แมวน่ารัก แต่อาจมีผลข้างเคียง? นักวิทย์ฯ เตือนคนเลี้ยง เสี่ยงโรคจิตเภทเพิ่ม 2 เท่า

การเลี้ยงแมวอาจทำให้เป็น โรคจิตเภท’ เพิ่มขึ้น เท่าตามการวิเคราะห์ใหม่ นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้ทำการศึกษางานวิจัย 17 ชิ้นในที่ตีพิมพ์ในช่วง 44 ปีนี้จากทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แสดงให้เห็นว่าการสัมผัสกับแมวช่วงต้นของชีวิตอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคจิตเภทขึ้น เท่า

“เราพบความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวในขอบเขตกว้าง ๆ กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคจิตเภท” จอห์น แมคเกรธ (John McGrath) จิตแพทย์จากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตควีนส์แลนด์ กล่าว

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยระบุว่าพวกเขายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าทำไมการเลี้ยงแมวถึงทำให้เกิดความเสี่ยงนี้ขึ้น และที่สำคัญก็คือพวกเขาไม่ได้ชี้ชัดว่า ‘แมวเป็นผู้กระทำผิด’ นั่นเพราะแมวก็คือแมว พวกเขายังคงเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักสำหรับผู้คนที่รักมัน

จิตเภทและแมว

โรคจิตเภท หรือที่รู้จักกันในชื่อ schizophrenia นั้นเป็นความผิดปกติทางจิตที่มีลักษณะโดดเด่นในด้านบิดเบือนความคิด การรับรู้ อารมณ์ ภาษา ความรู้สึก และพฤติกรรมในตนเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคจิตเภทจะถูกแบ่งออกมากว้าง ๆ 3 ประเภทคือ เชิงบวก เชิงลบ และทางการรู้คิด

อาการด้านบวก (Positive symptoms) นั้นได้แก่ อาการหลอน (เช่นได้ยินเสียง) หรือมีความชื่อผิด ๆ (ความเชื่อที่ตายตัวและไม่ถูกต้อง) โดยไม่มีสิ่งเร้าภายนอกเป็นตัวกระตุ้น ขณะที่อาการด้านลบ (Negative symptoms) นั้นคือ อารมณ์แบบทื่อ ๆ (หรือเฉยเมย) มีความคิดความอ่านลดลง ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ และไม่ดูแลตัวเอง

ท้ายที่สุดคือทางการรู้คิด (Cognitive symptoms) โดยจะเกี่ยวข้องกับความสนใจ ความจำ และการจัดการในชีวิต (เช่นการจัดระเบียบ การตัดสินใจ หรือการใส่ใจในบางสิ่ง) อย่างไรก็ตาม บุคคลทั่วไปอาจมีประสบการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นในโรคจิตเภทได้เช่นกัน แต่มักจะไม่รุนแรงและเกิดขึ้นน้อยกว่าจนไม่ถือว่าเป็นโรคทางคลินิก

แนวคิดที่ว่าการเลี้ยงแมวอาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านโรคจิตเภทนี้ถูกเสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในงานวิจัยเมื่อปี 1995 โดยเชื่อว่าสาเหตุสำคัญก็คือปรสิตที่ชื่อ Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเฉพาะในแมวเท่านั้น ทำให้แมวเป็นโฮสต์หลัก

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามนุษย์สามารถรับมันเอามาได้หลายทางไม่ว่าจะเป็น การกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ปรุงสุก การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระแมว โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการของ Toxoplasma gondii ที่ชัดเจน แต่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและผู้ที่ตั้งครรภ์

การศึกษาบางชิ้นยังแนะนำว่าปรสิตชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคจิตเภทซึ่งเป็นการติดเชื้อในสมองของมนุษย์และส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน แต่ทว่าแนวคิดนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากวิทยาศาสตร์ ทีมวิจัยจากออสเตรเลียจึงตัดสินใจตอบคำถามดังกล่าว

