“บทความนี้ไม่เหมาะสำหรับคุณ หากคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังประหยัดหรือกำลังขัดสนเป็นบางครั้ง” นี่คือข้อความในนิตยสาร Vogue ประจำปี 1929 ในบทความที่มีชื่อเรื่องว่า ‘The Fur Story of 1929’ โดยทางนิตยสารได้แนะนำให้ผู้คนเว้นการซื้อเครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าทั่วไป แต่กลับแนะนำให้ซื้อเสื้อผ้าประเภทขนสัตว์ เนื่องจากเสื้อผ้าดังกล่าวจะเผยให้ทุกคนรู้ว่า “คุณเป็นผู้หญิงแบบไหนและใช้ชีวิตแบบไหน” พวกเขากล่าว
และแนวคิดดังกล่าวยังคงเดินทางมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่านักการตลาดด้านแฟชั่นทุกวันนี้จะไม่ได้เปิดเผยมากนักว่าเสื้อผ้าของพวกเขาทำมาจากอะไร แต่กลยุทธ์ในการทำตลาดเกี่ยวกับสิ้นค้าฟุ่มเฟือยนี้ก็ยังคงเหมือนเดิมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทั้งวัสดุที่หายากและเชิดชูภาพลักษณ์จากการสวมใส่
“(เสื้อผ้าขนสัตว์) ยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางสายตาที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและสถานะทางสัตว์ได้อย่างชัดเจน คล้ายคลึงกับแฟชั่นระดับไฮเอนด์ในโลกปัจจุบัน” ลุยส์ เออเส็ด บรันด์ (Luise Ørsted Brandt) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กล่าวในรายงานเมื่อปี 2019
ขนสัตว์เหล่านี้ได้ทำหน้าที่แรกเริ่มของมันนั่นคือปกป้องตัวสัตว์เองทั้งขนชั้นในและขนชั้นนอกที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายคงที่ ซึ่งมนุษย์ที่ไม่ได้มีขนหนาเช่นเดียวกันสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้เล็งเห็นประโยชน์ดังกล่าวจึงเริ่มนำวัสดุนี้มาปกคลุมร่างกายในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากของยุคโบราณ
ตามหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่ามนุษย์เริ่มใช้ขนสัตว์มาเป็นเสื้อผ้าตั้งแต่สมัยไพลสโตซีน (2,580,000–117,000 ปีก่อน) งานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2021 ได้พบอุปกรณ์ที่ดูเหมือนว่าจะใช้งานเกี่ยวกับขนสัตว์ซึ่งทำจากกระดูกอายุ 90,000 ถึง 120,000 ปี
โดยกระดูกเหล่านั้นเป็นของสุนัขจิ้งจอกและแมวป่า ทำให้มันกลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่า ‘โฮโม เซเปียนส์’ รู้จักการถลกหนังสัตว์ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราเริ่มกลายเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นของโลก
“การศึกษาใหม่(ในขณะนั้น) ทำให้วันที่พบหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นแรกเกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้าถูกเลื่อนออกไป” เอียน กิลลิแกน (Ian Gilligan) ผู้เขียนงานวิจัย กล่าว “และมันตรงกับช่วงเริ่มต้นของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 120,000 ปีที่แล้วพอดี ดังนั้นผมจึงคิดว่านั่นมีความสำคัญมาก มันเป็นช่วงเวลาที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นเสื้อผ้าชิ้นแกรสำหรับการป้องกันความหนาวเย็นในยุคน้ำแข็ง”
นับตั้งแต่นั้นมาขนสัตว์ก็กลายเป็นเครื่องปกคลุมร่างกายหลักของมนุษย์ และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงสถานะโดยเฉพาะกับขนสัตว์ที่ดูดุร้ายอย่างเสือไม่ก็สิงโตและสัตว์ที่หายาก จนทำให้ความต้องการเสื้อขนสัตว์เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่
ตัวอย่างเช่นขนอัสตราฮัน (Astrakhan fur) ที่ทำจากลูกแกะคารากูลที่อยู่ในครรภ์ (Karakul sheep) ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามพ่อค้าชาวอัสตราฮันกลายเป็นขนที่มีราคาแพงที่สุดในโลกในขณะนั้น เนื่องจากความยากในการผลิต โดยผู้ผลิตจะฆ่าลูกแกะในครรภ์ 15-30 วันก่อนคลอดเพื่อให้ได้ขนแกะสีดำ (แม่แกะก็จะถูกฆ่าเช่นเดียวกัน)
ขนชนิดนี้ได้รับความนิยมมาทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ก่อนจะเป็นที่โด่งดังในหมู่ชาววิกตอเรียนและชาวตะวันตก โดย ฟลอเรนซ์ ฮาร์ดิง (Florence Harding) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ และภรรยาของ วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding) ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของอเมริกา ยอมจ่ายเงินกว่า 6,000 ปอนด์สำหรับขนดังกล่าวในปี (คิดเป็นประมาณ 538,413 ดอลลาร์ในปี 2023)
