สัตว์น้ำจืด 1 ใน 4 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ : ผลพวงจากการรุกรานพื้นที่ชุ่มน้ำ

“สัตว์น้ำจืด 1 ใน 4 ชนิด กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์”

รายงานใหม่จากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือ IUCN เผยให้เห็นภัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน้ำจืด แม้ทะเลสาบและแม่น้ำจะเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ก็ชัดเจนแล้วว่ามนุษย์แทบไม่ได้ใส่ใจถึงความสำคัญนั้นเลย

นับตั้งแต่ก่อร่างสร้างอารยธรรม มนุษยชาติ ก็ได้ทำลายระบบทรัพยากรน้ำไปอย่างมากมาย เรามีน้ำใช้และมีน้ำกินอย่างไม่เคยขาด จนทำให้สิ่งที่อยู่ในน้ำถูกลดความสำคัญลงไปจนแทบไม่เห็นคุณค่าของสิ่งดังกล่าว 

“ในฐานะนักนิเวศวิทยาน้ำจืด ฉันรู้สึกหงุดหงิดมาก เนื่องจากการอนุรักษ์และการวิจัยต่าง ๆ มีแต่เรื่องสายพันธุ์บนบกและในทะเล” อีวาน โจนส์ นักนิเวศวิทยาน้ำจืดจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน กล่าว 

ความไม่สนใจ ไม่มีการจัดการที่ดี และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายทำให้แม่น้ำที่เคยค้ำจุนชีวิตผู้คนรอบข้างกลายเป็นพิษภัยต่อมนุษย์และต่อสัตว์จำนวนมาก การประเมินความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำจืดที่ครอบคลุมที่สุดครั้งแรกเผยให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจ 

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature ซึ่งจัดทำโดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือ IUCN เผยให้เห็นว่าสัตว์เกือบหนึ่งในสี่ของระบบนิเวศน้ำจืดหรือราว 24% หรือประมาณ 23,000 ชนิด กำลังอยู่ในอันตราย พวกมันใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งโดยเฉพาะปูน้ำจืด กุ้งแม่น้ำ และกุ้งชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติ หลายสายพันธุ์เกือบแทบจะสูญหายไปแล้ว 

“ยิ่งไปกว่านั้น เราเข้าใจสถานการณ์ของสปีชีส์น้ำจืดอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งหลายชนิดมีความอ่อนไหวต่อมลพิษสูง” โจนส์ บอก 

สปีชีส์ที่ถูกมองข้าม

แม้ตัวเลข 24% นี้จะใกล้เคียงกับจำนวนใกล้สูญพันธุ์ราว 23% ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกเป็นหลัก แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทอาศัยอยู่แล้ว 24% ถือเป็นตัวเลขที่มหาศาลและน่าตกใจ 

อีกทั้งมันยังชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำจืดนั้นมีข้อมูลอยู่น้อยนิดเพียงใด เนื่องจากสัตว์ประเภทอื่น ๆ ต่างก็มีการประเมินอย่างครอบคลุมมานานกว่า 20 ปีแบบซ้ำ ๆ อยู่ในหลายครั้ง ดังนั้นรายงานใหม่จาก IUCN นี้จึงได้เน้นย้ำว่าต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางเหล่านี้

“จากการประเมินนี้ ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าจะต้องมีการพัฒนานโยบายที่ปกป้องและสนับสนุนสายพันธุ์น้ำจืด ซึ่งหมายถึงการคิดถึงพื้นที่น้ำทั้งหมดโดยรวม แทนที่จะคิดถึงพื้นที่โดยตรงที่สายพันธุ์นั้นอาศัยอยู่” โจนส์ เสริม 

นอกจากนี้ยังหมายถึงให้มุ่งเน้นไปยังความเชื่อมโยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น แม่น้ำและทะเลสาบที่เชื่อมต่อกัน คุณภาพน้ำที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล ไปจนถึงวัฏจักรของน้ำและการเคลื่อนย้ายของสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ประเภทปู กุ้งแม่น้ำและกุ้งก้ามกราม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดโดยกว่า 30% นั้นใกล้สูญพันธุ์แล้ว

ขณะเดียวกันปลาน้ำจืดอีกร้อยละ 26 ก็อยู่ในความเสี่ยง ตามมาด้วยแมลงปอมากถึง 16% ก็เสี่ยงอันตรายเช่นเดียวกัน 

ภัยคุกคามหลายประการ

รายงานระบุว่าภัยคุกคามที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ได้แก่ มลพิษ เขื่อน การผันน้ำเพื่อใช้บนที่ดิน การใช้ประโยชน์เกินควร สายพันธุ์รุกราน และโรคภัย ทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำจืดตกอยู่ในความเสี่ยง โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากการเกษตรกรรม น้ำทิ้งจากยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และตะกอนอีกเป็นจำนวนมาก 

หรือจะเป็นการรุกรานของสายพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นข่าวที่น่าตกใจเช่นการปล่อยปลาเนื่องในโอกาสพิเศษเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้สนใจว่าสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์หรือไม่ เหตุการณ์ได้ทำลายความมั่นคงของระบบนิเวศในพื้นที่อย่างมหาศาล 

“มลพิษ เขื่อน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน กอบโกยเอาผลประโยชน์ สิ่งมีชีวิตรุกราน และโรคภัย ต่างเป็นภัยคุกคามที่สำคัญโดยสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามมากกว่า 1 ประการ” โจนส์ อธิบาย 

ผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้มีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ รวมไปถึงเพิ่มการป้องกันอื่น ๆ เช่นระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แม่น้ำ ลดการไหล่บ่าของน้ำทั้งระบบ การออกแบบอาคารและผังเมืองในการคำนึงถึงระบบนิเวศน้ำจืด ไปจนถึงการตระหนักรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์รุกราน 

“การขาดความเข้าใจ ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการ ‘ไม่ลงมือทำ’ ได้อีกต่อไป ดังที่ผู้เขียนผลการศึกษาใหม่ได้ชี้ให้เห็น” โจนส์ กล่าวต่อ “น้ำจืดนั้นเป็นแหล่งอาศัยของสายพันธุ์ที่เรารู้จักมากกว่า 10% รวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังประมาณ 1 ใน 3 และปลาอีกครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ครอบคลุมพื้นผิวโลกน้อยกว่า 1%” 

สายพันธุ์น้ำจืดเหล่านี้ต่างมีความสำคัญทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่หาได้ง่ายและเป็นแหล่งรายได้ของผู้คนจำนวนมาก การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยสนับสนุนให้ชีวิตมนุษย์ที่อยู่รอบแม่น้ำมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com

https://iucn.org

https://phys.org

https://theconversation.com


อ่านเพิ่มเติม : ชุมชนริมแม่น้ำคันทักช่วยปกป้องตะโขงอินเดีย

ให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ได้อย่างไร

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.