การวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่าผู้คนไม่ได้แค่คิดไปเองเท่านั้น แต่สุนัขและเจ้าของยังมีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งตั้งแต่ทรงผมที่เหมือนกันไปจนถึงอุปนิสัยที่ไปในทิศทางเดียวกัน
หากได้ลองเดินเข้าไปในงานสัตว์เลี้ยง การประกวดของน้องหมาน้องแมว หรือไม่ก็เยี่ยมเพื่อนที่เลี้ยงสัตว์มานาน เราจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างได้ทันทีในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง บางคู่อาจแต่งตัวคล้ายกัน นิสัยเหมือนกัน หรือแม้แต่หน้าตาที่ดูเหมือนกันอย่างน่าประหลาดใจ
แต่สิ่งมีชีวิต 2 สายพันธุ์ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมนี้จะมีความคล้ายกันได้อย่างไรในเมื่อทั้งคู่ไม่ได้สืบเชื้อสายมาจาก ‘พ่อและแม่’ คนเดียวกัน แต่ปรากฏว่ามีจริง ๆ ที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้สนับสนุนแนวคิดดั้งเดิมนี้ว่า อย่างน้อย ๆ สุนัขก็มีหน้าตากับนิสัยเหมือนเจ้าของ
การตรวจสอบงานวิจัย 15 รายการจากทั่วโลกเมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าไม่เพียงแต่คนและสัตว์เลี้ยงของพวกเขาจะมีหน้าตาและพฤติกรรมคล้ายกันเท่านั้น แต่ความคล้ายคลึงกันระหว่างบุคลิกภาพของทั้งคู่ยังลึกซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ในการศึกษาเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ขอให้อาสาสมัครในงานวิจัยได้จับคู่รูปภาพของสุนัขและเจ้าของ ซึ่งพวกเขาทำได้ดีกว่าความบังเอิญแบบไม่ตั้งใจ ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองจะอนุมานว่าสุนัขตัวนี้คู่กับเจ้าของคนนี้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ด้วยการเห็นเพียงดวงตาของน้องหมาหรือของเจ้าของเท่านั้น
เช่นเดียวกัน นักวิจัยอีกคนหนึ่งก็พบว่า เจ้าของที่เป็นผู้หญิงนั้นมักจะมีผมยามใกล้เคียงกับความยาวหูสุนัข ยกตัวอย่างเช่นน้องหมาสายพันธุ์โกลเด้นริทรีฟเวอร์ที่หูห้อยลงมาเกือบจะถึงบริเวณคาง เจ้าของที่เป็นผู้หญิงก็มักจะไว้ผมยาวลงมาใกล้เคียงกัน
ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสงสัยว่าเจ้าของมักจะเลือกสุนัขที่ ‘ดูเหมือนตนเอง’ หรือ ‘สะท้อนตัวตนของพวกเขา’ ในทางใดทางหนึ่ง หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกเช่น สุนัขอาจดูเหมือนลูกของตัวเองในเวอร์ชันสุนัขก็ได้
นอกจากนี้ผลการศึกษาก็ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าสุนัขและเจ้าของมีลักษณะบุคลิกภาพที่คล้ายกันโดยเฉพาะการเป็นคนเปิดเผยหรือชอบวิตกกังวล และอุปนิสัยของสุนัขกับเจ้าของก็ดูจะคล้ายกันมากขึ้น งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้เสนอทฤษฏีต่าง ๆ สำหรับสาเหตุนี้
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาจรู้สึกดึงดูดกับสุนัขที่มีลักษณะเหมือนกับพวกเขาตั้งแต่แรก และเมื่ออายุมากขึ้นทั้งสองสายพันธุ์ก็อาจควบคุมอารมณ์ของกันและกัน เสริมพฤติกรรมของกันและกัน รวมถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
“มันคล้ายกับวิธีที่เรามองหาคู่ครองของเราด้วย” ยานา เบนเดอร์ (Yana Bender) หัวหน้าการศึกษาและนักวิจัยระดับปริญญาเอกในกลุ่มวิจัย ‘DogStudio’ ที่สถาบันมักซ์ พลังค์ สำหรับมานุษยวิทยาภูมิศาสตร์ ในเยอรมนี กล่าว สุนัขและเจ้าของมี “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมา เทียบได้กับความสัมพันธ์ของมนุษย์หลาย ๆ ประการ”
