นกอพยพมีเพื่อนคู่ใจหรือไม่ ผลการวิจัยครั้งใหม่เผยถึงความสัมพันธ์ชวนพิศวงของนก

“หลังจากสังเกตการณ์มาเป็นเวลากว่าสิบปี

นักวิจัยเผยว่านกชนิดเดียวกันและใกล้เคียง

อาจสร้างสายสัมพันธ์เพื่อนร่วมทางในฤดูอพยพ”

ช่วงเดือนกันยายนของทุก ๆ ปี นกในอเมริกาตอนเหนือกว่าพันล้านตัวจะอพยพย้ายถิ่นหนีความหนาวเย็นไปอาศัยอยู่ทางซีกโลกใต้ ปรากฏการณ์นี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีงานวิจัยที่เหมือนเปิดประตูสู่ความเข้าใจพฤติกรรมนกเผยแพร่ ผลการบันทึกจากแหล่งอพยพทั้งหมดห้าแหล่งในแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคทะเลสาบใหญ่ของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่านกต่างชนิดก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในฤดูอพยพได้

นอกเหนือจากนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสารของ Proceedings of the National Academy of Sciences  ยังเผยว่าความสัมพันธ์ระหว่างนกมีความลึกซึ้งในเชิงนิเวศอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์เหล่านี้กำลังถูกรุกรานโดยผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากมนุษย์ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มนกอพยพมาโดยตลอด และวิจัยล่าสุดนี้ก็ได้ใช้ข้อมูลจากการติดตาม Songbirds หรือก็คือนกจำพวกหนึ่งที่มีเสียงไพเราะ จำนวน 50 ชนิดซึ่งถูกบันทึกมาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับเครือข่ายทางสังคมอันซับซ้อนของนก

วิธีที่นักวิจัยใช้ศึกษาการอพยพของนกคือการใช้ตาข่ายดักจับนกตามจุดแวะพักระหว่างการอพยพ (stopover sites) มาใส่ห่วงขาระบุหมายเลขประจำตัว เป็นวิธีนี้เองที่ช่วยให้นักวิจัยพบร่องรอยของการสร้างปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มนกชนิดนี้

ทุก ๆ ฤดูใบไม้ผลิ นก American redstarts นก Magnolia warbler และนก Chestnut-sided warblers มักจะถูกพบในตาข่ายเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก็คือระหว่าง 20 ถึง 45 นาที เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับนก White-throated sparrows นก Ruby-crowned kinglets และนก Yellow-rumped warblers ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเช่นกัน ผลการสังเกตการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในช่วงของการอพยพ นกพวกนี้ไม่ได้หยุดบินทุกครั้งที่รู้สึกเหนื่อยหรือหิว แต่พวกมันเดินทางอย่างมีแบบแผนต่างหาก

“การศึกษาเรื่องการอพยพของสัตว์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” เอมิลี โคเฮน (Emily Cohen) นักชีววิทยาด้านการอพยพของสัตว์ ณ University of Maryland Center for Environmental Science (UMCES) หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าว “แต่จริง ๆ มันก็คือการสังเกตการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของสัตว์ต่างชนิด อย่างในมหาสมุทรก็มีปลาและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในกระแสน้ำเดียวกัน บนอากาศก็มีเหล่าแมลง นกและค้างคาว”

“แน่นอนว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งเดียวกันย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่แล้ว” โคเฮนเสริม

นกมีเพื่อนคู่ใจหรือไม่

วิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของปฏิสัมพันธ์ระหว่างนก เพียงแต่เน้นสังเกตการณ์ว่านกชนิดใดบ้างที่มักจะปรากฎในช่วงเวลาเดียวกันหรือในทางตรงกันข้ามคือนกชนิดใดบ้างที่ไม่โผล่มาให้เห็นในแหล่งเดียวกันเลยเท่านั้น

“ข้อมูลของเราบอกไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ของนกเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ในเชิงที่ดีหรือไม่ดี” โจลีย์ เดอซีโมน (Joely DeSimone) นักวิจัยอีกหนึ่งท่าน กล่าว “ภาพนกบินไล่กันที่เราเห็นอาจเป็นพฤติกรรมหยอกล้อระหว่างนกในฝูงเดียวกัน หรืออาจเป็นพฤติกรรมเชิงทะเลาะวิวาทก็ได้”

แต่ในขณะเดียวกันทีมวิจัยก็พบว่า Songbirds มักแสดงความเป็นมิตรมากกว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ข้อมูลจากการติดตามเผยว่าในบรรดา 50 ชนิด มีเพียงนกเขนท้องแดงอเมริกัน (American redstarts) และ นก Ruby-crowned kinglets เท่านั้นที่มักจะหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กันด้วยเหตุใดยังไม่อาจทราบได้

พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นมิตรนั้นเกิดขึ้นในกลุ่มนกที่มีวิธีหาอาหารใกล้เคียงกัน จึงสร้างความประหลาดใจให้กับกลุ่มนักวิจัยอย่างมาก “เรานึกว่าจะได้เห็นการแข่งขันในกลุ่มนกที่กินอาหารประเภทเดียวกัน” เดอซีโมนเอ่ย

คุณลองจินตนาการภาพนกหลายล้านตัวที่บินออกเดินทางมาเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้หยุดพักสิ  “นกพวกนี้อยู่ในภาวะหิวโซและต้องกินเพื่อเพิ่มพลังและเพิ่มไขมันสะสมในร่างกายให้บินต่อไปได้” เธอเสริม เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากนกตัวหนึ่งจะมองนกอีกตัวเป็นศัตรู 

อย่างไรก็ตาม การที่นกพวกนี้ไม่แสดงอากัปกิริยาก้าวร้าวต่อกันอาจหมายความว่าการสร้างเครือข่ายทางสังคมถือเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกมันเอง

“แถมพวกมันยังต้องรีบหาแหล่งอาหารให้เจอโดยเร็วที่สุด เป็นไปได้ว่านกที่มาใหม่จะได้รับความช่วยเหลือในการหาอาหารกลาย ๆ จากกลุ่มนกที่มาถึงจุดพักและหาแหล่งอาหารเจอก่อน”

ขั้นต่อไปคือการศึกษาลึกลงไปอีกว่าการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มนกมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกกำลังประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งอาหารของพวกมัน

เราและนาย เพื่อนกันตลอดไป

“วิจัยนี้สำรวจการอพยพของสัตว์หลากหลายชนิดในขอบเขตที่กว้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจจริง ๆ ค่ะ” แจเน็ต อิง (Janet Ng) นักชีววิทยาสัตว์ป่า ณ Environment and Climate Change Canada กล่าว

“มีวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตอยู่เยอะ” เธอเสริม “แต่วิจัยนี้ทำให้ได้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น”

การค้นพบครั้งนี้ชวนให้อิงนึกสงสัยว่าอาจมีความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มนกชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจาก Songbirds และยังช่วยทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มนกชายเลนที่เธอกำลังศึกษาอยู่ฟังดูมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานของอิงพบนก Semipalmated sandpipers หรือก็คือนกชายเลนชนิดหนึ่งจำนวนสองตัวยืนอยู่ข้างกันบนชายหาดในรัฐแมสซาชูเซตส์ อาจไม่ใช่ภาพที่ชวนให้รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่เพราะนกชนิดนี้มักจะอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางกว่าพันไมล์ตั้งแต่บริเวณขั้วโลกเหนือไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

แต่สิ่งน่าทึ่งคือการที่ป้ายระบุบนห่วงขาของนกทั้งสองตัวเผยให้เห็นว่าพวกมันถูกจับใส่ห่วงที่รัฐนิวบรันสวิก (New Brunswick) ประเทศแคนาดาเมื่อสองปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะ

“สองปีผ่านไป เราพบนกสองตัวนี้อยู่ด้วยกันอีกครั้ง” อิงกล่าว “พวกมันผ่านฤดูอพยพมาสองรอบแต่ก็ยังอยู่ด้วยกัน พฤติกรรมนี้ทำให้มีคำถามตามมามากมายเลยทีเดียว”

 

เรื่อง Jason Bittel

แปลและเรียบเรียง

พิมพ์มาดา ทองสุข

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : มหากาพย์นกอพยพ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.