เมื่อรางรถไฟ ใกล้ หมีกริซลี “ความตาย” จึงเป็นเรื่องปกติ

ทางรถไฟเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้เหล่า หมีกริซลี ที่หิวโหยซึ่งอาศัยอยู่ตามแถบเทือกเขาในอเมริกาเดินเข้าไปใกล้ นักอนุรักษ์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดตามมา

ในพื้นที่ที่มีอัตราการตายของ หมีกริซลี สูงอย่างหุบเขาเอลก์ (Elk Valley) ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดานั้น การมีลูกหมีเกิดใหม่ถึง 3 ตัว เมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและยินดีเป็นอย่างมาก

แต่หลังเวลาผ่านไปเพียง 9 เดือน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อครอบครัวหมีกริซลีซึ่งประกอบไปด้วยลูกหมีทั้ง 3 ตัวและแม่ของพวกมันถูกพรากชีวิตไปด้วยรถไฟ หนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของหมีในภูมิภาคนี้

“ในบรรดาหมีกริซลีทั้งหมดที่เราเฝ้าสังเกตการณ์มา แม่หมีตัวนั้นคือหนึ่งในหมีไม่กี่ตัวที่มีลูก 3 ตัวครับ” เคลย์ตัน แลมบ์ (Clayton Lamb) นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่าจาก Biodiversity Pathways ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียกล่าว “เหตุการณ์นั้นเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่”

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่บางส่วนของเทือกเขาร็อกกีซึ่งพาดผ่านแคนาดาและสหรัฐอเมริกากลายเป็นบริเวณที่อันตรายต่อชีวิตของหมีกริซลี เนื่องจากพื้นที่ในส่วนดังกล่าวซึ่งเป็นเขตคุ้มครองและเขตฟื้นฟูสำคัญถูกใช้เป็นเส้นทางวิ่งของรถไฟบรรทุกสินค้าความเร็วสูง ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนหมีกริซลีที่ตายจากการชนของรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา มีการคาดการณ์ว่า หมีกริซลีจำนวน 63 ตัวซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐมอนแทนาและทางตอนเหนือของรัฐไอดาโฮล้มตายจากการถูกรถไฟชน ในปี 2019 หมีกริซลีล้มตายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยพบว่ามีจำนวนหมีที่ต้องจบชีวิตลงด้วยรถไฟมากถึง 8 ตัว ต่อมาในปี 2023 พบว่ามีหมีกริซลีอีก 3 ตัวที่ตายจากสาเหตุเดียวกัน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นชนวนที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ 2 กลุ่มยื่นฟ้องหนึ่งในบริษัทรถไฟหลักของอเมริกาในฐานละเมิดรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐ (Endangered Species Act: ESA)

แม้ว่าจำนวนหมีกริซลีที่ตายจะดูไม่สูงมาก แต่สำหรับบรรดานักอนุรักษ์ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของพวกมันแล้ว ความตายของหมีเหล่านั้นคืออุปสรรคที่บั่นทอนและขัดขวางความพยายามของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์จึงเร่งพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาและวางแผนริเริ่มโครงการต่าง ๆ ขึ้น เพื่อปกป้องหมีกริซลีจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและพยายามหาจุดกึ่งกลางที่มนุษย์กับหมีจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

หมีกริซลี (Ursus arctos horribilis) มองรอบๆ ตัวด้วยความสงสัย แม้ว่าประชากรของมันจะเพิ่มขึ้นในอเมริกาเหนือเนื่องจากความพยายามในการอนุรักษ์ แต่หมีกริซลีก็เผชิญกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากรถไฟที่วิ่งผ่านถิ่นที่อยู่ของมันในเทือกเขาร็อกกีทางตอนเหนือ PHOTOGRAPH BY IAN MCALLISTER, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

บริเวณที่หมีมักจะถูกรถไฟชน

โดยปกติแล้ว ทางรถไฟจะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีผู้คนอาศัย และปราศจากความวุ่นวายเนื่องจากการรบกวนของมนุษย์ สำหรับทางรถไฟบนเทือกเขาร็อกกีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐฯ นั้น รางรถไฟถูกตัดผ่านเขตพื้นที่สำคัญที่ใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์หมีกริซลี

ในขณะนี้ สหรัฐอเมริกามีประชากรหมีกริซลีเหลืออยู่เพียงประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งคิดเป็นแค่ร้อยละ 2 ของจำนวนประชากรในอดีต อย่างไรก็ดี ความพยายามในการอนุรักษ์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประชากรของหมีกริซลีที่อาศัยอยู่ใน Northern Continental Divide Ecosystem (NCDE) ซึ่งเป็นเขตฟื้นฟูทางตอนกลางเหนือของรัฐมอนแทนาจึงเพิ่มขึ้นถึง 1,100 ตัว จากคำบอกเล่าของจัสตีน วาลลีเอซ์ (Justine Vallieres) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่าจากกรมปลา, สัตว์ป่า และอุทยานของรัฐมอนแทนา ประชากรของหมีกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณปีละร้อยละ 2

ณ อีกฟากหนึ่งของชายแดนอเมริกา รัฐบริติชโคลัมเบียในแคนาดายังคงเป็นแหล่งรวมตัวของหมีกริซลีอยู่ แม้ว่าจะมีภัยคุกคามต่อประชากรของพวกมันถึงร้อยละ 60 ก็ตาม เหตุการณ์ที่หมีกริซลีถูกรถไฟหรือรถยนต์ชนนั้นเกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ทางตอนเหนือของเทือกเขาร็อกกีซึ่งพาดผ่านบริติชโคลัมเบีย ยิ่งไปกว่านั้น ในบางพื้นที่ของเทือกเขาในรัฐนี้ยังมีอัตราการตายของหมีที่สูงกว่าพื้นที่บริเวณอื่น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ในบริเวณหุบเขาเอลก์ พื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของแหล่งที่อยู่อาศัย 15,000 ตารางกิโลเมตรของหมีกริซลีในรัฐบริติชโคลัมเบีย มีจำนวนหมีที่ต้องจบชีวิตลงด้วยรถไฟสูงเกือบครึ่งของการตายของหมีทั้งหมดที่ถูกบันทึกไว้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของเคลย์ตัน แลมบ์ยังชี้ว่า หุบเขาเอลก์เป็นบริเวณที่ลูกหมีกริซลีมีอัตราการรอดชีวิตต่ำที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในทวีปอเมริกาเหนือ

ขณะเดียวกัน NCDE ก็ได้บันทึกการตายของหมีกริซลี 75 ตัวจากการชนของรถไฟนับตั้งแต่ปี 1975 เอาไว้ โดยผลการบันทึกชี้ว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหมีนั้นตายในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา แล้วเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

การที่เหล่าหมีกริซลีไปรวมกลุ่มกันตามบริเวณรางรถไฟนั้นมีสาเหตุหลายประการ เช่น ตามขอบทางรถไฟมีพุ่มเบอร์รี่ที่อุดมสมบูรณ์ และมีซากสัตว์ที่ถูกรถไฟทับ ซึ่งแลมบ์อธิบายไว้ว่าเป็น “วงจรการตายจากรถไฟที่หล่อเลี้ยงชีวิตของศพตัวต่อไป” นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้รางรถไฟเป็นพื้นที่ที่อันตรายสำหรับหมีกริซลี

ฝูงกวางเอลก์เคลื่อนผ่านอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในรัฐไวโอมิงระหว่างการอพยพประจำปี กวางเคยเป็นแหล่งอาหารหลักของหมีกริซลีทางตอนเหนือของมลรัฐมอนทานา แต่การลดลงอย่างรวดเร็วของประชากรกวางได้ผลักดันให้หมีกริซลีต้องออกหาอาหารใกล้ทางรถไฟ ซึ่งเป็นสถานที่อันตราย PHOTOGRAPH BY JOE RIIS, NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

สัญชาตญาณในการล่าเนื้อ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เมล็ดพืชที่ไหลร่วงออกมาจากตู้รถไฟซึ่งมีรูรั่วคือสาเหตุหลักที่ทำให้หมีกริซลีถูกรถไฟชน ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในมอนแทนามาก่อน ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 เกิดเหตุรถไฟ 3 ขบวนวิ่งตกรางขณะกำลังมุ่งไปทางใต้ของเทือกเขาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกลเชอร์ (Glacier National Park) จนทำให้ “เมล็ดข้าวโพดรวม 10,000 ตันในตู้รถไฟ 106 ตู้ร่วงไหลไปตลอดเส้นทางรางรถไฟซึ่งยาวราว ๆ 5 กิโลเมตร ”

หลังเริ่มสืบหาสาเหตุที่ทำให้หมีกริซลีถูกรถไฟชนในอุทยานแห่งชาติแบมฟ์ (Banff National Parks) และอุทยานแห่งชาติโยโฮ (Yoho National Parks) คอลลีน แคสซาดี เซนต์ แคลร์ (Colleen Cassady St. Clair) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาก็เชื่อว่า เมล็ดข้าวโพดเหล่านั้นเป็นหลักฐานและปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ที่คร่าชีวิตหมีไปจำนวนมาก