บทวิจารณ์ที่เผยแพร่บนวารสาร Personality and Individual Differences ได้ระบุข้อจำกัดหลายประการของงานวิจัยนี้ รวมถึงจำนวนสุนัขและเจ้าของที่ค่อนข้างน้อยซึ่งรวมอยู่ในงานวิจัย นอกจากนี้เจ้าของสุนัขหลายคนที่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษายังมีสุนัขพันธุ์แท้ ทว่านักวิทยาศาสตร์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุนัขพันธุ์ผสม ซึ่งพบได้ทั่วโลกมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น อคติเจ้าของยังมีบทบาทอีกมากด้วย เนื่องจากไม่มีวิธีการมาตราฐานในการประเมินบุคลิกภาพของสุนัข นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องขอให้ผู้คนประเมินสัตว์เลี้ยงของตนเองซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะคิดอย่างเป็นกลางเหมือนกับครอบครัวมนุษย์
ดังนั้นประเด็นสำคัญก็คือ นักวิจัยสามารถแก้ไขอคตินี้ได้โดยการถามเจ้าของถึงคำถามที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของสุนัขในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ว่าลูกสุนัขของพวกเขาเป็นเด็กดีหรือไม่ในสายตาของพวกเขาเอง
แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น อิทธิพลที่กล่าวมาทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์มีต่อสุนัขนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับ บอร์บาลา ตูร์ชาน (Borbála Turcsán) นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (Eötvös Loránd University, ELTE) ในฮังการี ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของสุนัข
เธอประเมินว่าบุคลิกภาพของสุนัขประมาณ 1 ใน 3 นั้นจะมาจากพันธุกรรม แต่อีก 2 ใน 3 จะถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกหล่อหลอมโดยเจ้าของ หากสุนัขอยู่ด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข น้องหมาก็พร้อมที่จะไว้ใจเจ้าของเนื่องจากการเลี้ยงดูมาเป็นเวลานานนับหมื่นปีในประวัติศาสตร์ ก็ทำให้สุนัขผูกพันกับเราอย่างลึกซึ้ง
“ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกก็เหมือนกัน แต่สุนัขสร้างความสัมพันธ์นี้ให้กับมนุษย์ นี่คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสุนัขกับมนุษย์” ตูร์ซาน ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในบทวิจารณ์ใหม่นี้ กล่าว เช่นเดียวกับเด็ก สุนัขจะมองเจ้าของเป็นแบบอย่าง “และเชื่ออย่างไม่ลีมหูลืมตาว่ารู้ดีกว่า”
ตัวอย่างเช่น “ถ้ามีรถบรรทุกมาและเสียงดังมาก สุนัขก็จะหันกลับมามองเจ้าของ หากเจ้าของไม่สนใจ สุนัขก็เรียนรู้ที่จะไม่สนใจ” เธอกล่าว
ตูร์ซาน ยังแนะนำให้ใช้ความไว้วางใจของสัตว์เลี้ยงเพื่อลดความกังวลของน้องหมาเช่น ให้ลูกสุนัขฟังเสียงดังอย่างพลุไฟในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เน้นย้ำต้องมีความปลอดภัย
เบนเดอร์ หวังว่าการศึกษาของเธอจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจสุนัขได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ที่ทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในสาธารณะเช่น สุนัขค้นหาและกู้ภัย สุนัขตำรวบ และสุนัขบริการ
สุดท้าย คำถามสำคัญสำหรับเจ้าของสุนัขที่ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสุนัขคือ “ฉันควรปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไรเพื่อให้พวกเขาเป็นตัวตนที่ดีที่สุดของตัวเอง” เบนเดอร์ กล่าว
ความท้าท้ายนั้นอยู่ในใจของเจ้าของทุกคน เราอาจเลือกรับอุปการะน้องหมาตัวนี้เพราะรู้สึกถูกชะตาในแวบแรกและอาจคิดว่าเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่พฤติกรรมแบบอย่างของเราสามารถส่งผลกระทบอย่างลึกซึ่งต่อพวกเขา น้องหมาอยากจะเป็นเด็กดีของเจ้าของให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสัตว์เลี้ยงในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราคิด ทำ และแสดงออกต่างก็มีผลกับเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และพวกเขาก็มีสมควรได้รับความสุขในความสัมพันธ์
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com