เชื่อไหม! เมื่อก่อน ยีราฟ “คอสั้น” ปัจจุบัน “คอยาว” เพราะเรื่องผสมพันธุ์! (และอาหาร)

ทำไมยีราฟคอยาว ปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัย ชาร์ลส์ ดาร์วิน ผู้ให้กำเนิดทฤษฏีวิวัฒนาการ ขณะนี้งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตได้ให้คำตอบที่หักล้างหลายความเชื่อที่เคยคิดกันมา 

ทำไมยีราฟคอยาว ? คอของยีราฟเป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดในอาณาจักรสัตว์ มันยืดยาวได้หลายเมตรอย่างไม่น่าเชื่อด้วยกระดูกคอเพียง 7 ชิ้นเท่านั้น และมันก็เป็นอวัยวะที่ส่งผลสำคัญต่อทั้งร่างกายและวิถีชีวิตของมัน 

เพื่อที่จะสนับสนุนคอยาวนี้ ยีราฟจะต้องปรับอิริยาบททั้งหมดในร่างกาย เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลไว้ได้ อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน หรือการก้มลงดื่มน้ำ แต่ทำไมยีราฟต้อง ‘พยายาม’ มากขนาดนี้ อะไรเป็นแรงผลักดันที่คุ้มค่าทำให้พวกมันเลือกที่จะมีคอยาวไม่เหมือนใครในโลก?

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยคาดเดาไว้ในยุคสมัยของเขาว่า ยีราฟ พัฒนาคอที่ยาวขึ้นเพื่อเข้าถึงใบไม้ที่ไม่มีสายพันธุ์อื่นใดเข้าถึงได้ โดยใช้วิธีคิดแบบคลาสสิคเลยนั่นคือ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการสังเกตเต่ายักษ์แห่งกาลาปากอส 

เขาคิดว่ายีราฟตัวแรกที่มีคอยาวมากกว่าตัวอื่น สามารถเข้าถึงใบไม้ที่อยู่บนยอดได้มากกว่าตัวอื่น ๆ ดังนั้นมันจึงมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตรอด และถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ไปยังลูกหลานของมัน

 อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่บางคนแย้งว่ายังมีอีกสมมติฐานหนึ่ง นั่นคือ เกี่ยวกับเพศหรือการผสมพันธุ์

ซึ่งได้เสนอไว้ว่ายีราฟตัวผู้พัฒนาคอที่ยาวเพื่อเป็นอาวุธ พวกมันใช้คอยาว ๆ ฟาดกันเพื่อแย่งการผสมพันธุ์กับตัวเมีย ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังเพศตรงข้ามได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าโดยปกติจะมีโอกาสน้อยกว่า แต่ก็คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นในมนุษย์ที่ผู้ชายได้รับหัวนมมา นอกจากนี้คอที่ยาวของยีราฟยังมีความแตกต่างระหว่างตัวผู้และตัวเมียอย่างมีนัยสำคัญด้วย ทำให้แนวคิดนี้ได้รับความนิยมขึ้นมา 

“สมมติฐานเรื่องคอเพื่อเซ็กส์ ทำนายว่าตัวผู้จะมีคอที่ยาวกว่าตัวเมีย” ศาสตราจารย์ ดั๊ก คาเวนเนอร์ (Doug Cavener) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต กล่าว “ในทางเทคนิคแล้ว พวกมันจะมีคอที่ยาวกว่า แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างเกี่ยวกับตัวผู้จะใหญ่กว่า พวกมันใหญ่กว่าตัวเมียถึง 30-40%” 

แต่แน่นอนว่าพวกเขาต้องมีหลักฐานในการพิสูจน์สมมติฐานทั้งสอง ศาสตราจารย์ คาเวนเนอร์ และทีมวิจัยจึงตระหนักว่าการเปรียบเทียบอาจช่วยยุติการถกเถียงได้ ด้วยการใช้รูปภาพของยีราฟมาไซ (Giraffa tippelskirchi) ทั้งในสถานที่เลี้ยงและในธรรมชาติ เพือดูว่าพวกมันมีการเติบโตอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป

แต่เนื่องจากการวัดอย่างละเอียดและสมบูรณ์นั้นยากที่จะระบุได้จากภาพถ่าย ทีมงานจึงตัดสินใจมุ่งไปที่การวัดที่สัมพันธ์กัน หรือสัดส่วนของร่างกายแทน เช่น ความยาวของคอที่สัมพันธ์กับความสูงทั้งหมด และใช้เฉพาะภาพถ่ายที่ตรงตามเกณฑ์เท่านั้น อย่างเช่น ใช้เฉพาะภาพที่ยีราฟตั้งฉากกับกล้อง เพื่อให้ค่าที่วัดได้ออกมาสม่ำเสมอ

“เราสามารถระบุยีราฟแต่ละตัวได้ด้วยรูปแบบจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน” ศาสตราจารย์ คาเวนเนอร์ กล่าว “ข้อมูลนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจเมื่อยีราฟตัวผู้และตัวเมีย เริ่มแสดงขนาดที่แตกต่างกันและดูว่าพวกมันเติบโตต่างกันหรือไม่” 

ความแตกต่างของยีราฟ

ทีมงานพวกว่า เมื่อแรกเกิด ยีราฟตัวผู้และตัวเมียจะมีสัดส่วนร่างกายที่เท่ากัน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วตัวผู้จะเติบโตเร็วกว่าในปีแรก แต่สัดส่วนของทั้งคู่จะไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จนกระทั่งพวกมันเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย สิ่งที่พบนั้นสร้างความประหลาดใจพอสมควร

นักวิทยาศาสตร์พบกว่า เมื่อโตเต็มวัย ตัวเมียกลับมีคอและลำคอตามสัดส่วนที่ยาวกว่าส่วนหลักของลำตัว ในทางกลับกัน ตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีขาหน้ายาวกว่าและคอกว้างกว่า ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในยีราฟป่าและยีราฟเลี้ยง 

กล่าวอีกอย่างเกี่ยวกับสิ่งทีมวิจัยพบคือ ในตัวเมียที่มี ‘คอยาวกว่า’ ได้รับแรงผลักดันทางวิวัฒนาการเป็นการเข้าถึงใบไม้ ขณะที่ตัวผู้ที่มี ‘คอกว้างกว่า’(หรือหนากว่า) ได้รับแรงกดดันทางเพศเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นหากพิจารณาในคำถามว่า ทำไมยีราถึงมีคอยาว? เป็นเพราะต้องการเข้าถึงอาหาร พวกมันจึงมีคอยาว ไม่ใช่เพราะเรื่องเพศ

“ยีราฟเป็นสัตว์จู้จี้จุกจิก พวกมันกินใบของต้นไม้เพียงไม่กี่สายพันธุ์ และคอที่ยาวกว่าก็ช่วยให้พวกมันเข้าถึงใบไม้ที่อยู่ลึกเข้าไปในต้นไม้ ซึ่งไม่มีใครสามารถทำได้” ศาสตราจารย์ คาเวนเนอร์กล่าว พร้อมเสริมว่า “เมื่อตัวเมียอายุครบ 4 หรือ 5 ปี พวกมันก็จะมักจะตั้งครรภ์และให้นมบุตรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงคิดว่า ความต้องการทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้นของตัวเมีย ทำให้เกิดวิวัฒนาการของคอที่ยาวขึ้นของยีราฟ” 

แต่สำหรับตัวผู้ ความยาวดูจะไม่มีความสำคัญกับความหนาของคอ ยิ่งกว้างเท่าไหร่ยิ่งดีเพื่อที่จะได้ต่อสู้ตัวกับตัวผู้ตัวอื่นได้ดีขึ้น ศาสตราจารย์ คาเวนเนอร์ ระบุว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ เนื่องจากปัจจุบัน ยีราฟสายพันธุ์มาไซกำลังลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“หากการหาอาหารของตัวเมียเป็นตัวขับเคลื่อนลักษณะที่โดดเด่นนี้ มันก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่กำลังลดน้อยลง” เขา กล่าว “จำนวนประชากรยีราฟมาไซลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสูญเสียที่อยู่อาศัยและการลักลอบล่าสัตว์” 

“เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจประเด็นสำคัญของระบบนิเวศและพันธุกรรมของพวกมัน เพื่อที่จะคิดค้นกลยุทธ์การอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อรักษาสัตว์ที่น่าทึ่งเหล่านี้ไว้”

ที่มา

https://link.springer.com/article/10.1007/s42991-024-00424-4

https://theconversation.com/female-giraffes-drove-the-evolution-of-long-giraffe-necks-in-order-to-feed-on-the-most-nutritious-leaves-new-research-suggests-227029

https://www.iflscience.com/weve-learned-why-giraffes-stick-their-necks-out-and-its-not-for-sex-74523

https://www.sciencealert.com/new-discovery-challenges-everything-we-thought-we-knew-about-giraffe-necks

https://phys.org/news/2024-06-food-sex-drove-evolution-giraffes.html

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.