก่อน” Pask กล่าว

ตรงกันข้ามพวกเขาเชื่อว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพวกมันคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ในตอนนั้น ผลการวิจัยชี้ว่าไทลาซีนเดินทางมาถึงออสเตรเลียก่อนที่ชาวอะบอริจินจะมาถึงเมื่อราว 65,000 ปีก่อน

ไทลาซีนสูญพันธู์จากการล่าโดยมนุษย์ ด้านผู้เชี่ยวชาญคาดหวังว่าจีโนมชุดใหม่นี้จะเป็นเครื่องมือช่วยคืนชีพให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

“ท่ามกลางการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านๆ มา ไทลาซีนคือความผิดที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นไทลาซีนน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีพอๆ กับนกพิราบพาสเซนเจอร์หากจะเลือกฟื้นคืนชีพพวกมันขึ้นมา” Ross Barnett นักชีววิทยาสาขาวิวัฒนาการและผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอโบราณจากมหาวิทยาลัยเดอรัม ในสหราชอาณาจักรกล่าว

Mike Archer นักบรรพชีวินวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการชุบชีวิตสัตว์สูญพันธุ์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในนครซิดนีย์ ผู้นำการบุกเบิกโปรเจคโคลนนิ่งไทลาซีนในช่วงต้นปี 2000 และ 2013 หลังความสำเร็จของการโคลนนิ่งเอ็มบริโอกบกบแกสติก บรูดดิ้ง กล่าวว่า “มีงานที่ต้องทำมากมายในเส้นทางของการคืนชีพนี้ แต่ผมคิดว่า ทีมของ Pask ได้แสดงให้เห็นแล้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดไว้เมื่อ 20 ปีก่อนว่ามันเป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้มันมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น”

ด้าน Pask เองเชื่อว่าเขาสามารถที่จะนำไทลาซีนกลับมาได้ “การทำให้จีโนมทั้งหมดทำงานได้ เป็นงานตรงข้ามกับการลำดับจีโนม และเป็นอุปสรรคใหญ่ที่เราต้องข้ามไปให้ได้” กระนั้นก็ตาม Pask คาดหวังว่าในวันหนึ่งตัวเขาจะได้พบกับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่เป็นญาติกับมัน หลังไขปริศนาความแตกต่างระหว่างจีโนมได้แล้ว พวกเขาก็จะสามารถแก้ไขจีโนมเหล่านี้ เพื่อสร้างไทลาซีนขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้

“น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยสิบปี กว่าเราจะมีเทคโนโลยีดีพอที่จะช่วยคืนชีพให้สัตว์สูญพันธุ์ได้” เขาคาดการณ์เวลา “แต่จะว่าไปเราไม่มีทางรู้เลยว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้เร็วแค่ไหน”

เรื่องจอห์น พิคเรล

 

อ่านเพิ่มเติม

แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายตายแล้ว หรือนี่คือจุดจบ?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.