สำรวจโลก : พิราบตรวจอากาศ

พิราบตรวจอากาศ

เช้าอากาศสดใสวันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิปี 2016 นกพิราบสื่อสาร 10 ตัวถูกปล่อยขึ้นสู่ฟากฟ้าเหนือ กรุงลอนดอน บางตัวได้รับการติดอุปกรณ์ ขนาดจิ๋วที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์และโอโซนในอากาศของมหานครแห่งนี้ นี่เป็นภารกิจแรกของโครงการ “พิราบตรวจอากาศ” (Pigeon Air Patrol)

นับตั้งแต่ยุคโบราณ ผู้คนใช้ประโยชน์จากนกที่มีพรสวรรค์ด้านการนำทางนี้ เจงกิสข่านและชาวโรมันใช้พวกมันเป็นผู้ส่งสาร ฝรั่งเศสถึงกับมอบเหรียญกล้าหาญให้นกพิราบสองตัวที่รับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นกพิราบถูกฝึกให้นำจรวดไปยังเป้าหมายด้วยการจิกไปที่ เป้าหมายบนจอซึ่งติดตั้งไว้ภายในหัวจรวด (ระบบนำวิถีด้วยวิทยุทำให้พวกมันไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่เทคโนโลยีที่ใช้ในการฝึกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจอสัมผัสหรือทัชสกรีนในปัจจุบัน)

โครงการพิราบตรวจอากาศสมัยใหม่ได้รับการพัฒนาโดยห้องปฏิบัติการพลูมแลบส์ (Plume Labs) ของโรเมน ลาคอมบ์ เพื่อช่วย สร้างความเข้าใจให้สาธารณชนเกี่ยวกับอากาศที่ พวกเขาหายใจ การศึกษาชิ้นหนึ่งประมาณการว่า มลพิษในอากาศของลอนดอนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 9,416 รายในแต่ละปี โครงการพิราบตรวจอากาศได้ผลเกินคาดจนสามารถชักจูงให้อาสาสมัครที่เป็นมนุษย์สวมใส่อุปกรณ์แบบเดียวกัน ซึ่งนับแต่นั้นสามารถทำแผนที่คุณภาพอากาศของเส้นทางต่างๆ ในลอนดอนรวมแล้ว 2,100 กิโลเมตร

“เราใช้อะไรที่ตรงข้ามกับเทคโนโลยีเพื่อทำ สิ่งที่ลํ้าสมัยเอามาก ๆ” ลาคอมบ์บอก ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ถ้านกพิราบช่วยให้คนหันมาสนใจปัญหานี้ได้ ก็จะเป็นอะไรไปเล่า”

เรื่อง นีนา สตรอคลิก

ภาพถ่าย: DIGITASSLBI; APIC/HULTON ARCHIVE/GETTY IMAGES

เป้หลังนํ้าหนักเบายึดติดกับตัวนกพิราบ เพื่อเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศเหนือ กรุงลอนดอน

 

อ่านเพิ่มเติม : รูปทรงของไข่เกี่ยวข้องการบินอย่างไรแด่ปักษาผู้สูญสิ้น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.