ทว่า เธอกลับกล่าวในโครงการริเริ่มอนุรักษ์หมีกริซลีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งบริษัท Canadian Pacific Railway และหน่วยงาน Parks Canada ของรัฐบาลกลางแคนาดาว่า “เราไม่พบหลักฐานอะไรที่สามารถพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนั้นได้ค่ะ”

เซนต์ แคลร์เชื่อว่า การที่จำนวนของหมีกริซลีที่ตายจากการถูกรถไฟชนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2000 มีสาเหตุมาจากการลดลงอย่างกระทันหันของจำนวนประชากรกวางเอลก์ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของหมีกริซลี พวกมันจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาอาหารใหม่ นอกจากนั้น การลดการฆ่าสัตว์เพื่อจัดการและควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ป่า และการเปลี่ยนวิธีจัดการซากสัตว์ตัวอื่น ๆ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้น

เมื่อร่างกายของหมีกริซลีขาดโปรตีน พวกมันจะเดินข้ามถนนและทางรถไฟไปยังหลุมฝังซากปศุสัตว์และสัตว์อื่น ๆ เพื่อหาอาหารกิน การขุดหลุมเช่นนี้ขึ้นเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทั่วโลกใช้จัดการกับซากสัตว์ อย่างไรก็ดี การที่หมีข้ามไปยังหลุมเหล่านั้นเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่พวกมันจะตายจากการถูกชน หลายพื้นที่ในรัฐบริติชโคลัมเบียจึงเริ่มก่อกำแพงคอนกรีตและติดตั้งรั้วไฟฟ้าเอาไว้รอบ ๆ หลุมฝังซากเหล่านั้น เพื่อป้องกันบรรดาหมีกริซลีจากอันตรายระหว่างการเดินทาง

หมีกริซลีตัวหนึ่งที่มีชื่อเล่นว่า “เจ้านาย” (The Boss) เดินเข้ามาหาทางรถไฟทางตะวันตกของหมู่บ้านเลคหลุยส์ในอุทยานแห่งชาติบานฟ์ของแคนาดา หมีมักถูกดึงดูดให้มาในพื้นที่ใกล้ทางรถไฟเพื่อหาอาหารจากสัตว์ใกล้เคียง “เจ้านาย” รอดชีวิตจากการชนกับรถไฟราวปาฏิหาริย์ แต่หมีกริซลีส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีแบบนั้น PHOTOGRAPH BY CHRIS BLOODOFF

ความเร็วที่คร่าชีวิตหมี

อย่างไรก็ตาม ความเร็วยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งทำให้หมีต้องจบชีวิตลงจากการถูกรถไฟพุ่งชน เซนต์ แคลร์กล่าวว่า “กฎแห่งฟิสิกส์ทำให้มันสมเหตุสมผลค่ะ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าสัตว์ที่ตายไปมีเวลาน้อยเกินกว่าที่จะรับรู้ได้ว่ามีรถไฟกำลังวิ่งมา พวกมันจึงเคลื่อนตัวหลบออกออกจากทางไม่ทันค่ะ”

การชนมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่หมีกริซลีสังเกตเห็นรถไฟได้ยาก เช่น ช่วงทางโค้งของรางรถไฟ หรือบริเวณใกล้แหล่งน้ำซึ่งรางรถไฟทำหน้าที่เป็นเส้นทางที่ช่วยให้หมีเดินข้ามไปยังบริเวณนั้นได้สะดวกขึ้น ในบางพื้นที่ หมีกริซลีมักจะถูกชนบนสะพานรถไฟ เพราะบนบริเวณนั้นไม่มีช่องทางใด ๆ ให้พวกมันหลบหลีก

อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยคือการที่ลูกหมีพลัดแยกกับแม่ในระหว่างการเดินทาง คริส เซอร์วีน (Chris Servheen) ซึ่งเป็นประธานร่วมของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านหมีในทวีปอเมริกาเหนือ (North American Bear Expert Team) ภายใต้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านหมีของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) และยังควบตำแหน่งประธานและประธานคณะกรรมการของสหพันธ์สัตว์ป่าในรัฐมอนแทนา (Montana Wildlife Federation) อธิบายไว้ว่า “เมื่อแม่หมีและลูกหมีพลัดกันไปคนละฟากรางในระหว่างที่รถไฟวิ่งผ่าน พวกมันจะมองเห็นกันผ่านช่องใต้ขบวนรถ ”

“พวกมันไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า ขบวนรถไฟที่วิ่งผ่านจะสิ้นสุดลงตอนไหน ทั้งแม่และลูกจึงรีบร้อนที่จะข้ามไปหากัน แต่ก็นั่นแหละครับ การข้ามรางรถไฟผ่านช่องใต้ขบวนรถเป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิต”ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะภูมิประเทศบนภูเขายังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หมีกริซลีถูกรถไฟชน

โดยปกติแล้ว ในขณะที่รถไฟวิ่งขึ้นเขา หัวรถจักรจะส่งเสียงดังออกมา แต่เมื่อขบวนเคลื่อนลงจากเนินเขาเสียงเหล่านั้นกลับเงียบลงอย่างน่าประหลาดใจ  เสียงนั้นเงียบจนสัตว์ป่าไม่ได้ยินและไม่รู้ว่ารถไฟกำลังพุ่งตรงไปทางที่มันยืนอยู่

“มีหลายครั้งที่ผมมองเห็นขบวนรถไฟก่อนที่จะได้ยินเสียงมันครับ ผมจึงตัดสินใจว่า จะไปยืนอยู่บริเวณรางรถไฟ แล้วรอดูรถไฟที่เคลื่อนลงมาจากเนินสูงเพื่อเก็บข้อมูล” โจนาธาน แบ็กส์ (Jonathan Backs) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม ผู้ทำการศึกษาว่าระดับเสียงของรถไฟส่งผลต่อสัตว์ป่าอย่างไร กล่าว จากผลการศึกษา เขาพบว่า ในบางพื้นที่เสียงรบกวนจากถนนในบริเวณข้างเคียงก็มีส่วนทำให้ได้ยินเสียงของรถไฟน้อยลง

การหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน

คำถามที่ยังคงอยู่คือ มีทางใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้บ้าง

ในช่วงปี 2016 ถึง 2017 แบ็กส์ได้ทำการพัฒนาพร้อมทั้งทดสอบระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนการมาถึงของรถไฟ ซึ่งจะส่งเสียงระฆังและเปิดไฟกระพริบเตือนล่วงหน้า 30 วินาที ก่อนที่รถไฟจะวิ่งไปถึงบริเวณนั้น ผลการศึกษาชี้ว่า หากใช้ระบบเตือนดังกล่าว สัตว์จะออกจากบริเวณของรางรถไฟได้เร็วกว่าเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนการมาถึงของรถไฟนั้นยังไม่ถูกนำไปติดตั้งและใช้งานจริง

ในทางตอนเหนือของรัฐมอนแทนา กลุ่มอนุรักษ์ องค์กรไม่แสวงผลกำไร รวมไปถึงกรมพิทักษ์ปลาและสัตว์ป่าของชนพื้นเมืองอเมริกันและของสหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกันกับบริษัทการรถไฟที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางบรรเทาสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้หมีกริซลีถูกรถไฟชน กระนั้น ความล่าช้าในการดำเนินการตามแผนลดอัตราการตายจากรถไฟของหมีกริซลีในเขตฟื้นฟู NCDE ก็ได้กลายเป็นประเด็นพิพาทสำคัญในคดีที่ฟ้องร้องไปเมื่อไม่นานมานี้

ในทางกลับกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายกลับมุ่งเน้นที่จะศึกษาหาแนวทางการแก้ไขผลกระทบจากการที่สัตว์ป่าถูกยานพาหนะบนท้องถนนชนมากกว่าการที่พวกมันถูกรถไฟชน ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่สัตว์ป่าถูกยานพาหนะบนท้องถนนชนนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วไปมากกว่า

“สัตว์ป่าที่ตายจากการชนของรถไฟนั้นเปรียบเสมือนกับเหยื่อที่ถูกฆาตกรฆ่าโดยไร้สุ้มเสียงครับ เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นในบริเวณป่าลึกที่อยู่ห่างไกลชุมชน ดังนั้นจึงมีแค่สัตว์ป่าเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสูญเสีย” แลมบ์กล่าว

“ถึงอย่างนั้นผมก็กระตือรือร้นที่จะหาวิธีแก้ปัญหานี้และคิดค้นระบบเตือนภัยรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นแล้วทดสอบมันครับ นั่นคือสิ่งที่การศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์โฟกัส เรามุ่งเน้นไปที่การตั้งคำถามว่า เราจะสร้างความแตกต่างขึ้นมาแล้วนำไปใช้สร้างความก้าวหน้าและพัฒนาต่อยอดต่อ ๆ ไปได้อย่างไรบ้าง” เขากล่าวเสริม

เรื่อง  เจสสิกา บาลต์เซอร์เซ็น

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม สัตว์ป่ารุกคืบสู่เมือง เมื่อยามถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหดหาย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.