ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Marine Pollution Bulletin โดยนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการสัตว์ทะเลแห่งมหาวิทยาลัยดู๊ก ระบุว่าการใช้เสียงสะท้อนเพื่อรับรู้สะภาพแวดล้อมหรือที่รู้จักกันชื่อ เอคโคโลเคชั่น (Echolocation) ของสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถนี้ไม่ว่าจะเป็นวาฬหัวทุย โลมาปากขวด และวาฬอื่น ๆ ที่ดำน้ำลึก อาจเข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกคืออาหารและกินเข้าไปได้
“วาฬที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกเป็นวาฬที่มีพลาสติกอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมาก มากกว่าวาฬสายพันธุ์อื่น ๆ” แมทธิว ซาโวคา (Matthew Savoca) นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าว
นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานแล้วว่าวาฬที่ดำน้ำลึกเหล่านี้ ซึ่งบางตัวดำลงไปเกือบ 3,000 เมตรนั้นจะมีความสับสันระหว่างพลาสติกกับเหยื่อหรือไม่ หากพวกมัน ‘ฟังดูคล้ายกัน’ ความผิดพลาดดังกล่าวก็อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะ “พลาสติกเข้าไปเติมเต็มกระเพาะ(และ)ลำไส้ของพวกมัน ซึ่งสามารถขัดขวางไม่ให้อาหารผ่านเข้าไปได้” ซาโวคา เสริม
ดังนั้น เกร็ก เมอร์ริลล์ (Greg Merrill) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยดู๊กและเพื่อนร่วมงานของเขาจึงทำการทดสอบสมมติฐานนี้ด้วยการตรวจสอบความแรงของเสียงสะท้อนจากขยะพลาสติกที่เก้บมาจากทะเลโดยตรง ซึ่งรวมถึงเชือก ถุงพลาสติก ขวด และสิ่งของอื่น ๆ ที่มักพบในกระเพาะของวาฬที่เกยตื้น
ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ยังได้ทำการทดสอบกับหมึกยักษ์แอตแลนติก (Lolliguncula brevis) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเหยื่อที่เป็นเซฟาโลพอดของวาฬที่ดำน้ำลึกอย่างวาฬหัวทุย และยังมีจะงอยปากหมึกที่คล้ายกันกับที่พบในกระเพาะของวาฬ แต่หมึกยักษ์แอตแลนติกนั้นหาได้ง่ายกว่า
จากนั้นทีมวิจัยได้วางอุปกรณ์พลาสติกและเหยื่อทีละชิ้นบนแท่นขุดเจาะใต้น้ำนอกชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา แล้วส่งเสียงที่มีความถี่ต่างกัน 3 ความพี่ได้แก่ 38 กิโลเฮิรตซ์, 70 กิโลเฮิรตซ์ และ 120 กิโลเฮิรตซ์ โดยทั้ง 3 ความถี่นี้ครอบคลุมช่วงที่วาฬใช้ทั้งหมด และท้ายที่สุดเครื่องจะวัดความแรงของเสียงสะท้อนที่สะท้อนกลับมาจากอุปรณ์แต่ละชิ้นเพื่อดูว่าวาฬจะรับรู้อะไรได้บ้าง
“มันน่าประหลาดใจมาก” เมอร์ริลล์ กล่าว เนื่องจากทีมวิจัยพบว่าขยะพลาสติกทั้งหมดต่างส่งเสียงสะท้อนกลับมาออกในระดับเดียวกัน หรือบางครั้งอาจดังกว่าสิ่งที่เป็นเหยื่อด้วยซ้ำ ซึ่งบ่งชี้ว่า “สัตว์เหล่านี้กำลังมีปัญหาในการรับรู้ความแตกต่างระหว่างพลาสติกและเหยื่อ”
โดยสรุปแล้ว ขยะส่วนใหญ่มักจะมีเสียงเหมือนอาหาร โดยเฉพาะฟิล์มพลาสติกและเศษพลาสติกที่ดังกว่าชนิดอื่น ๆ และมักเป็นขยะพลาสติกที่พบในซากวาฬที่ตายแล้วหลายครั้ง
“พลาสติกมีหลายร้อยประเภทและคุณสมบัติของวัสดุต่าง ๆ เช่น องค์ประกอบทางพอลิเมอร์(สารเคมี) สารเติมแต่ง รูปร่าง ขนาด อายุการใช้งาน และระดับของการเกาะติดอาจมีบทบาทในการตอบสนองแบบเฉพาะในคลื่นความถี่ที่สังเกตได้” ผู้เขียนรายงานระบุ
วาฬเหล่านี้อยู่มานานมากและใช้วิธีนี้ในการหาอาหารมามากกว่า 25 ล้านปี แต่พลาสติกพึ่งจะมาถึงโลกเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา “สิ่งของเหล่านี้ค่อนข้างใหม่ในสิ่งแวดล้อมของพวกมัน” ซาโวกา กล่าว ดังนั้นพวกมันจึงกำลังติดอยู่ในกับดักที่มนุษย์สร้างขึ้น
“(ผลการศึกษานี้) เป็นข้อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายมลพิษพลาสติก ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนองค์ประกอบของพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้(วาฬ)เข้าใจผิดว่าเป็นเหยื่อตามธรรมชาติของพวกมัน” ลอร่า เรดาเอลลี (Laura Redaelli) นักชีววิทยาทางทะเลที่ได้ศึกษางานคล้าย ๆ กัน กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา