การพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่องหลายประเภทจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแฟนตาซีหรือนิยายวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายคนที่ต้องการจะ พูดกับสัตว์ ที่ตัวเองมีปฏิสัมพันธ์
เช่นเดียวกับ ดร. ดูลิตเติ้ล (Dr. Dolittle) ตัวละครที่มีความสามารถในการสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตอื่น ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า ‘The Coller Dolittle Challenge for Interspecies Two-way Communication’ โดยมูลนิธิเจเรมีคอลเลอร์ (Jeremy Coller Foundation) และมหาวิทยาลัยเทลอาวิฟ (Tel Aviv University) ในประเทศอิสราเอล
ซึ่งจะมอบรางวัลเป็นเงินมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 367.6 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 31 พฤษภาคม 2024) กับใครก็ตามที่สามารถพูดคุยกับสัตว์ได้ และไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีเจาะจงแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งทีมงานกล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้เช่นกัน
“เช่นเดียวกับที่ศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) ซึ่งไขความลับของอักษรอียิปต์โบราณ ผมเชื่อว่าพลังของ AI ก็สามารถช่วยให้เราปลดล็อกการสนทนาข้ามสายพันธุ์ได้” เจเรมี คอลเลอร์ (Jeremy Coller) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ กล่าว
ทีมงานให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าปัจจุบันนี้ AI มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากนักวิจัยได้พัฒนาอัลกอริธึมที่ทรงพลังมากมาย โดยครั้งหนึ่งก็เคยพัฒนาขึ้นมาเพื่อแปลเสียงร้องของค้างคาว และทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รู้เป็นครั้งแรกว่า ค้างคาวเหล่านั้นกำลังทะเลาะกันเรื่องอะไรอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความพยายามอื่น ๆ เช่น การถอดรหัสอารมณ์ของหมูจากเสียงร้อง รวมถึงเสียงของสัตว์ฟันแทะที่สามารถระบุได้เมื่อพวกมันเกิดความเครียด ทางโครงการ ‘Earth Species’ ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงกำไรเองก็กำลังทำงานในขอบเขตความรู้นี้อย่างหนัก โดยหวังว่าจะสามารถพัฒนาระบบที่นำไปใช้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดได้
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเข้าใจของชุมชนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับรูปแบบการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์ ยอสซี โยเวล (Yossi Yovel) จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นประธานของการแข่งขันนี้และเป็นผู้ร่วมวิจัยในการศึกษาเกี่ยวกับค้างคาว กล่าว
แม้ว่ารางวัลใหญ่จะมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทให้กับผู้ที่ทำสำเร็จ แต่ทีมงานยังระบุว่าจะมีรางวัลประจำปีราว 3.6 ล้านบาท (1 แสนเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งมอบให้กับนักวิจัยในสาขานี้ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนา ‘แบบจำลองและอัลกอริธึมที่เข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ สำหรับการสื่อสารที่สอดคล้องกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์จนกว่าจะบรรลุการสื่อสารข้ามสายพันธุ์”
โดยแบ่งเกณฑ์เป็น แนวทาางที่ไม่รุกราน (ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์) ใช้ได้กับบริบทต่าง ๆ ที่สัตว์ใช้ในการสื่อสารปกติ และอนุญาตให้นักวิจัยวัดการตอบสนองของสัตว์ต่อความพยายามในการสื่อสารด้วย
“เราหวังว่าจะประกาศเกณฑ์การได้รับรางวัลใหญ่ หลังจากมีการมอบรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ราว 2-3 ปี” ศาสตราจารย์ โยเวล กล่าว
ทีมงานกล่าวว่าเป้าหมายคือการพัฒนาระบบที่สัตว์ไม่รู้ว่ากำลังสื่อสารอยู่กับมนุษย์จริง ๆ คล้ายกับสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในปัจจุบันที่ AI สามารถสร้างการสนทนาโดยที่มนุษย์แยกไม่ออกว่ากำลังคุยกับคนจริงหรือไม่
“เราเปิดกว้างสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและทุกรูปแบบ ตั้งแต่การสื่อสารด้วยเสียงในวาฬ ไปจนถึงการสื่อสารทางเคมีในหนอน” ศาสตราจารย์ โยเวล เสริม พร้อมกับบอกว่า รางวัลนี้อาจเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจความรู้สึกของสัตว์ จึงเป็นการสนับสนุนสิทธิสัตว์ในอีกทางหนึ่ง
ทาง ปีเตอร์ กาเบรียล (Peter Gabriel) นักดนตรีและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Interspecies Internet’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้กล่าวไว้ว่า “เมื่อผมเล่นดนตรีกับลิงโบโนโบ ผมรู้สึกทึ่งในความฉลาดและความสามารถทางดนตรีของพวกเขา ผมดีใจที่ได้มีลิงโบโนโบ ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ที่จะมีส่วนร่วมทั้งในการทำความเข้าใจในการสื่อสารของพวกเขา (สัตว์) และวิธีที่เราอาจเริ่มต้นการสื่อสารข้ามสายพันธุ์ก็มีความหมายอย่างมาก”
ดร. แคเธอรีน แฮร์บอร์น (Katherine Herborn) นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์แห่งมหาวิทยาลัยพลีมัธ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อถอดรหัสการสื่อสารกับสัตว์นั้น คือการทำความเข้าใจว่าต้องปรับปรุงอะไรหรือจัดการอย่างไรเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ตั้งคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการสนทนากับสัตว์ และตั้งคำถามว่า เอไอ สามารถให้ความกระจ่างถึง ‘ความหมาย’ หรือ ‘หน้าที่’ ของเสียงที่สัตว์ร้องออกมาได้จริงหรือไม่
“ผมคิดว่าไม่มีโปรแกรม AI มากพอที่จะทดแทนความรู้ระยะยาวโดยละเอียดเกี่ยวกับการสื่อสารในสังคมของสัตว์” โรเบิร์ต เซย์ฟาร์ตห์ (Robert Seyfarth) ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาจิตวิทยา ที่มหาวิทยาัลเพนซิลวาเนีย กล่าว
“การพยายามเปิดเผยความหมายของเสียงฮึดฮัดในลิงบาบูน เสียงหวีดของโลมา หรือเสียงช้างที่ดังก้องโดยไม่ทราบภูมิหลังทางสังคมของพวกมัน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี ก็เหมือนกับการกระโดดไปที่หน้า 137 ของนิยาย Pride and Prejudice และพยายามอธิบายว่าทำไม อลิซเบธ เบนเนต ถึงปฏิเสธมิสเตอร์ดาร์ซี โดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประวัติของพวกเขา”
คราลา มันซินี (Clara Mancini) ศาสตราจารย์ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยโอเพ่น กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่ เอไอ จะช่วยให้เราถอดรหัสการสื่อสารระหว่างสัตว๋ได้ “ในมุมมองของฉัน หากมันประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่าที่สุดของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วนี้”
แต่เธอกล่าวเสริมว่า การประสบความสำเร็จท่ามกลางความท้าทายอันยิ่งใหญ่นี้จะช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของสัตว์ได้จริงหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คำถามคือ เราจะเต็มใจฟังสิ่งที่สัตว์พูดอย่างแท้จริงหรือไม่ และท้ายที่สุดก็ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่พวกมันตามศักดิ์ศรีที่พวกมันเรียกร้อง ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเช่นนั้น”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา