ชีวิตของเสือดำในปัจจุบัน และอนาคตที่อาจกำหนดโดยมนุษย์

จากเหตุการณ์สังหาร เสือดำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรีในช่วงปีที่แล้ว ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนในสังคมอย่างมาก และผู้คนในสังคมต่างตระหนักถึงการห้ามล่าสัตว์ในเขตพื้นที่คุ้มครอง นี่อาจจะเป็นแนวคิดที่เราได้เรียนรู้จากเสือดำที่ต้องจบชีวิตไปในวันนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมาทำความรู้จักกับสัตว์ป่าสงวนชนิดนี้ที่กำลังประสบภาวะใกล้สูญพันธุ์ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับในโลก

เกร็ดความรู้เรื่อง “เสือดำ”

เมื่อพูดถึง “เสือดำ” หลายคนอาจคิดว่าเป็นเสือชนิดพันธุ์หนึ่ง หากในความเป็นจริง คำว่าเสือดำ หรือ “black panther” ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ในตัวเอง หากเป็นคำเรียกรวมๆ ถึงสัตว์วงศ์เสือและแมวที่มีขนสีดำ โดยเสือดำนั้นเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับเสือดาว (Leopard)

สีดำของขนนี้เกิดจากยีนที่เรียกว่า Agouti ซึ่งควบคุมการกระจายตัวของสารสี (pigment) สีดำภายในเส้นขน ลักษณะนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเสือดาว ซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียและแอฟริกา ตลอดจนเสือจากัวร์ในแถบอเมริกาใต้

นอกจากนี้ การเกิดสีดำยังมีสาเหตุจากมีเมลานิน (สารสีชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดผิวสีแทน) มากผิดปกติ และสัตว์ที่มีความผิดปกตินี้จึงเรียกว่า “melanistic”

เสือดาวอินโดจีนตัวเมียลายปกติพร้อมด้วยลูกอ่อนของมันที่มีความผิดปกติในเม็ดสีจนกลายเป็นเสือดำ ถูกกล้องถ่ายภาพจับภาพได้ที่ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ภาพถ่ายโดย L. Bruce KeKule

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกว่า “เสือดำ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกมันไม่มีลวดลาย เพียงแต่มองเห็นยากเท่านั้น หากมีแสงส่องตกกระทบในมุมที่พอดี เราก็อาจเห็นลวดลายบนตัวเสือดำเหล่านี้ได้

เท่าที่มีรายงาน เราพบความผิดปกตินี้ในสัตว์วงศ์เสือและแมวจำนวน 13 ชนิด แต่ยังไม่เคยพบในแมวใหญ่อย่างเสือโคร่งและสิงโต (แต่พบในเสือจากัวร์)

สำหรับข้อมูลการผสมพันธุ์ เสือดำผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน 98-105 วัน ออกลูกครั้งละ 1-5 ตัว และอายุเฉลี่ย 20 ปี

(รับชมวิดีโอการปรากฏตัวของเสือดำชนิดหายากในประเทศเคนยา)

สำหรับเสือดำที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทย เป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือดาว (Indochinese leopard) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera pardus delacouri มีรายงานการกระจายพันธุ์ จากอินโดนีเซียถึงจีนตอนใต้ และถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endangered: EN) ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN Red List) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายของไทย โดยข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อปี 2561 ระบุไว้ว่า  สำรวจพบเสือโคร่งในป่าประมาณ 150 ตัวทั่วประเทศ และเป็นเสือดาว 100 – 130 ตัว ในจำนวนนี้เป็นเสือดำอยู่เพียงแค่ 15 ตัวเท่านั้น ซึ่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง เป็นสถานที่ที่มีประชากรเสือดาวและเสือดำเยอะที่สุดในประเทศไทย

ลักษณะนิสัยโดยทั่วไป เสือดำนั้นปีนต้นไม้เก่งกว่าเสือโคร่ง ว่องไวและดุ  รักสันโดษ ชอบหลบซ่อนตัว จะอยู่เป็นคู่ในระยะผสมพันธุ์เท่านั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์

เหตุผลที่เสือดำมักถูกล่ามักเป็นเรื่องของการเอากระดูกและเครื่องในเพื่อเอาไปทำยาจีน หรือเป็นเพียงการล่าเอาหนังเพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน อันเป็นภัยที่คุกคามเสือดำมากที่สุด รองลงมาคือการลดลงของเหยื่อหรือแหล่งอาหารของเสือดำ เนื่องจากปัญหาการลักลอบล่าสัตว์ในชนิดอื่นๆ รวมไปถึงการทำลายและรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยในป่า และโรคระบาด

ในส่วนของการอนุรักษ์ นอกจากประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่าก็พยายามให้สภาพป่าที่อยู่อาศัยของมันมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนเสือดำเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต

เสือดำตัวโตเต็มวัย จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ภาพถ่ายโดย L. Bruce KeKule

“ตัวอย่างเชิงประจักษ์” ของโทษจากการล่าเสือดำ

หลังจากคดีการล่าเสือดำอันโด่งดังอยู่ในการติดตามของผู้คนในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันนี้ (19 มีนาคม) ว่าให้ผู้กระทำผิดท่านนั้นจำคุก 16 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยมีรายละเอียดคำพิพากษาดังต่อไปนี้

ข้อหาที่ 1 ร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต – จำคุก 6 เดือน

ข้อหาที่ 2 ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า – จำคุก 8 เดือน

ข้อหาที่ 3 ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต – จำคุก 2 เดือน

ในส่วนข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากเสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลพิพากษายกฟ้อง

ความเห็นของผู้คนในสังคมที่มีต่อคำพิพากษาในคดีนี้อาจมีความเห็นแตกต่างกัน บางคนอาจมองว่าเป็นคำตัดสินที่เหมาะสมแล้ว หรือบางคนอาจมองว่าไม่สามารถเทียบเท่าได้กับการที่เสือดำ 1 ตัวที่ต้องตายไป เพราะทำให้โอกาสการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของพวกมันต้องลดลงไปอีก แต่คดีนี้ก็ทำให้เห็นถึงมาตรการทางสังคมที่จับตาและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายด้านสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ซึ่งเคยเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ “เสือดำต้องไม่ตายฟรี” โดยการรณรงค์นี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมจับตามองการพิพากษาคดีเสือดำ และไม่ถูกละเลยอย่างที่มีความวิตกกังวลกันก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ และผู้กระทำผิดได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในระหว่างนี้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องติดตามคำตัดสินคดีนี้ในชั้นศาลที่เหลือต่อไป

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราได้จากคดีนี้คือความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมของบุคคลทั่วไป ก่อนหน้านี้ การอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำงานด้านนี้ซึ่งมีอยู่น้อยนิด และพวกเขาไม่ได้เป็นบุคคลผู้เป็นที่นึกถึงจากสังคมมากนัก แต่ในวันนี้เราได้เห็นบทบาทและความสำคัญในการทำงานของพวกเขามากขึ้น รวมไปถึง “สำนึกรักษ์ธรรมชาติ” ของบุคคลทั่วไปที่เผื่อแผ่ไปยังสิ่งแวดล้อมและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ นอกจากเสือดำ จนเรื่องนี้ได้กลายเป็นฉันทามติร่วมของทุกคนในสังคมในที่สุด

แม้เสือดำที่ตายแล้วไม่อาจฟื้นคืนมา แต่เราเชื่อว่าจิตใจที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมไทยได้ถูกปลุกขึ้นมาแล้ว


อ่านเพิ่มเติม เสือดาว (สีดำ) ปรากฏตัวอีกครั้งในแอฟริกา ในรอบ 100 ปี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.