วาฬหลังค่อมว่ายน้ำ 13,000 กิโลเมตร ข้าม 3 มหาสมุทร เพื่อผสมพันธุ์

“วาฬหลังค่อมเดินทางไกลกว่า 13,000 กิโลเมตร

ไกลกว่าระยะทางอพยพปกติเกือบ 2 เท่าจนทำลายสถิติของสปีชีส์ตัวเอง”

สัตว์หลายชนิดต่างก็มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในเรื่องการเดินทางไกล ไม่ว่าจะเป็นนกหลายสายพันธุ์ที่บินข้ามทวีป ผีเสื้อที่ดูเปราะบางแต่กลับเดินทางหลายพันกิโลเมตรหรือแม้แต่ข้ามมหาสมุทร ความสำเร็จเหล่านี้เป็นความสามารถที่น่าประจับ และมันก็น่าประทับใจยิ่งขึ้นกับวาฬหลังค่อมตัวนี้ที่มันเดินทางไกลที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา แม้ว่าแรงผลักดันเบื้องลึกเบื้องหลังนี้อาจหมายถึงข่าวร้ายก็ตาม

ในปี 2013 นักวิทยาศาสตร์ถ่ายภาพวาฬหลังค่อมเต็มวัยตัวผู้ตัวหนึ่งนอกอ่าวทริบูกา (Tribugá) บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของโคลอมเบีย โดยมันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวาฬหลังค่อมอีก 7 ตัวซึ่งเป็นการติดตามและเก็บข้อมูลตามปกติที่ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ 

เช่นเดียวกับในปี 2017 วาฬตัวเดียวกันนี้ก็ได้รับการรายงานว่าพบอยู่ที่บาฮีอาซาลาโน (Bahía Solano) นอกชายฝั่งโคลอมเบียในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ห่างจากจุดพบเห็นครั้งแรกประมาณ 78 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติอย่างมากที่จะพบเห็นวาฬหลังค่อมในบริเวณเดิม ๆ 

แต่แล้วในปี 2022 วาฬตัวนี้ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้งที่ไม่ใช่ที่เดิม แต่เป็นนอกชายฝั่งแซนซิบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากจุดที่พบเห็นครั้งแรกกว่า 13,046 กิโลเมตรอย่างไม่มีใครคาดคิด จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบในฐานข้อมูล ‘Happywhale’ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลวาฬทุกตัวที่พบเพื่อระบุตัวตนวาฬจากลายที่หาง และนั่นก็ทำให้พวกเขาประหลายใจอย่างยิ่ง

“นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก เป็นการค้นพบที่พวกเขาคิดกันในตอนแรกว่าต้องมีข้อผิดพลาดบางอย่างแน่ ๆ” เท็ด ชีสแมน (Ted Cheeseman) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว พร้อมเสริมว่า ‘รอยหาง’ ของวาฬนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถระบุตัวตนได้เช่นเดียวกับลายนิ้วมือมนุษย์ “มันเหมือนกับธงระบุตัวตนของวาฬที่ยาว 5 เมตร” 

อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้มีเรื่องผิดปกติซ่อนอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ววาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อพยพไกลที่สุดซึ่งมักจะเดินทางจากแหล่งเพาะพันธุ์เขตร้อน ไปยังแหล่งหากินที่หนาวเย็นตามฤดูกาลเป็นระยะทางเฉลี่ย 8,000 กิโลเมตรในแนวเหนือ-ใต้

ทว่าวาฬตัวดังกล่าวนี้กลับเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกแทนและเป็นระยะทางที่ไกลกว่าระยะทางปกติเกือบ 2 เท่า ทำให้มันเป็นการเดินทางแบบ ‘ระยะทางวงกลมใหญ่ (Great-circle distance)’ ไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา [ระยะทางวงกลมใหญ่ คือระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างสองจุดบนผิวทรงกลมในที่นี้คือโลก ตัวอย่างเช่นกรุงเทพฯ ไปฝรั่งเศส ระยะทางจะไม่ได้เป็นเส้นตรงแบนราบ แต่เป็นเส้นโค้งตามผิวโลกที่กลมแทน]

ไม่เพียงเท่านั้นมันยังเป็นครั้งแรกสุดที่มีการพบว่าวาฬมีการเปลี่ยนแหล่งใช้ชีวิตปกติของมันระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย แต่อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มันทำเช่นนี้ยังคงเป็นปริศนา ซึ่งในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์มี 2 แนวคิดอยู่ในหัว

แรงผลักดันเบื้องหลังที่(อาจ)เป็นไปได้

ทฤษฏีหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงการกระจายของแหล่งอาหาร รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ในมหาสมุทร ทำให้วาฬต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อมองหาอาหารของพวกมันใหม่ 

และอีกแนวคิดหนึ่งก็คือวาฬอาจกำลังสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ใหม่ ๆ เนื่องจากมีประชากรวาฬเพิ่มขึ้นจากความพยายามด้านอนุรักษ์ทั่วโลก ทำให้วาฬอาจต้องการผสมพันธุ์กับกลุ่มประชากรใหม่ ๆ 

“แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยกระตุ้นอาจได้แก่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก เหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง (ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในสถานการณ์ปัจจุบัน) และกลไกวิวัฒนาการของสายพันธุ์” ดร.เอคาเทรินา คาลาชนิโควา (Ekaterina Kalashnikova) จากโครงการแทนซาเนียเซตาเซียนโปรแกรม (Tanzania Cetaceans Program) กล่าว

ขณะเดียวกันทาง ดร.เวเนสซา พิรอตตา (Vanessa Pirotta) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวาฬให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าโดยทั่วไปแล้ววาฬเหล่านี้จะมาที่น่านน้ำออสเตรเลียเพื่อผสมพันธุ์หรือให้กำเนิดลูก จากนั้นพวกมันก็จะกลับไปยังน่านน้ำทางใต้เพื่อหาอาหาร 

แต่จากการติดตามวาฬหลังค่อมเผือกสีขาวล้วนที่ชื่อ ‘มิกาลู’ (Migaloo) ได้แสดงให้เห็นว่าหลายครั้งวาฬมักจะไม่ทำตามวิถีชีวิตปกติของมัน เช่นครั้งหนึ่งมิกาลูควรจะต้องมุ่งหน้าไปยังชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย แต่มันกลับข้ามทะเลไปยังนิวซีแลนด์แทน ดังนั้นจึงเชื่อว่ายังมีข้อมูลเกี่ยวกับวาฬอีกมาที่ต้องเรียนรู้

“การได้ยินเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดีเสมอ โดยเฉพาะในอาชีพการงานของฉัน” ดร.พิรอตตา กล่าว “เรากำลังเรียนรู้มากขึ้นเพราะเรามีเครื่องมือที่จำเป็นมากขึ้น โลกของเราเชื่อมโยงกันมากขึ้น และนั่นก็หมายความว่าเรื่องราวที่เราสามารถบอกเล่าเกี่ยวกับวาฬได้นั้นมีมากกว่าที่เคย” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://royalsocietypublishing.org

https://www.theguardian.com

https://phys.org

https://www.iflscience.com

https://www.bbc.com


อ่านเพิ่มเติม : ถุงพลาสติก หรือ ปลาหมึก?

เสียงโซนาร์ที่สะท้อนจากพลาสติกเหมือนอาหารมากจนวาฬสับสน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.