” หมึกยักษ์ ” ทั้งชาญฉลาด และปรับตัวเก่ง

งานวิจัยชิ้นใหม่กำลังเปลี่ยนวิธีที่เรามองเซฟาโลพอด หมึกยักษ์ ที่ชาญฉลาดและปรับตัวเก่งเหล่านี้

ด้วยลำตัวโป่งพองรูปกระเปาะ หนวดยั้วเยี้ย และหมึกฟุ้งตลบ ไม่น่าแปลกใจที่ หมึกยักษ์ หรือหมึกสายเป็นแรงบันดาลใจของนิทานพื้นบ้านตลอดมา

.
แต่ในความเป็นจริง สัตว์กลุ่มเซฟาโลพอด (cephalopod) เหล่านี้ ทั้งเฉลียวฉลาด อยากรู้อยากเห็น และเปี่ยมด้วยบุคลิกภาพ

.
ช่างภาพ เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์ ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในห้องปฏิบัติการของโรเจอร์ แฮนลอน ที่วูดส์โฮล รัฐแมสซาชูเซตส์ และของอันนา ดี คอสโม ที่มหาวิทยาลัยเนเปิลส์เฟเดริโกที่สองในอิตาลี ในการบันทึกภาพหมึกสาย ขณะเปลี่ยนสีและผิวสัมผัสของผิวหนัง เลือกอาหาร และสำรวจตู้เลี้ยง

.
เขาได้เรียนรู้ว่า พวกมันมีผิวที่ไวต่อแสง รับรสและ “ดมกลิ่น” ด้วยหนวด แปดเส้น ซึ่งแต่ละเส้นอาจมีปุ่มดูดหลายร้อยปุ่ม การวิจัยหมึกสายราว 300 ชนิดเอื้อประโยชน์ ตั้งแต่ช่วยให้เข้าใจต้นกำเนิดเชิงวิวัฒนาการของสมอง มนุษย์ ไปจนถึงการจินตนาการถึงรูปแบบสติปัญญาที่ต่างไปจากเรา

พรางตัวในพริบตา – สมองส่งสัญญาณประสาทไปยังถุงพิเศษที่ภายในบรรจุสารสี และมัดกล้ามเนื้อในผิวหนังเพื่อเปลี่ยนสี ลวดลาย และผิวสัมผัสอย่างทันทีทันใด จนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม เช่น พืช ก้อนหิน หรือปะการัง

 

ลูกน้อยยั้วเยี้ย – ลูกหมึกสายสองจุดพันธุ์แคลิฟอร์เนีย (Octopus bimaculoides) ที่เพิ่งฟักจากไข่แหวกว่ายอยู่ในบีกเกอร์ เพศเมียโดยทั่วไปจะวางไข่ 300 ฟอง และเฝ้าดูแลลูกอยู่ราวหนึ่งเดือนก่อนจะตาย หมึกสายสองจุดส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ราวหนึ่งปี

 

ทัศนวิสัยความละเอียดสูง – เช่นเดียวกับมนุษย์ เซฟาโลพอดมีตาเหมือนกล้องถ่ายภาพที่รวมแสงด้วยเลนส์ หมึกสายสองจุดได้ชื่อมาจากโอเซลลัส (ocellus) หรือจุดสีนํ้าเงินเหลือบรุ้ง ซึ่งเป็นตาปลอมที่ใช้หลอกผู้ล่าที่เข้ามาใกล้ให้ตกใจ ส่วนตาจริงอยู่เหนือตาปลอมนี้

 

ตรวจจับอาหารมื้อเย็น – นักวิทยาศาสตร์ซ่อนปูตัวหนึ่งเพื่อดูว่า หมึกสายจะหาตำแหน่งเหยื่อเจอทั้งที่มองไม่เห็นได้หรือไม่ ด้วยหน่วยรับความรู้สึกทางเคมีและการสัมผัสในปุ่มดูด หมึกสายตัวนี้สามารถหาปูเจอและลากออกจากโดมมาเป็นอาหารได้

 

ซ่อนอยู่ต่อหน้าต่อตา – ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังฟักจากไข่ ลูกหมึกสายสองจุดพากันไปซุกแนบกับผนังตู้เลี้ยง หมึกสายสองจุดพบได้ตามน่านนํ้าชายฝั่งที่ลึกได้ถึง 15 เมตร โดยชอบอยู่ตามแนวหินโผล่กับชะง่อนหินที่มีโพรงเล็กโพรงน้อยใช้เป็นถํ้าอยู่อาศัยได้
กลยุทธ์การใช้หนวดอันแข็งแกร่ง – หนวดของหมึกสายงอ ยืด บิด และหดตัว ช่วยให้พวกมันเดิน ว่ายนํ้า เคลื่อนย้ายวัตถุ และกำราบเหยื่อได้ การทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อเส้นประสาท และปุ่มดูดที่แข็งแรงนี้ เป็นต้นแบบของแขนหุ่นยนต์แบบอ่อน

 

เหยื่อโปรดปราน – หมึกสายกินปลา มอลลัสก์ และครัสเตเชียนได้หลากหลายชนิด แต่ก็มีอาหารที่โปรดปรานเป็นพิเศษ เมื่อให้เลือกหอยกาบ ปลากะตัก และหอยแมลงภู่ หมึกสายธรรมดา (Octopus vulgaris) เพศเมียตัวนี้จะเลือกปลากะตักทุกครั้ง

 

ฉลาดเหลือหลาย – ความที่มีเซลล์ประสาทหลายร้อยล้านเซลล์ หมึกสายจึงแสดงพฤติกรรมซับซ้อน ได้หลากหลาย พวกมันแก้ปริศนา หนีจากเขาวงกต และอาจกระทั่งฝันได้ แต่พวกมันกลายเป็นสัตว์เฉลียวฉลาดขนาดนี้ได้อย่างไร ยังเป็นความลับ

เรื่อง เรเชล โฟบาร์
ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์

ติดตามสารคดี มุมมองใหม่ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/609119


อ่านเพิ่มเติม หมึกสาย: นักมายากลแปดหนวด

หมึกสายเป็นเจ้าแห่งการพรางตัวด้วยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว จุดด่างบนตัวหมึกสายกลุ่มเกาะแคปริคอร์น (Callistoctopus alpheus) ตัวนี้เป็นเซลล์ที่เต็มไปด้วยสารสี หากหมึกเปิดเซลล์ทั้งหมด ตัวมันจะเป็น สีแดงที่มีลายจุดสีขาว
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.