อย่างไรก็ตามแม้จะมีคุณค่าที่หลายคนใฝ่ฝันจะครอบครอง แต่เครื่องนุ่งห่มขนสัตว์ก็เริ่มได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970
การเคลื่อนไหวที่แท้จริงระเบิดออกมาเมื่อนักร้องและนักแสดงภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ดอริส เดย์ (Doris Day) ออกมาพูดต่อต้านขนสัตว์แท้อย่างตรงไปตรงมา และสนับสนุนการใช้ ‘ขนสัตว์เทียม’ มากกว่า โดยกล่าวในโฆษณา Timme & Son ในนิตยสารนิวยอร์กเมื่อปี 1971 ว่า
“การฆ่าสัตว์เพื่อมาทำเสื้อคลุมนั้นเป็นบาป ผู้หญิงจะได้รับสถานะทางสังคมเมื่อเธอปฏิเสธที่จะเห็นสัตว์ถูกฆ่ามาใส่บนหลัง และเมื่อนั้นเธอก็จะสวยงามอย่างแท้จริง”
ตามสถิติแล้วประมาณ 9 ใน 10 คนจะสวมเสื้อผ้าขนสัตว์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งการผลิตเสื้อขนสัตว์แท้ ๆ 1 ตัวต้องใช้วัสดุจากสัตว์อย่างชินชิล่า 300 ตัว หรือไม่ก็มิงค์ 60 ตัว หรือจิ้งจอก 15-40 ตัว และเพื่อไม่ให้ขนที่จะนำไปผลิตได้รับความเสียหาย สัตว์เหล่านี้จะถูกช็อตไฟฟ้าหรือรมแก๊ส จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการต่อไป
ขนแกะก็เช่นเดียวกันแม้จะมีภาพการตัดขนแกะน่ารัก ๆ ให้เห็นอยู่เสมอ แต่อุตสาหกรรมนี้ก็มีอัตราการตายของลูกแกะสูง โดยเฉพาะในออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตขนแกะรายใหญ่ที่สุดในโลก จากรายงานของ Nuffield Australia ระบุว่ามีลูกแกะตายภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด ‘หลายล้านตัว’ ในทุกปีเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
และแม้แกะจะมีอายุได้ถึง 12 ปี แต่ลูกแกะจำนวนมาก็ต้องเสียชีวิตเมื่อมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้นเพื่อนำไปทำเนื้อเป็นอาหาร ความน่าหดหู่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมขนสัตว์ยิ่งชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มิงค์กว่า 17 ล้านตัวของเดนมาร์กถูกกำจัดจากการระบาด และสัตว์อีกจำนวนมากต้องถูกทิ้งตามมาตรการด้านความปลอดภัย
ขณะเดียวกันปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ก็สูงอย่างน่าตก การผลิตขนมิงค์ 1 กิโลกรัมสร้างคาร์บอนสูงกว่าผ้าฝ้าย 31 เท่า สูงกว่าใยอะคริลิก 26 เท่า และสูงกว่าโพลีเอสเตอร์ 25 เท่า นอกจากนี้ยังปล่อยมลพิษในอากาศสูงกว่าฝ้าย 215 เท่าและโพลีเอสเตอร์ 150 เท่า
ทั้งยังต้องใช้น้ำเกือบ 30,000 ลิตรต่อขน 1 กิโลกรัม และในขั้นตอนการขัดขนนั้นสร้างมลภาวะทางน้ำสูงอย่างมาก มากกว่าโพลิเอสเตอร์ 1 กิโลกรัมเกือบ 400 เท่า
“การขัดขนสัตว์ก่อให้เกิดกระแสน้ำเสียที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ซึ่งจุลินทรีย์ทางชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ยากมาก โดยเฉพาะส่วนประกอบของไขมัน” Woolwise Report ระบุ
แม้ในปัจจุบันเครื่องนุ่งห่มจากขนสัตว์จะได้รับความนิยมลดลง เช่นในสหรัฐอเมริกาที่ฟาร์มมิงค์ลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นจาก 2,836 แห่งที่บันทึกไว้ต้นทศวรรษปี 1940 เหลือเพียง 351 แห่งในปี 2000 อย่างไรก็ตามข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2023 เผยว่าแบรนด์หรูบางแบรนด์ยังคงใช้ขนสัตว์จริง เช่น Dior, Louis Vuitton, Fendi และ Carolina Herrera
แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ห้ามการขายเสื้อผ้าขนสัตว์ใหม่ โดยร่างกฎหมายหมายเลข 44 ของรัฐสภาผ่านเมื่อปี 2019 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 กฎหมายดังกล่าวได้ห้ามการขายเสื้อผ้าขนสัตว์ใหม่ทั้งในรัฐและทางออนไลน์ แต่ไม่ได้ห้ามการขายขนสัตว์มือสองซ้ำ
แต่การสวมใส่และการเป็นเจ้าของขนสัตว์ หรือการผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หนังและขนแกะ จะมีโทษค่าปรับ 500 ดอลลาร์สำหรับการละเมิดครั้งแรก, 750 ดอลลาร์สำหรับการละเมิดครั้งที่สอง และ 1,000 ดอลลาร์สำหรับการละเมิดแต่ละครั้งที่ตามมา
ในสหรัฐอเมริกา มีเมืองอย่างน้อย 12 แห่งนอกแคลิฟอร์เนียที่ห้ามการขายเสื้อขนสัตว์ใหม่เช่นกัน หลายประเทศห้ามมีการทำฟาร์มขนสัตว์ และในปี 2021 อิสราเอลก็กลายเป็นประเทศแรกที่ห้ามการขายขนสัตว์ใหม่ทั่วประเทศ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพ Paolo Marchetti
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com
https://materialinnovation.org