รายงานใหม่เผยให้เห็นว่าแมวดูเหมือนจะรับรู้ขนาดร่างกายของตัวเอง แต่รู้แค่ใน ‘บางมิติ’ เท่านั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแมวบางตัวถึงดื้อดึงที่จะมุดลอดผ่านช่องว่างที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย ต่างจากสุนัขที่รับรู้อย่างแจ่มแจ้งว่ามันตัวเล็กพอหรือไม่ในการผ่านช่องว่างก่อนตัดสินใจ
คุณเคยเห็นแมวลอดประตูเล็กๆ หรือเข้าไปในพื้นที่ที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้บ้างไหม? ความตลกของเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2014 เมื่อ มาร์ก-อ็องตวน ฟาร์ดีน (Marc-Antoine Fardin) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยปารีสดีเดโรต์ในฝรั่งเศสได้มองเห็นถึงร่างกายอันยืดหยุ่นที่น่าทึ่งของแมว แล้วจึงคิดขึ้นมาอย่างสนุกสนานว่าจริง ๆ แมวนั้นเป็นของเหลวโดยพื้นฐานหรือไม่?
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นและนิสัยค้นหาความจริงของนักวิทยาศาสตร์ เขาจึงทำการศึกษา ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนั้นทำให้เขาได้รับรางวัล Ig Nobel ในปี 2014 โดยระบุว่าแมวนั้นเป็นของเหลวอย่างแท้จริง ซึ่งกลศาสตร์ของของไหลแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถอธิบายอาการบิดตัวที่น่าประหลาดใจของแมวเมื่อมันผ่านรูเล็ก ๆ ได้
นับตั้งแต่นั้นมาดูเหมือน คำว่า ‘แมวเป็นของเหลว’ ก็แพร่สะพัดไปทั่วโลกและถูกใจทาสแมวจำนวนมาก โดยเฉพาะเวลาที่เราหลายคนมองเห็นสิ่งมีชีวิตขนปุยนี้นอนในท่าต่าง ๆ ที่แปลกประหลาด และยังนอนในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้เช่นขวดโหล ราวกับว่ามันกลายเป็นน้ำอยู่พักหนึ่งแล้วไหลลงไปนอนอยู่ในขวด
และนั่นทำให้วงการวิทยาศาสตร์ที่ดูเหมือนจะไม่หยุดหมกมุ่นกับแมวยังคงตั้งคำถามต่อไปว่าจริง ๆ แล้วแมวรู้ตัวเองหรือไม่ว่าพวกมันมีความสามารถเป็น ‘ของเหลว’ กล่าวอีกอย่างแมวรับรู้ขนาดมิติร่างกายของตัวเองหรือไม่?
ก่อนหน้านี้ในปี 2019 นักวิจัยได้ทำการศึกษาสุนัขโดยพบว่าสัตว์เลี้ยงชนิดนี้มีการรับรู้ขนาดตัวเองอย่างดี ซึ่งทาง ปีเตอร์ พองราซ (Péter Pongrácz) นักพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยเออตเวช โลรานด์ในฮังการี ได้ทำการทดลองให้เจ้าของนำสุนัขของตนเข้าไปในห้องทดลอง
โดยในห้องนั้นจะมีแผ่นไม้ที่มีรูสี่เหลี่ยมซึ่งปรับขนาดได้ติดตั้งอยู่ นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อรูมีขนาดใหญ่ขึ้น สุนัขก็จะเดินผ่านเข้าไปอย่างไม่ลังเลเพื่อกลับไปหาเจ้าของที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของห้อง แต่เมื่อ พองราซ ปรับให้รูดังกล่าวมีขนาดเล็กลง เจ้าหมาก็เริ่มลังเลหรือถึงขั้นปฏิเสธที่จะเดินผ่านไป
สำหรับนักวิจัยแล้ว พฤติกรรมนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า พวกมัน (สุนัข) รู้ตัวเองว่าเข้าไปไม่ได้หรือช่องว่างดังกล่าวอาจไม่พอดีตัวที่จะผ่านไป ซึ่งหมายความว่าสุนัขรับรู้ขนาดร่างกายของตัวเองเป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นแมวล่ะ? แมวจะมีพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้หรือไม่? นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยใหม่ในปี 2024
“โดยพื้นฐานแล้ว พวกมันก็เหมือนกับของเหลว” พองราซ กล่าว เขาพบว่าจริง ๆ แล้วแมวนั้นไม่ใช้การรับรู้ด้านร่างกาย แต่แมวจะใช้การลองผิดลองถูกเพื่อหาทางลอดช่องว่างนั้นไปให้ได้
ในการทดลองล่าสุดนี้ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบคล้ายเดิมนั่นคือนำรูแผ่นไม้ที่ปรับขนาดได้ไปยังบ้านที่แมวอาศัยอยู่ จากนั้นก็ดูว่าพวกมันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร และผลที่ได้ต่างจากสุนัข เพราะแม้รูดังกล่าวจะมีขนาดเล็ก แมวหลายตัวก็ยังไม่รู้สึกลำบากใจที่จะลอดผ่าน โดยมีแมวมากกว่า 30 ตัวที่ทำสำเร็จ
แต่ความน่าประหลาดใจเกิดขึ้นเมื่อ พองราซ ได้ปรับลดเฉพาะ ‘ความสูง’ ของรูโดยขยาย ‘ความกว้าง’ ขึ้น เจ้าตัวร้ายขนปุยเหล่านี้กลับแสดงท่าทีแตกต่างออกไป พวกมันลังเล ตรงกันข้ามหากนักวิทยาศาสตร์เพิ่มความสูงให้สบายแต่ลดความกว้างลง แมวส่วนใหญ่กลับไม่ลังเลที่จะข้ามไป
สิ่งเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร? ทีมวิจัยระบุว่า แมวนั้นรู้ว่าตัวเอง ‘สูงแค่ไหน’ แต่ไม่รู้ว่าตัวเอง ‘กว้างแค่ไหน’ เนื่องจากพวกมันมีปัญหากับช่องว่างที่ถูกปรับลดความสูงลง กล่าวอีกอย่าง พวกมันรับรู้ร่างกายตัวเองในบางมิติเท่านั้น และใช้ ‘ความพยายาม’ ในการบอกว่าช่องว่างดังกล่าว ‘พอดี’ กับร่างกายตัวเองหรือไม่
“ไม่เหมือนกับสุนัข แมวนั้นไม่เคยหยุดพยายามเลย” พองราซ กล่าว “(แมว)ไม่มีการชะลอตัวในขณะที่พวกมันเบียดเข้าไป ในกรณีนี้ พวกมันไม่ได้ใช้การรับรู้ขนาดร่างกายทั้งหมด”
แต่แมวทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ตามข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NCBI) เผยว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้แมวสามารถ ‘ไหล’ ผ่านช่องว่างเล็ก ๆ ได้เหมือนของเหลวก็คือ “ช่วงไหล่” ที่มีลักษณะเฉพาะของมัน
สำหรับมนุษย์แล้ว “ไหล่” นั้นประกอบด้วยไหปลาร้าและกระดูกสะบักที่เชื่อมต่อกันอย่างแข็งแรงเพื่อจะช่วยพยุงกล้ามเนื้อแขนได้อย่างคล่องแคล่ว อย่างไรก็ตาม สะบักของแมวจะยึดติดกับร่างกายด้วยกล้ามเนื้อเท่านั้นไม่ใช่กระดูก ขณะเดียวกันกระดูกไหปลาร้าของแมวก็มีสัดส่วนที่เล็กกว่ามนุษย์มาก
ด้วยลักษณะพิเศษเหล่านี้ทำให้แมวสามารถปรับเปลี่ยนร่างกายของตัวเองให้เบียดผ่านช่องว่างที่เปิดแคบได้ ซึ่งให้ประโยชน์มหาศาลสำหรับแมว
“การสามารถเข้าไปในพื้นที่แคบ ๆ ได้ถือเป็นข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการล่าเหยื่อตัวเล็กเช่น หนู และยังช่วยในการซ่อนตัวกับหลบหนีจากนักล่าที่อาจเป็นไปได้อีกด้วย” นาธาลี ดาวเกรย์ (Nathalie Dowgray) จากสมาคมอายุรศาสตร์โรคแมวนานาชาติ (International Society of Feline Medicine) ในสหราชอาณาจักร กล่าว
ขณะเดียวกันแมวก็มีอาวุธพิเศษอีกหนึ่งชิ้นคือ ‘หนวด’ ที่มีความหนาเป็น 2 เท่าของขน ซึ่งช่วยป้องกันและอยู่ลึกเข้าไปในผิวหนังมากกว่า 3 เท่า หนวดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แมวรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวมันเอง (และก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมไม่ควรตัดหนวดแมว)
“โคนหนวดแต่ละเส้นมีปลายประสาทจำนวนมาก ทำให้แมวมีระบบนำทางที่ไวต่อความรู้สึกสูง ซึ่งถ่ายทอดข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมร้อบตัว” ดาวเกรย์ กล่าวและว่า “หนวดยังทำหน้าที่รวมถึงการตัดสินขนาดพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนพยายามเบียดตัวเข้าไป”
ดาวเกรย์ยังเสริมอีกว่า ช่องว่างเล็ก ๆ ก็ได้ให้ประโยชน์ทางใจด้วยเช่นกัน “แมวมักจะเลือกที่ซ่อนตัวในพื้นที่เล็ก ๆ เช่นใต้เตียง เมื่อมันรู้สึกเครียดหรือหวาดกลัว เพราะจะช่วยให้แมวรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น”
เช่นเดียวกัน “แมวจะเลือกพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัวเมื่อต้องการเวลาพักผ่อนจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง” ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำทาสแมวทั้งหลายว่า “หลีกเลี่ยงการรบกวนแมวในพื้นที่เล็ก ๆ เว้นแต่คุณกังวลว่านั่นอาจทำให้แมวได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบาย”
.
สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ : Joel Sartore on National Geographic
ที่มา
https://www.cell.com/iscience/fulltext/S2589-0042(24)02024-8
https://www.livescience.com/how-cats-squeeze-through-small-spaces
https://www.sciencenews.org/article/home-experiments-cats-liquid-behavior