บรรพบรุษโบราณของแมงมุมมีหาง

บรรพบรุษโบราณของแมงมุมมีหาง

เมื่อ 100 ล้านปีก่อน เจ้าสัตว์ตัวจิ๋วแปดขากำลังคลืบคลานผ่านผืนป่าดงดิบที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพื้นที่ของประเทศเมียนมา ด้วยความยาวเพียงไม่ถึงนิ้ว เจ้าแมงมุมโบราณตัวนี้มีอวัยวะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับแมงมุมสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของขา อวัยวะที่ใช้ในการพ่นใย แต่สิ่งที่ทำให้มันพิเศษก็คือ หางยาวที่เต็มไปด้วยเส้นขน

เชื่อกันว่าแมงมุมโบราณนี้อาศัยอยู่ตามเปลือกไม้ ในช่วงกลางยุคครีเทเชียส แต่แล้วยางของต้นไม้ก็เกิดไหลท่วมตัวมันเข้า ส่งผลให้ซากศพของมันถูกเก็บรักษาไว้ในอำพันนานเป็นเวลาหลายล้านปี จนในที่สุดอำพันก้อนดังกล่าวก็มาอยู่ในมือของ Paul Selden นักบรรพชีวินวิทยา ผู้รายงานเกี่ยวกับการค้นพบแมงมุมโบราณนี้ลงในวารสาร Ecology & Evolution เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ว่าแต่ทำไมญาติอันเก่าแก่ของแมงมุมรุ่นใหม่ถึงต้องมีหางด้วย แล้วมันเข้าไปอยู่ในอำพันได้อย่างไร และทุกวันนี้ยังมีแมงมุมลักษณะนี้หลงเหลืออยู่หรือไม่?

มุมมองจากทางด้านหลังของ Chimerarachne yingi specimen
ภาพถ่ายโดย COURTESY OF UNIVERSITY OF KANSAS, KU NEWS SERVICE

 

บรรพบรุษจากยุคโบราณ

ฟอสซิลในอำพัน 4 ชิ้นได้มาจากเหมืองทางตอนเหนือของเมียนมา เจ้าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวยังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่ามันคือแมงมุม “Chimerarachne yingi” ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมันได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ลูกผสมในตำนาน ไคเมร่า เนื่องจากมันมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดอยู่ในตัว

สิ่งมีชีวิตโบราณผู้เป็นบรรพบรุษของแมงมุมสมัยใหม่นี้ดูละม้ายคล้ายคลึงกับแมงมุมปัจจุบันในวงศ์ Liphistiidae ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน และญี่ปุ่น แมงมุมในวงศ์นี้มีจำนวนมากถึง 100 สายพันธุ์ โดยเป็นแมงมุมขนาดกลาง

 


คุณกลัวแมงมุมหรือคุณเรียนรู้ว่าต้องกลัวแมงมุม?

ความกลัวงูและแมงมุมติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดหรือไม่?


 

เจ้าแมงมุมโบราณตัวนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับแมงมุมสมัยใหม่ ลักษณะที่ว่าเช่น เขี้ยว, หนวดที่ใช้รับความรู้สึก รวมไปถึงขาทั้งสี่ข้างที่ใช้ในการเดิน พวกมันสามารถพ่นใยออกมาจากด้านหลังลำตัวได้ โดยที่ขณะนี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าพวกมันมีใยไว้สำหรับใช้ทำอะไร ในแมงมุมสมัยใหม่ใยของพวกมันนอกจากใช้สำหรับดักจับเหยื่อแล้ว ยังใช้นำทางกลับสู่รังอีกด้วย ส่วนสำหรับฟอสซิลแมงมุมโบราณตัวนี้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่าใยของมันอาจมีไว้สำหรับห่อหุ้มไข่

 

Paul Selden นักวิจัยจาก KU ระบุสัตว์จำพวกขาปล้องโบราณตัวนี้ใช้หางเช่นเดียวกับหนวดในการรับสัมผัสจากสิ่งแวดล้อม
ภาพกราฟฟิกโดย มหาวิทยาลัยแคนซัส

การค้นพบหาง

นักวิจัยรู้มานานมากกว่าสิบปีแล้วว่าแมงมุมสมัยใหม่วิวัฒนาการมาจากสัตว์จำพวกขาปล้อง จากตัวอย่างอื่นๆ ที่ค้นพบได้ซึ่งมีอายุราว 290 – 380 ล้านปีก่อน ฟอสซิลใหม่ที่ถูกค้นพบนี้ค่อนข้างสมัยใหม่ เมื่อเทียบกับสัตว์จำพวกขาปล้องอื่นๆ ที่เคยพบมา นอกจากนั้นยังถือเป็นฟอสซิลของแมงมุมมีหางแรกที่เคยค้นพบ

หางที่เต็มไปด้วยขนเส้นเล็กๆ ของมันน่าจะมีไว้สำหรับการสัมผัสสิ่งแวดล้อมรอบตัว Bo Wang ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่าวิวัฒนาการหางในที่สุดแล้วอาจไร้ประโยชน์ในภายหลังเมื่อสัตว์นักล่าตัวนี้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการเดินหาอาหารเป็นการนั่งรอเหยื่อให้เข้ามาติดกับ ซึ่งในที่สุดหางจะไร้ความจำเป็นและหายไปในที่สุด เช่นเดียวกับแมงมุมในปัจจุบันที่ไม่มีหางอีกแล้ว และใช้การรับสัมผัสผ่านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นผ่านเส้นใยแทน

Selden เองเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่าในปัจจุบันแมงมุมมีหางอาจยังคงมีชีวิตอยู่ภายในป่าดิบชื้นของเมียนมา ซึ่งยังไม่ได้รับการสำรวจมากนัก และเนื่องจากว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้มีขนาดเล็กมากๆ จึงเป็นการง่ายที่มันจะไม่ถูกพบเจอ และขณะนี้ตัวเขาเองยังไม่แน่ใจว่าพวกมันเป็นสัตว์มีพิษหรือไม่ แต่ Gonzalo Giribet นักสัตววิทยากล่าวว่า พวกมันไม่น่าที่จะเป็นอันตรายต่อผู้คนได้

 

สุสานอำพัน

ฟอสซิลตัวอย่างที่ถูกค้นพบเป็นเพศผู้ทั้งหมด ดังนั้น Selden จึงตั้งสมมุติฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่พวกมันอาจถูกแช่อยู่ในยางไม้ ในช่วงเวลาที่มันออกจากเปลือกไม้เพื่อมองหาตัวเมีย

อำพันสามารถทำหน้าที่เป็นไทม์แคปซูลสำหรับบรรดาสรรพสัตว์โบราณ ช่วยแช่พวกมันไว้อยู่ในกาลเวลา แค่เพียงเดือนนี้ในเดือนเดียวนอกเหนือจากฟอสซิลของแมงมุมโบราณแล้ว ยังมีรายงานการค้นพบฟอสซิลของนกอายุ 99 ล้านปี ภายในอำพันจากเมียนมาเช่นกัน ส่วนที่ผ่านๆ มาก็มีฟอสซิลหางไดโนเสาร์ และบางส่วนของอวัยวะนก รวมถึงแมงมุมโบราณอีกด้วย ที่เคยถูกพบมาแล้วในก้อนอำพันจากการสำรวจที่ผ่านๆ มา

เรื่อง Elania Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

รีดพิษแมงมุมอันตรายเพื่อช่วยชีวิต

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.