งานวิจัยใหม่

เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน นักวิจัยจึงเลือกที่จะทำการวิเคราะห์เชิงอภิมาน ซึ่งเป็นเทคนิคทางสถิติที่รวมผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ เรื่องเข้าด้วยกัน ด้วยชุดข้อมูลขนาดใหญ่นี้ จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาแม่นยำยิ่งขึ้น

ทีมงานได้รวบรวมงานวิจัยจากฐานข้อมูลหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น PubMed, Embase, CINAHL และ Web of Science ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 1980 ถึงพฤษภาคม 2023 โดยรวมแล้วได้การศึกษาทั้งหมด 17 รายการจาก 11 ประเทศได้แก่ แคนาดา เอธิโอเปีย อียิปต์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย ตูนิเซีย ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

แม้งานวิจัยจำนวนหนึ่งจะมีคุณภาพต่ำ และผลลัพธ์ก็ไม่สอดคล้องกันในแต่ละงาน ทว่าการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาก กลับบ่งชี้สิ่งที่ชัดเจน นั่นคือ ‘บุคคลที่สัมผัสกับแมวในช่วงชีวิตที่สำคัญตั้งแต่การพัฒนาการก่อนคลอดไปจนถึงอายุ 25 ปี มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติด้านจิตเภทเพิ่มขึ้น’

“มีความเชื่อมโยงในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการเลี้ยงแมวในขอบเขตกว้าง และมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท” แมคเกรธ อธิบาย “หลังจากปรับค่าตัวแปรร่วมแล้ว เราพบว่าบุคคลที่สัมผัสกับแมวจะมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า”

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ แม้จะมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่การวิจัยก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบเฉพาะเจาะจงในการสัมผัสกับแมว (งานวิจัยไม่ได้ระบุว่าสัมผัสแมวแบบใดบ้าง เช่น จับหรือลูบบ่อยแค่ไหน หรือสัมผัสกับกระบะทรายแมวมากเพียงใด) ทำให้ไม่สามารถระบุกระบวนการที่เกิดขึ้นของความเสี่ยงนี้

ทีมวิจัยจึงเสนอแนะว่า การศึกษาในอนาคตควรต้องมีการออกแบบให้เป็นมาตราฐานมากกว่านี้ จัดการกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสนให้ได้ และข้อมูลพื้นฐานทางชีววิทยาของทั้งแมวและมนุษย์ รวมถึงช่วงเวลาของการสัมผัสและเงื่อนไขเฉพาะในการเลี้ยงแมว

“สรุปได้ว่า การทบทวนของเราสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวกับความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท” รายงานระบุและว่า “แต่ทั้งนี้ เราต้องการการศึกษาคุณภาพสูงเพิ่มเติมโดยใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และเป็นตัวแทนเพื่อทำความเข้าใจการเลี้ยงแมวในฐานะปัจจัยเสี่ยง ที่อาจปรับเปลี่ยนได้สำหรับโรคทางจิตเภท”

นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า สำหรับตอนนี้เจ้าของแมวควรจัดการกระบะทรายที่แมวใช้เป็นห้องน้ำให้สะอาด จากนั้นก็ฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพเจ้าเหมียวให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้แมวของคุณก็สามารถนอนทับบนตัวคุณได้อย่างสบายใจ

สืบค้นและเรียบเรียง : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : National Geographic

ที่มา

https://academic.oup.com/schizophreniabulletin/article-abstract/50/3/489/7458104?redirectedFrom=fulltext&login=false

https://www.sciencealert.com/owning-a-cat-could-double-your-schizophrenia-risk-research-suggests

https://www.sciencealert.com/owning-a-cat-could-double-your-schizophrenia-risk-research-suggests


อ่านเพิ่มเติม : “ค้างคาว” สุดยอดผลงานวิวัฒนาการ แพรวพราวยามโบยบิน ทนทานต่อโรคจนน่าฉงน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.