นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

ก่อนหน้าศตวรรษนี้ คงไม่ใครนึกถึงคำว่า  “นกแสนรู้”  เพราะนักวิทยาศาสตร์คิดว่า นก (และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่) เป็นสัตว์ทึ่มๆไม่ต่างจากหุ่นยนต์  โดยทำได้เพียงตอบสนองด้วยสัญชาตญาณ นกถูกมองว่า “โง่เง่า” [เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษว่า birdbrain]  ตั้งแต่ก่อนหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ลุดวิก เอดิงเงอร์ จะแปลความหมายกายวิภาคระบบประสาทของนกผิดเมื่อราวปี 1900 เสียอีก เขาคิดว่านกไม่มีสมองชั้นนอก (neocortex) อันเป็นส่วนของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ในการคิด ซึ่งทำหน้าที่ด้านการรับรู้ขั้นสูงหลายอย่าง เช่น ความจำที่ใช้ทำงานต่างๆ การวางแผน และการแก้ปัญหา

แต่ทั้งๆที่มีสมมุติฐานผิดๆว่า นกไร้โครงสร้างและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา นักจิตวิทยาเปรียบเทียบก็ใช้นกศึกษาเรื่องการรู้คิดของสัตว์มาตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ พวกเขาโปรดปรานนกพิราบที่สมองมีขนาดพอๆกับเมล็ดถั่วลิสงเป็นพิเศษ และนกคะแนรีกับนกฟินช์คอลายซึ่งมีสมองเล็กยิ่งกว่าเสียอีก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า นกพิราบมีความจำที่น่าทึ่ง โดยสามารถแยกแยะใบหน้าและสีหน้าของมนุษย์ ตัวอักษร และแม้แต่ภาพจิตรกรรมของโมเนและปีกัสโซได้  นักวิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นความจำอันยอดเยี่ยมของนกนัตแครกเกอร์ปีกดำ นกเจย์ดง และนกชิกกาดี ตัวอย่างเช่น นกนัตแครกเกอร์เก็บและสะสมเมล็ดสนกว่า 30,000 เมล็ดทุกฤดูใบไม้ร่วง โดยกระจายเมล็ดสนไว้ในขุมสมบัติจิ๋วนับพันแห่งที่พวกมันจำเป็นต้องจดจำให้ได้ตลอดฤดูหนาว

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไก่ เช่น ไก่เหล่านี้ในฟาร์มของแมตต์ ซีเกล ในรัฐไวโอมิง มีการรับรู้ขั้นสูง พวกมันอาศัยอยู่ในสังคมที่มีลำดับชั้น นับจำนวนและคำนวณคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานได้ และน่าจะรับรู้อารมณ์ ตั้งแต่ความเบื่อหน่ายและความคับข้องใจไปจนถึงความสุข

ในทศวรรษ 1950 นักวิจัยเริ่มศึกษาว่า นกจับคอน เช่น นกคะแนรี นกกระจอก และนกฟินช์คอลาย เรียนรู้การร้องเพลงได้อย่างไร พวกเขาพบความเหมือนอย่างน่าทึ่งระหว่างเพลงของนกกับคำพูดของมนุษย์ จากนั้นก็มี “อเล็กซ์” นกแก้วใหญ่สีเทา ซึ่งนักจิตวิทยาเปรียบเทียบ ไอรีน เปปเปอร์เบิร์ก สอนให้เลียนเสียงเป็นภาษาอังกฤษ (เปปเปอร์เบิร์กเน้นย้ำว่า อเล็กซ์ไม่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจริงๆ)

 


รวมสายพันธุ์นกอินทรีที่คุณอาจไม่เคยพบเห็นมาก่อน


 

เมื่อถึงเวลาที่มันตายในปี 2007 ขณะอายุ 31 ปี อเล็กซ์เชี่ยวชาญการเลียนเสียงภาษาอังกฤษสำหรับ เรียกสี วัตถุ ตัวเลข และรูปร่าง ประมาณ 100 เสียง มันออกเสียงคำว่า “สีเขียว” “สีเหลือง” “ผ้าขนสัตว์” “ไม้” “วอลนัต” และ “กล้วย” ได้อย่างชัดเจน และใช้เสียงเหล่านี้สื่อสารกับคน มันเข้าใจคำว่า “เหมือนกัน” และ “ต่างกัน” สามารถนับถึงแปดและเข้าใจแนวคิดนามธรรมของศูนย์ อเล็กซ์บอกให้เปปเปอร์เบิร์ก “ใจเย็นๆ” เมื่อเธออารมณ์เสีย และขอ “กลับไป” เมื่อมันคิดถึงบ้านในช่วงที่ป่วยจนต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ และมันยังบอกราตรีสวัสดิ์เธอก่อนนอนเสมอ เช่นเดียวกับที่มันบอกก่อนตายว่า “เธอทำตัวดีๆ เจอกันพรุ่งนี้ ฉันรักเธอ”

