เพราะ จริง ๆ แล้วกระรอกคือนักล่าตัวร้ายที่กินเนื้อเป็นอาหาร นักวิทยาศาสตร์พบเป็นครั้งแรกว่า บางครั้งกระรอกก็ทิ้งเมล็ดพืชแสนโปรดไปรับประทานเนื้อดิบ ๆ จากเหยื่ออย่างหนู และอาจเป็นเพราะเราเองที่ทำให้กระรอกเปลี่ยนไป
“นั่น! กระรอก” คุณชี้ให้เพื่อนเห็นกระรอกที่วิ่งอยู่ต้นไม้ใกล้ตึกทำงานพร้อมกับกล่าวว่า “น่ารักจังเลย” ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยแม้แต่ในเมืองก็ตามที่กระรอกแก้มอ้วน ๆ วิ่งไปโดยมีหางฟู ๆ ห้อยตามท้ายไป มันเป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้ใครเห็นก็สามารถยิ้มตามได้ แต่แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็พบถึงความดำมืดภายใต้ความน่ารักนั้น
นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกได้ว่ากระอกดิน (ground squirrel) ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองในทุ่งหญ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกล่าเหยื่อที่เป็นหนูนาทั่วไปและทิ้งซากไว้จำนวนมากจนสังเกตได้ ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นแรกสุดที่แสดงให้เห็นว่ากระรอกสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินเมล็ดพืชไปเป็นกินเนื้อได้บางครั้ง“การศึกษานี้เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อกระรอกอย่างสิ้นเชิง” เจนนิเฟอร์ สมิธ (Jennifer Smith) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-โอเแคลร์ ผู้เขียนหลักของการศึกษา กล่าว
“เมื่อเผชิญกับการคุกคามจากมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยแล้ง สัตว์เหล่านี้ก็มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการปรับตัวเพียงพอเพื่อที่จะอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้”
กระรอกนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศในแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการทำความเข้าใจว่ามันมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลกระทบอย่างไร และเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดผ่านทางสังคม(เช่นพ่อแม่สอนลูก) หรือไม่ อาจให้ข้อมูลเชิงลึกได้มากมายต่อทั้งสภาพแวดล้อมและตัวกระรอกเอง
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Journal of Ethology นักวิจัยและนักวิทยาศาสตรพลเมืองได้ร่วมกันสังเกตกระรอกดินในโครงการที่ชื่อว่า ‘Long-Term Behavioral Ecology of California Ground Squirrels’ ซึ่งจัดเป็นประจำทุก ๆ เดือนมิถุนายนและกรกฏาคมของทุกปี
ทีมงานจะจับกระรอกที่มีชีวิต ทำเครื่องหมาย ติดแท็ก และปล่อยมันกลับสู่ธรรมชาติเพื่อติดตามข้อมูลต่อไป แต่พวกเขาไม่เคยคาดหวังหรือคาดคิดเลยว่าจะเจอกับพฤติกรรมสุดฉาวโฉ่นี้ ตลอดช่วง 18 วันของฤดูร้อนในปี 2024 ทีมงานได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมด 74 ครั้งที่กระรอกล่าหนู กินหนู หรือทั้งสองอย่าง
ทีมยังพบอีกว่ามีทั้งกระรอกตัวเต็มวัยและที่ยังไม่โต ทั้งตัวผู้ตัวเมียต่างมีพฤติกรรมนี้โดยมักจะล่ากันเพียงลำพังและบางครั้งก็อาจฉวยโอกาสขโมยหนูจากตัวอื่น พฤติกรรมการกินเนื้อนี้พุ่งสูงสุดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฏาคม ซึ่งตรงกับจำนวนหนูในอุทยานที่เพิ่มขึ้นสูงสุดตามการสังเกตของนักวิทยาศาสตร์พลเมือง
“เรื่องนี้ชวนตกใจมาก” สมิธ กล่าว “เราไม่เคยเห็นพฤติกรรมแบบนี้มาก่อน กระรอกเป็นสัตว์ที่มนุษย์คุ้นเคยที่สุดชนิดหนึ่ง เราเห็นมันอยู่นอกหน้าต่าง เรามีปฏิสัมพันธ์กับมันเป็นประจำ แต่กลับไม่เคยพบพฤติกรรมนี้มาก่อนเลยในทางวิทยาศาสตร์ มันทำให้เราตระหนักได้ว่ายังมีอะไรอีกมาที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโลกที่อยู่รอบตัวเรา”
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่ากระรอกอาจเป็นสัตว์ประเภทกินพืชและสัตว์ที่กินตามโอกาสได้ดีที่สุด โดยพิจารณาจากความเต็มใจที่มันจะล่าเหยื่อและกินเหยื่อที่มีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีเหยื่อปริมาณมาก แต่โปรตีนจากเมล็ดพืชมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโต
ดังนั้นการเปลี่ยนไปกินอะไรที่มีอยู่มากมายจะทำให้กระรอกได้รับสารอาหารที่เร็วกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมล็ดพิชที่ขาดแคลน ความยืดหยุ่นดังกล่าวนี้ทำให้กระรอกกสามารถเอาชีวิตรอดได้เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการคุกคามของมนุษย์
“หนูมีจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี ซึ่งเปิดช่องทางใหม่ในการกินอาหารของกระรอก” สมิธ กล่าว “สิ่งนี้มีความสำคัญ เพราะกระรอกดินเป็นแหล่งเหยื่อหลักของระบบนิเวศแคลิฟอร์เนีย และยังเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง ดังนั้นหากพวกมันทำได้ดีก็มีโอกาสที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะสามารถอยู่รอดและคำรงชีวิตต่อไปได้”
นักวิจัยกล่าวว่ายังคงมีคำถามอีกมากมายที่ต้องการคำตอบเช่น พฤติกรรมล่าเหยื่อนี้เป็นสิ่งทั่วไปในสายพันธุ์หรือไม่ มีการถ่ายทอดอย่างไร และส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร การสังเกตการณ์ในฤดูร้อนครั้งต่อไปอาจให้เบาะแสเกี่ยวกับพฤติรกรมนี้มากขึ้น
“ด้วยความร่วมมือและข้อมูลที่เข้ามานี้ เราสามารถบันทึกพฤติกรรมที่แพร่หลายนี้ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนว่ามีอยู่” สมิธ กล่าว “เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ไม่มีอะไรทดแทนการออกไปและสังเกตพฤติกรรมดังกล่าวได้ เพราะสิ่งที่สัตว์ทำนั้นมักจะทำให้เราประหลาดใจเสมอ”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา