เหมียวก็มีหัวใจ งานวิจัยเผยแมวโศกเศร้า เมื่อสูญเสียเพื่อนสัตว์เลี้ยง

 การศึกษาใหม่ได้เผยมุมมองว่าแมวไม่ได้เป็นสัตว์ที่ ‘เย่อหยิ่ง’ หรือไร้ซึ่งหัวใจ แต่กลับเป็นสัตว์ที่อ่อนโยนและมีความผูกพันอย่างลึกซึ้

สำหรับมนุษย์แล้วมักจะให้ฉายาแมวไว้หลากหลายว่าพวกมันทั้งเอาแต่ใจ ไม่สนใคร รักอิสระ อารมณ์แปรปรวน เฉยเมย และไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง ถึงแม้หลายตัวจะชอบอยู่กับเจ้าของและอ้อนเก่งจนใจละลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วแมวกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ผู้ที่มีความเป็นตัวเองสูง’

ทว่าการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Applied Animal Behaviour Science เผยให้เห็นว่าพวกมันไม่ได้เย็นชาอย่างที่ชื่อเสียงของพวกมันบอกเสมอไป เจ้าตัวร้ายขนปุยเหล่านี้ต่างแสดงความโศกเศร้าเมื่อ ‘เพื่อนสัตว์เลี้ยง’ ในบ้านตัวอื่นเสียชีวิตลง

“ผลการศึกษของเราสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า แมวอาจรู้สึกสูญเสียเพื่อนสัตว์เลี้ยงไปในลักษณะแบบเดียวกับที่สุนัขได้ประสบ แม้ว่าจะมีบรรพบุรุษ(แมว)ที่เข้าสังคมน้อยกว่าก็ตาม” บริททานี กรีนน์ (Brittany Greene) และ เจนนิเฟอร์ วองก์ (Jannifer Vonk) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ผู้เขียนรายงานกล่าว

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทราบเป็นอย่างดีว่าสุนัขมีอากาศโศกเศร้ามากที่สุดเมื่อสัตว์เลี้ยงหรือแม้แต่มนุษย์ที่พวกมันผูกพันตายไป แต่เมื่อทีมวิจัยได้ทำการศึกษาเจ้าของสัตว์เลี้ยงทางออนไลน์จำนวน 412 คนซึ่งหลายคนเป็นเจ้าของแมวที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เคยเสียสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้านทั้งแมวและสุนัขไป พวกเขาก็พบว่าไม่ได้มีแค่สุนัขเท่านั้นที่เป็น

เจ้าของแมวส่วนใหญ่ได้รายงานในตลอดช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนว่าแมวของพวกเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น เสียงร้องโหยหวนที่ดังและบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิม บางตัวแสดงอาการ ‘มองหา’ หรือ ‘ดมกลิ่น’ สัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่เคยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ในบ้าน และหลายครั้งก็ดูจะเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็กินน้อยลง นอนน้อยลง และแม้แต่เล่นลดลง ยิ่งแมวเคยใช้เวลาอยู่กับเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวนั้นมากเท่าไหร่ เจ้าเหมียวก็มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในทันทีและระยะยาวมากขึ้น กล่าวอย่างง่าย ยิ่งแมวมีความผูกพันกับเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวนั้นมากเท่าไหร่ พวกมันก็ยิ่งแสดงอาการโศกเศร้ามากขึ้นเท่านั้น

“สำหรับฉัน การค้นพบที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ เมื่อมีการรายงานว่าแมวเปลี่ยนพฤติกรรมในลักษณะที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นจากความโศกเศร้า” วองก์ กล่าวและว่า “มีการคาดการณ์จากสิ่งต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาที่สัตว์ทั้งสองอยู่ร่วมกัน หรือระยะวลาที่พวกมันใช้เวลาร่วมกันทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือคุณภาพของความสัมพันธ์ของสัตว์เลี้ยง”

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แมวแสดงอาการโศกเศร้าที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญต่อการสูญเสีย ‘เพื่อนแมว’ หรือ ‘เพื่อนสุนัข’ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงสายพันธุ์อื่น ๆ

กล่าวอีกนัย ไม่ว่าเพื่อนตัวนั้นจะเป็นใคร หากเป็นสัตว์เลี้ยงที่เจ้าเหมียวรู้สึกชอบและผูกพัน พวกมันต่างก็แสดงความเศร้าโศกต่อการสูญเสีย

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ยอมรับว่าอาจเป็นไปได้เช่นกันที่เจ้าของแมวอาจ ‘ฉาย’ ความรู้สึกเศร้าของตัวเอง(ที่เกิดจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่ตนเองรัก)ไปยังแมว ทำให้พฤติกรรมที่แมวทำถูกตีความว่าเป็น ‘อาการโศกเศร้า’ ไปทุกอย่าง หรือไม่ก็อาจกลับกันก็คือ แมวอาจกำลังเครียดที่เจ้าของเศร้า พวกมันเลยแสดงอาการที่เจ้าของรายงานก็เป็นไปได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าแมวมีความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้างมากกว่าที่คิด ไม่ว่ามันจะเศร้าจากการสูญเสียเพื่อนหรือเครียดที่เจ้าของเศร้า แมวแสดงให้เห็นว่าพวกมันก็มีหัวใจและผูกพันกับใครก็ตามที่ใช้เวลาอยู่ด้วย

“มันทำให้ฉันมองโลกในแง่ดีมากขึ้นเล็กน้อยที่พวกมันมีความผูกพัน” วองก์ กล่าว “ไม่ใช่ว่าฉันอยากให้แมวเศร้า แต่ฉันคิดว่ามีส่วนหนึ่งของเราในฐานะมนุษย์ที่อยากจะเชื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา สัตว์เลี้ยงของเราจะคิดถึงเรา”

ผลลัพธ์เหล่านี้มาจากกลุ่มตัวอย่างที่ยังถือว่าไม่มากและอยู่แค่เพียงในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันแนวคิด และเพื่อระบุตัวแปรที่ชัดเจนเกี่ยวกับอารมณ์ของสัตว์เลี้ยง

“แม้จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่การศึกษาปัจจุบันก็ได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ทางสังคมของแมวให้อย่างมาก” กรีนน์และวองก์สรุป

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : National Geographic

ที่มา

https://www.sciencedirect.com

https://www.theguardian.com

https://www.sciencealert.com

https://interestingengineering.com

https://www.npr.org


อ่านเพิ่มเติม : จูงหมา คนแค่ทัก อยากน่ารัก ให้ เลี้ยงแมว ! ชี้ ปรสิตแมว ทำคนมีเสน่ห์ขึ้น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.