 

ความสามารถในการเลียนภาษาและใช้คำภาษาอังกฤษในบริบทที่ถูกต้องของอเล็กซ์ กระตุ้นให้เกิดการศึกษานกแก้วเพื่อสร้างความกระจ่างในเรื่องต้นกำเนิดของการเรียนรู้การเปล่งเสียง อันเป็นความสามารถในการเลียนเสียงอย่างมีวัตถุประสงค์ นี่เป็นทักษะที่นกแก้วมีเหมือนกันกับนกจับคอน นกฮัมมิงเบิร์ด มนุษย์ ซีเทเชียนหรือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์อื่นอีกไม่กี่ชนิด

ที่สถานีวิจัยนกในออสเตรีย ฟิกาโร นกช่างประดิษฐ์ อวดอุปกรณ์ที่มันทำขึ้นมาเพื่อเก็บเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เครื่องมือชิ้นแรกที่มันทำเป็นชิ้นไม้ไผ่เพื่อเขี่ยกรวดที่มันทำตกออกนอกกรง

ในที่สุดการค้นพบส่งผลให้ทีมนักวิจัยนานาชาติทบทวนแบบจำลองกายวิภาคระบบประสาทนกของเอดิงเงอร์ที่ยอมรับกันมานาน เมื่อปี 2005 พวกเขาประกาศผลการประเมินใหม่ซึ่งเผยว่า สมองนกมีโครงสร้างทางประสาทที่เรียกว่า แพลเลียม (pallium) คล้ายสมองชั้นนอกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และบริเวณอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดที่ซับซ้อน พวกเขาสนับสนุนให้นำชุดคำศัพท์และความเข้าใจกายวิภาคระบบประสาทของนกแบบใหม่นี้มาใช้

ปัจจุบัน นกโดยเฉพาะวงศ์กาและวงศ์นกแก้วได้รับการยกย่องว่าเป็น “เอปมีขนนก” เนทาน เอเมอรี นักชีววิทยาเป็นผู้ให้สมญานี้แก่นกวงศ์กาในรายงานที่เขาเขียนร่วมกับเคลย์ตัน ผู้เป็นภรรยา โดยให้เหตุผลว่า นกวงศ์กาและเอปวิวัฒน์ความสามารถในการคิดที่ซับซ้อนขึ้นมาอย่างชัดเจน แม้ว่าพวกมันเกี่ยวข้องกันห่างๆ กล่าวคือ สัตว์ทั้งสองกลุ่มแยกสายวิวัฒนาการจากกันเมื่อกว่า 300 ล้านปีก่อน เพราะได้รับแรงกดดันคล้ายกัน ทั้งสองกลุ่มอาศัยอยู่เป็นกลุ่มสังคม ซึ่งต้องเข้าใจแรงจูงใจและความต้องการของสมาชิกตัวอื่น พวกมันค้นหาอาหารที่หลากหลาย อาหารบางชนิดจะได้มาก็ต่อเมื่อต้องทำเครื่องมือขึ้นมาใช้ก่อนเท่านั้น ชิมแปนซี อุรังอุตัง และนกเพียงชนิดเดียวคือกาพันธุ์นิวแคลิโดเนีย เป็นเลิศด้านการทำเครื่องมือขึ้นมาใช้ในธรรมชาติ

 


ชมความงดงามและความหลากหลายของสายพันธุ์นก เนื่องในปีแห่งนกกัน


 

นกสีดำเงางามซึ่งมีบรรพบุรุษเกี่ยวข้องกับกาพันธุ์อเมริกาเหนือนี้อาศัยอยู่บนเกาะเพียงสองเกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในนิวแคลิโดเนีย วันหนึ่งเมื่อปี 1993 แกวิน ฮันต์ นักนิเวศวิทยาจากนิวซีแลนด์ สังเกตเห็นกาตัวหนึ่งที่นั่นซ่อนสิ่งของแปลกๆไว้ในต้นไม้

“มันเป็นสิ่งที่ปัจจุบันเราเรียกว่า ‘เครื่องมือรูปขั้นบันได’ ครับ” ฮันต์บอก พลางเลือกสิ่งที่ว่านี้ออกมาจากกล่องกระดาษ “ทันทีที่เห็น ผมรู้ว่ามันเป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่ใครสักคนออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ถ้าผมพบมันในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี คุณจะบอกว่ามนุษย์ประดิษฐ์มันขึ้นมาครับ แต่ผมพบมันในป่า และกาสร้างขึ้นมา”

