หลักฐานใหม่ชี้ ยุงจดจำกลิ่นได้

หลักฐานใหม่ชี้ ยุงจดจำกลิ่นได้

ครั้งหน้าที่คุณสังเกตเห็นยุงบินมาเกาะที่แขน แม้คุณจะตบพลาด แต่บนความโชคร้ายก็ยังคงมีความโชคดี เพราะเจ้ายุงตัวนั้นคงไม่กลับมาดูดเลือดคุณอีกแล้ว

ก็เรื่องอะไรจะยอมเสี่ยงที่จะโดนตบอีกล่ะว่าไหม เพราะแมลงเหล่านี้สามารถเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงกลิ่นกายของคุณเข้ากับสถานการณ์อันตราย เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับคุณอีกในอนาคต ผลการศึกษาใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Current Biology นับเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าสัตว์ตัวจิ๋วอย่างยุงนั้นสามารถเรียนรู้และจดจำได้

“พวกมันเป็นเหมือนยุงของปัฟลอฟ” Jeff Riffel ผู้ศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาทและพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว สำหรับ อีวาน ปัฟลอฟ คือนักจิตวิทยาชาวรัสเซียผู้โด่งดังจากการทดลองการขับน้ำลาย พฤติกรรมของสุนัข ภายใต้สถานการณ์รูปแบบเดียวกัน Riffel ทำการทดลองดูว่าแมลงจะสามารถเรียนรู้กลิ่นได้หรือไม่

(แมลงหลายชนิดฉลาดกว่าที่เราคิด พวกมันรู้จักนำร่างของเพื่อนที่ตายแล้วออกไปนอกรังเพื่อป้องกันโรคระบาด)

ในการทดลองเขาให้ยุงไข้เหลือง (Aedes aegypti) รับกลิ่นต่างๆ รวมถึงกลิ่นกายของมนุษย์ พร้อมแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อยเป็นเวลา 20 นาที ซึ่งค้ลายกับการขยับของแขนเพื่อที่จะตบ Riffel พบว่า ต่อมายุงที่เข้ารับการทดลองหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้กลิ่นเหล่านั้นเป็นเวลาถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นวิธีไล่ยุงที่ได้ผลพอๆ กับการใช้สเปรย์ที่มีสาร DEET ซึ่งพบในสเปรย์กันยุงหลายชนิด

ที่เป็นเช่นนี้มาจากสารโดพามีนในสมอง ทีมของ Riffel ทำการทดลองอีกครั้งแต่คราวนี้ยุงที่นำมาใช้มีข้อบกพร่องที่ทำให้สมองไม่สามารถหลั่งโดพามีนได้ ผลเป็นไปตามคาด ยุงกลุ่มดังกล่าวไม่เกิดการเรียนรู้ว่ากลิ่นเหล่านี้เป็นอันตราย และพวกมันบินกลับมาอีกครั้งในเวลาต่อมา


อ่านเพิ่มเติม

10 “วิธีไล่ยุง” อย่างปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี

7 พรรณไม้ ยุงเห็นเป็นต้องหนี


“ความสามารถในการเรียนรู้นี้ช่วยให้มันใช้ชีวิตยืดหยุ่นได้อย่างเหลือเชื่อ” Riffell กล่าว “นั่นหมายความว่าพวกมันรู้ว่าเหยื่อรายไหนจะปกป้องตนเองหรือไม่ปกป้อง และถ้าเราป้องกันไม่ให้มันจดจำกลิ่นได้ กระบวนการเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น”

กระบวนการทดลองยุงในห้องปฏิบัติการเพื่อหาว่ายุงเรียนรู้จากกลิ่นอย่างไร ในสภาวะที่มีการสั่นไหว
ภาพถ่ายโดย Kiley Riffell

 

ป้องกันจากการถูกกัด

ยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเป็นยุงที่รู้จักกันดีว่าสามารถแพร่ไวรัสไข้เด็งกี ชิคุนกุนยา และไข้เหลือง รวมไปถึงไวรัสซิกาด้วย ความรู้ใหม่เกี่ยวกับโดพามีนในยุงนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถค้นคว้าและพัฒนาสารไล่ยุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ความทรงจำเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย” Walter Leal นักนิเวศวิทยาทางเคมี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ดาวิส ผู้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และยุงกล่าว

“ณ ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีสารบางตัวช่วยกระตุ้นความทรงจำซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลีกเลี่ยง เช่น DEET ซึ่งเราใช้กันมาแล้วมากกว่า 60 ปี ถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินไปข้างหน้า” Leal กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ยังคงเดินหน้าศึกษาวิจัยกระบวนการรับกลิ่นและพฤติกรรมในยุงต่อไปเพื่อพัฒนาสารไล่ยุงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในระหว่างนี้ Riffell แนะนำทุกคนว่าวิธีการป้องกันยุงพื้นฐานเลยก็คือ อย่านิ่งเป็นเป้าง่ายๆ “ถ้าคุณกำลังปิ้งบาร์บีคิวอยู่กับเพื่อนที่สนาม ยุงบินวนรอบๆ ตัว พวกมันกำลังเรียนรู้จากกลิ่นคุณ เต้นรำซะ! เคลื่อนไหวร่างกายเข้าไว้ ทีนี้ยุงก็จะรู้แล้วว่ามันควรไปหาคนอื่นดีกว่า”

เรื่อง Michellr Z. Donahue

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.