ข่าวน่าเศร้าเกิดขึ้นกับบรรดาสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เมื่อเจ้าหน้าที่พบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งแคมป์ยังบริเวณจุดห้ามตั้ง จากการตรวจสอบภายในเต๊นท์ที่พักพบซากของสัตว์ป่าหลายชนิดได้แก่ ซากเสือดำที่ถูกชำแหละและถลกหนังแล้ว, ซากไก่ฟ้าหลังเทาและเนื้อเก้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือดำ ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์
จากภาพข่าวแม้จะดูเหมือนว่าสัตว์ที่ต้องสูญเสียชีวิตไปกับการล่าเพื่อความบันเทิงอันไม่เกิดประโยชน์นี้จะดูมีจำนวนเพียงน้อยนิด เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในระบบนิเวศแล้วสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น เก้ง สัตว์กินพืชที่พบได้ทั่วไปและมีปริมาณมากนี้ถือเป็นผู้ถ่ายทอดพลังงานในห่วงโซ่อาหาร หากไม่มีเก้ง ผู้ล่าอย่างเสือดาวและหมาในก็ปราศจากอาหาร ส่วนไก่ฟ้าหลังเทา นกขนาดเล็กนี้คุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นตัวหนอน ไส้เดือน หรือผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้น
เพชรกล่าวว่า “เสือดำผู้ล่าสำคัญในระบบนิเวศที่ช่วยควบคุมประชากรของสัตว์อื่นๆ ภายในป่า และปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรของเสือดำเหลือเพียงไม่เกิน 2,500 ตัวเท่านั้น” ความสูญเสียของชีวิตเหล่านี้จึงเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นบทท้าทายสำคัญต่อข้อกฎหมายไทยและการบังคับใช้อีกด้วย เมื่อประชาชนทั่วไปต่างรอดูว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างอุกอาจและน่าสะเทือนใจในพื้นที่เขตอนุรักษ์นี้อย่างไร
สำหรับเสือดำ(Indochinese Leopard) ที่ถูกฆ่าในข่าวนี้ เป็นเสือดาว (Leopard) ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Panthera pardus ปัจจุบันจากการจัดสถานะโดย IUCN พวกมันเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดนมีปัจจัยหลักจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและการล่าโดยน้ำมือมนุษย์
เสือดำเป็นเสือขนาดใหญ่ รองลงมาจากเสือโคร่ง มีขนาดและรูปร่างเหมือนเสือดาวทุกประการแต่มีสีดำตลอดตัว พบได้ในป่าทุกชนิด ทั้งป่าทึบ ป่าโปร่ง และป่าที่มีโขดหิน ว่องไวและดุ มักอยู่ลำพังตัวเดียว และอยู่เป็นคู่ในระยะผสมพันธุ์เท่านั้น มักกระโดดจากต้นไม้เพื่อจับเหยื่อบนพื้นดินและลากเหยื่อขึ้นต้นไม้ ไม่ให้สัตว์อื่นมาแย่ง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ถ้าหากไม่ถูกล่า มันอาจอยู่ได้ถึง 12-15 ปี
เก้งธรรมดา (barking deer- Muntiacus muntjak) หรืออีเก้ง หรือฟาน เป็นกวางขนาดเล็กสูงถึงไหล่ 45-58 ซม. น้ำหนัก 14-18 กก. สีส้มแกมแดง มีสีดำปนตามตัวตามขาขึ้นอยู่กับชนิดย่อย มีขนาดเล็กกว่าเนื้อทรายเล็กน้อย ลูกเล็กบางตัวมีจุดขาวตามตัว ตัวเมียและลูกไม่มีเขา เขาของเก้งสั้นกว่าของกวางมาก เขี้ยวคมมาก ใช้แทะเปลือกไม้ได้อย่างดี ชอบอยู่เดี่ยว อยู่เป็นคู่ หรืออยู่ด้วยกันสองสามตัวพ่อแม่ลูก หากกินลูกไม้ป่าและหญ้าในเวลากลางคืน และช่วงเช้าหรือเย็น ค่อนข้างเชื่อง ในหนังสือ สัตว์กีบ ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ ดร. จารุจินต์ นะภีตะภัฏ บรรยายว่า “เวลาเห็นหรือได้กลิ่นอะไรแปลก ก็มักร้องดัง ‘เอิ๊บ เอิ๊บ’ ทุก 5-6 วินาที เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณให้พวกพ้องรู้ บางครั้งก็ร้องอยู่นานจนพรานรีบวิ่งย่องเข้าไปยิงได้ใกล้ๆ เวลาได้ยินเสียงพรานเป่าใบไม้ หรือปี่เสียงเล็กๆ แหลมๆ ดัง ‘แอ๋ๆๆ’ มันมักเข้าไปหาและถูกยิงได้ง่ายๆ” เก้งอยู่ได้นานถึง 15 ปี ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ไก่ฟ้าหลังเทา (Kalij Pheasant – Lophura leucomelanos ในกรณีนี้สันนิษฐานว่าเป็นชนิดย่อย ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งเทา (Lophura leucomelanos lineata) ซึ่งอยู่ในเขตป่าตะวันตกตอนบน มีหงอนยาวสีดำ ลำตัวด้านบนมีลายบั้งละเอียดมากสีขาวสลับดำ ทำให้มองเป็นสีเทา ลำตัวด้านล่างสีดำ ข้างอกและข้างลำตัวมีลายขีดสีขาว แข้งและตีนสีเทา อยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าดิบ ที่ราบถึงความสูง 1,600 เมตร เป็นนกประจำถิ่น พบไม่บ่อย หรือพบบ่อยเฉพาะบางพื้นที่ กินแมลง ตัวหนอน ไส้เดือน สัตว์ขนาดเล็ก และเมล็ดพืชบางชนิด เช่น เมล็ดหญ้า ขุยไผ่ ผลไม้สุก เป็นอาหาร เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
อ่านเพิ่มเติม