เมื่อปี 2006 นักชีววิทยาสัตว์ป่า จอห์น มาร์ซลัฟฟ์ และนักศึกษาคนหนึ่งของเขาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเทิล สวมหน้ากากแบบนี้ขณะจับกาเจ็ดตัวมาใส่ห่วงขา ทุกวันนี้ ถ้ามาร์ซลัฟฟ์หรือใครอีกคนหนึ่งสวมหน้ากากนี้ กาในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เพียงเจ็ดตัวนั้น จะรวมตัวกันร้องก่นด่า โจมตี และติดตามเขาไป พวกกาไม่สนใจคนที่สวมหน้ากากแบบอื่น

ฮันต์ยื่นเครื่องมือของกาให้ฉันชม มันยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งกว้าง อีกด้านหนึ่งเรียวลง ตรงกลางมีลักษณะเป็นขั้นบันไดเหมือนใบเลื่อย เครื่องมือสีเขียวอ่อนชิ้นนี้บางและยืดหยุ่นได้ มันถูกตัดจากใบต้นเตยทะเล ซึ่งเป็น พืชคล้ายต้นปาล์ม พบบนเกาะในเขตร้อน มนุษย์อาจใช้กรรไกรทำเครื่องมือนี้ ส่วนกาใช้จะงอยปาก ใบต้นเตยทะเลเต็มไปด้วยเส้นใยและมีขอบเป็นหนามเล็กๆ

“เนื่องจากเส้นใยที่ขนานกันเหล่านี้ ทำให้กาตัดใบเตยตามแนวทแยงมุมให้ปลายเรียวลงไม่ได้ พวกมันจึงตัดเป็นขั้นบันไดโดยเริ่มจากปลายด้านแคบก่อน” ฮันต์ตั้งข้อสังเกต

 

เมื่อเสร็จแล้ว กาคาบเครื่องมือนี้บินไปยังต้นไม้หรือต้นเตยทะเลเพื่อค้นหาเหยื่อ เช่น แมลงสาบและแมงมุมตามยอดไม้ กายังใช้กิ่งไม้ทำขอเกี่ยวเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน และใช้กิ่งไม้ตรงๆแหย่เข้าไปตามท่อนไม้เพื่อหาหนอนด้วงเจาะไม้ ซึ่งกาจะพยายามเกี่ยวหรืองัดออกมาด้วยเครื่องมือนี้ “พวกมันมีภูมิปัญญา และถ่ายทอดภูมิปัญญานั้นเหมือนที่มนุษย์ทำครับ” ฮันต์บอก “ดังนั้นเครื่องมือรูปขั้นบันไดที่ทำจากใบเตยทะเลและเครื่องมือขอเกี่ยวทำจากกิ่งไม้จึงได้มาตรฐานทั้งในแง่ขนาด และรูปร่าง”

สัตว์น้อยชนิดนักทำเครื่องมือเครื่องใช้ของตัวเอง โดยเฉพาะเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับงานเฉพาะเจาะจงก่อนหน้าที่เจน กูดดอลล์ จะพบว่า ชิมแปนซีทำเครื่องมือ นักวิทยาศาสตร์คิดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีความสามารถนี้ และตั้งสมมุติฐานว่า ความสามารถในการทำเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนวิวัฒนาการของเชาวน์ปัญญามนุษย์

เด็กหญิง แกบี แมนน์ ผูกมิตรกับกาในละแวกบ้านที่ซีแอตเทิลด้วยการวางเมล็ดถั่วและอาหารสุนัขไว้ให้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน กานำของขวัญมาให้เธอ ซึ่งรวมถึงหัวใจพลาสติกแวววาวเหมือนไข่มุก หนึ่งในของขวัญชิ้นโปรดของแกบี

“การค้นพบว่า กาพันธุ์นิวแคลิโดเนียทำเครื่องมือด้วย และถ่ายทอดการทำเครื่องมือสู่การุ่นต่อไป มีความสำคัญเพราะประการแรก นี่เป็นสิ่งที่พวกมันทำกันเองในธรรมชาติ และประการที่สอง นี่แสดงว่าความสามารถนี้วิวัฒน์ขึ้นในสัตว์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน” จอห์น มาร์ซลัฟฟ์ นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล บอก

รู้อย่างนี้แล้ว คำว่า “นกแสนรู้” คงไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงสักเท่าไร

เรื่อง เวอร์จิเนีย มอเรลล์

ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

 

อ่านเพิ่มเติม

สำรวจโลก : นิติวิทยาศาสตร์นก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.