สัมผัสที่หกของตุ๊กแก : การสื่อสารผ่านการสั่นสะเทือน

“นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ตุ๊กแก มีสัมผัสที่ 6

และพวกมันใช้ความสามารถนี้ในการรับสภาพแวดล้อมรอบตัว”

ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดทั้งรูปร่างหน้าตาและเสียงร้องของมัน บางคนเกลียดมันหรือไม่ก็กลัวมัน กลับกันก็มีหลายคนที่ชื่นชอบตุ๊กแกและให้ความรักความดูแล แต่สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว พวกมันดูจะมีความพิเศษมากกว่านั้น 

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Current Biology ได้ชี้ให้เห็นว่าตุ๊กแกใช้อวัยวะในหูชั้นในที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวอย่าง ‘แซกคูล’ (saccule) ในรูปแบบที่แตกต่างออกมา แทนที่มันจะคอยรักษาสมดุลของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่อวัยวะนี้ช่วยให้ตุ๊กแกตรวจจับการสั่นสะเทือนความถี่ต่ำ

“หูทั่วไปตามที่เราทราบนั้นสามารถได้ยินเสียงผ่านอากาศ แต่เส้นทางภายในดั้งเดิมเหล่านี้ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเกี่ยวข้องกับความสมดุล ช่วยให้ตุ๊กแกตรวจจับการสั่นสะเทือนที่เดินทางผ่านตัวอย่างเช่นพื้นดินหรือน้ำ” แคทเธอรีน คาร์ (Catherine Carr) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ กล่าว 

“เส้นทางนี้มีอยู่ในสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและปลา และตอนนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายังมีอยู่ในตุ๊กแกด้วยเช่นกัน ผลการวิจัยของเราช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของระบบการได้ยินจากสิ่งที่คุณเห็นในปลา ไปเป็นสิ่งคุณเห็นในสัตว์บกรวมทั้งมนุษย์ได้อย่างไร” เธอเสริม

ตุ๊กแกนั้นขึ้นชื่อเรื่องเท้าเหนียว ๆ ในการยึดเกาะกับพนังและเพดาน อีกทั้งยังเก่งในการรักษาสมดุลร่างกายในทิศทางต่าง ๆ และเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ตุ๊กแกเองก็มีช่องรับเสียงคล้ายหู พวกมันสามารถได้ยินเสียงที่เดินทางผ่านอากาศมาด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามเมื่อนักวิทยาศาสตร์จับมันมาอยู่ในห้องทดลอง และทำให้ทดสอบกับแรงสั่นสะเทือนระดับต่ำที่อยู่ในช่วง 50 ถึง 200 เฮิรตซ์ (Hz) ซึ่งอยู่ในสเปกตรัมที่ต่ำกว่าการได้ยินด้วยหูเพียงอย่างเดียวมาก ทว่าตุ๊กแกกลับมีปฏิกิริยาตอบสนองได้อย่างน่าทึ่ง 

กล่าวอีกนัย พวกมันได้ยินเสียงของการสั่นสะเทือนระดับต่ำในแบบที่สัตว์อื่น ๆ ส่วนใหญ่รวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกันไม่สามารถได้ยินได้ ต้าเหว่ย หาน (Dawei Han) ผู้เขียนหลักของการศึกษากล่าวว่าการค้นพบความสามารถนี้ในตุ๊กแกจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการสื่อสารและพฤติกรรมของสัตว์อื่น ๆ ที่เคยคิดกันว่ามีข้อจำกัดในการได้ยินมากยิ่งขึ้น

“งูและกิ้งก่าจำนวนมากเคยถูกมองว่าเป็นสัตวที่ ‘เป็นใบ้’ หรือ ‘หูหนวก’ ในแง่ที่ว่าพวกมันไม่สามารถเปล่งเสียงหรือได้ยินเสียงได้ดีนัก” หาน อธิบาย “แต่ปรากฏว่าพวกมันอาจสื่อสารผ่านสัญญาณการสั่นสะเทือนโดยใช้เส้นทางประสาทสัมผัสนี้แทน ซึ่งเปลี่ยนวิธีคิดของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรับรู้ของสัตว์โดยรวมไปอย่างสิ้นเชิง” 

ไม่เพียงเท่านั้นการค้นพบนี้ยังได้ให้เบาะแสใหม่ ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของระบบรับความรู้สึกในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ว่าอาจมีการเปลี่ยนผ่านจากสภาพแวดล้อมในน้ำไปสู่บนบกน่าจะเกี่ยวกับความซับซ้อนและความค่อยเป็นค่อยไปในกลไกการได้ยินมากกว่าที่เคยคิดไว้ และอาจเกี่ยวข้องกับมนุษย์ด้วยเช่นกัน

“ลองนึกถึงตอนที่คุณไปดูคอนเสิร์ตร็อคดูสิ” คาร์ กล่าว “มันดังมาจากคุณรู้สึกได้ว่าศีรษะและร่างกายสั่นไปทั้งตัวในสนามเสียง คุณสามารถรู้สึกถึงเสียงเพลงได้แทนที่จะได้ยินแค่เสียงเท่านั้น ความรู้สึกนั้นบ่งชี้ว่าระบบการทรงตัวของมนุษย์อาจถูกกระตุ้นในระหว่างคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังเหล่านั้น ซึ่งหมายความว่าประสาทการได้ยินและการทรงตัวของเราอาจเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดด้วย” 

ทีมวิจัยหวังว่าการค้นพบนี้จะกระตุ้นให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้ยินของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของเส้นทางรับความรู้สึกนี้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าการเชื่อมโยงระหว่างการได้ยินและการทรงตัวที่เกิดขึ้นใหม่จะเปิดทางใหม่ให้กับการวิจัย และความผิดปกติของการทรงตัว

“ผลที่ตามมาของการวิจัยนี้ขยายออกไปไกลเกินกว่าโลกของสัตว์เลื้อยคลาน” หาน กล่าว “เมื่อเราค้นพบกลไกที่ซ่อนอยู่เหล่านี้ เราก็จะได้รับภาพที่สมบูรณ์และละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่สัตว์รับรู้และโต้ตอบกับสภาพแวดล้อม และอาจได้รับข้อมูลเขิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของเราเองด้วย” 

สืบค้นและเรียบเรียง 

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.cell.com

https://scitechdaily.com

https://www.popsci.com

https://today.umd.edu


อ่านเพิ่มเติม : นักวิจัยไทยค้นพบ จิ้งจกนิ้วยาว ชนิดใหม่ของโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.