สัตว์สามารถป่วยเป็นโรคจิตเภทเหมือนมนุษย์ได้หรือไม่

“สัตว์สามารถ ‘ป่วย’ ทางจิตได้หรือไม่?”

ว่ากันว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต แต่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในหลายสิบปีที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่าตั้งแต่สุนัข แมว ช้าง และไปจนถึงสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาเหล่านี้ไม่ต่างจากมนุษย์ 

นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อคดาวน์ไปทั่วโลก เราหลายคนจึงต้องอาศัยอยู่กับเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของเราเกือบตลอด 24 ชั่วโมงนานนับเดือน แม้จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้บ้าง ทว่ามันก็ได้สร้างปัญหาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต

ผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ตระหนักอย่างรวดเร็วว่าผู้คนทั่วโลกมีความผิดปกติทางจิตเพิ่มขึ้นหลังจากการล็อคดาวน์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพวกเขาตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและมองไปรอบข้าง นักวิทยาศาสตร์ก็เห็นได้ว่าสัตว์จำนวนมากประสบปัญหานี้เช่นเดียวกันไม่ต่างจากมนุษย์เลย

คำถามเกี่ยวกับระดับที่สัตว์จะประสบกับอาการป่วยทางจิตนั้นมีมานานหลายศตวรรษแล้ว แม้ว่านักวิจัยและเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะ ‘สัมผัส’ ได้ถึงความรู้สึกที่สะท้อนออกมาทางดวงตาที่เศร้าสร้อยนั้น กระนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการสแกนสมองปัจจุบัน ทำให้นักวิจัยมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้ว

ปัญหาสุขภาพจิตหลายชนิดมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า ‘ภาวะการควบคุมอารมณ์ที่ผิดปกติ’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีการตอบสนองทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมต่อสิ่งกระตุ้น โดยเกิดขึ้นในบริเวณลึก ๆ ของสมองที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม 

“มนุษย์ไม่ได้มีความพิเศษหรือมีความไม่เหมือนใครในการทุกข์ทรมานจากความผิดปกติทางจิตใจ” มาร์ก เบคอฟฟ์ (Marc Bekoff) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ กล่าว “แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดมีโครงสร้างพื้นฐานของสมองและสัญญาณเคมีเหมือนกัน ดังนั้นหากเราประสบปัญหาสุขภาพจิต แล้วทำไมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นจะไม่เป็นล่ะ?

กัดแทะ เห่า และตัวสั่น

อาการ ‘ไม่สบาย’ ทางจิตของสัตว์สามารถแสดงออกมาได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ที่สามารถทำแบบทดสอบและบอกว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรบ้างในการวินิจฉัยสุขภาพจิต แต่สัตว์ไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้นพวกมันจึงแสดงออกมาผ่านการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางใดทางหนึ่งเสมอ

สุนัขและแมวที่วิตกกังวลอาจเดินไปเดิมาในห้อง ตัวสั่น ขนร่วง และอาเจียนออกมาไม่หยุด หรืออาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่าสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจแสดงออกมาในรูปแบบทำลายข้าวของเช่นเก้าอี้ โซฟา หรืออื่น ๆ ให้เสียหาย ไม่ก็โจมตีคนรอบข้างหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคยด้วยความกลัว

สิ่งนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับสุนัขทหารที่อยู่ในสงครามโดยกว่าร้อยละ 10 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้เป็นอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่ยังมีสัตว์อีกมากที่อาจประสบปัญหาอยู่ แต่ไม่มีใครสังเกตเห็น 

ในกรณีเหล่านั้น พวกมันไม่ได้ทำลาย(สิ่งของ) ไม่ได้ปัสสาวะหรือขับถ่ายไปทั่ว กรณีเหล่านั้นมักถูกมองข้ามไปเนื่องจากไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เจ้าของสุนัขจะรายงานให้เราทราบเมื่อมีบางสิ่งที่กลายเป็นปัญหาสำหรับพวกเขา ดังนั้นเราจึงพบเห็นพฤติกรรมก้าวร้าวจำนวนมาก -นั่นคือประมาณร้อยละ 90 ของกรณีทั้งหมด

ขณะที่อาการอย่างการเดินไปเดินมาในห้อง กัดเล็บ หรือทำร้ายตัวเองนั้นต้องมีการสังเกตอย่างจริงจังถึงจะเห็นได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักถูกละเลยเนื่องจากเจ้าของไม่มีเวลาใส่ใจเพียงพอ

ตัวอย่างที่น่าตกใจ

มีหลายกรณีที่สัตว์ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพจิตที่พวกมันต้องเผชิญอยู่อย่างรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ ทิป (Tip) ช้างเอเชียที่ถูกส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังสวนสัตว์ในนิวยอร์กซิตี้เมื่อช่วงปลายทศวรรษปี 1880 โดยรายงานระบุว่า ผู้ดูแลได้ทำการทารุณกรรมทิปเป็นประจำ

แต่แล้ววันหนึ่ง ทิปซึ่งปกติจะเป็นช้างที่ดูสงบและเชื่องดี กลับโจมตีและพยายามเหยียบผู้ดูแลจนตาย ทว่าทิปก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น 3 ปีต่อมาทิปโจมตีอีกครั้ง คราวนี้มันใช้งาของมันขวิดผู้ดูแลคนเดิม แม้ว่าผู้ดูแลจะรอดมาได้อย่างหวุดหวิดทั้งสองครั้ง แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้าง

บางคนกล่าวหาว่าทิปเป็น ‘บ้า’ ขณะที่บางคนเชื่อว่าทิปตัดสินใจรอ 3 ปีก่อนจะโจมตีอีกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานว่าเขามีเจตนาที่จะแก้แค้นโดยการไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ในความเป็นจริงตามการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของทิปเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมอื่น ๆ 

ความเครียดที่ต้องถูกแยกออกจากกลุ่มของตนเองอย่างไม่เป็นธรรม ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่อย่างโดดเดี่ยว และการโดนผู้ดูแลทารุณ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจสะสมมาอย่างยาวนานกลายเป็นพฤติกรรมรุนแรงขึ้นมา ทว่าคณะกรรมการกลางในตอนนั้นไม่คิดเช่นนั้น ท้ายที่สุดทิปถูกตัดสินประหารชีวิต

“ทิป ถูกมองว่าบ้า ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นโรคพิษสุนัขบ้างหรือมีอาการวิกลจริตชัดเจน แต่เพราะเขาแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อคนที่พยายามควบคุมและล่ามโซ่เขา” ลอเรล ไบรต์แมน (Laurel Braitman) ผู้เขียนหนังสือ Animal Madness กล่าว “ทิปเป็นเหยื่อของมนุษย์ที่มีแนวโน้มจะลงโทษในสิ่งที่เข้าใจผิดหรือกลัว” 

พลวัตที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงในบ้านบางตัวที่ได้สัมผัสมา เข้าของสัตว์เลี้ยงอาจลงโทษสัตว์ในสัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สัตว์แสดงออกมาว่ามีความเครียดอยู่ แต่เจ้าของเข้าใจผิดคิดว่าเป็น ‘นิสัยเสีย’ จึงทำการลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดเช่นนั้นอีก แต่การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาในภายหลัง

เข้าใจอารมณ์สัตว์ให้มากขึ้น

ทัศนคติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของสัตว์เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเคยถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นในอดีต แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมนุษย์กับสัตว์เหล่านี้มีความผูกพันกันมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว 

เราก็เริ่มสัมผัสได้ว่าพวกเขาก็มีความรู้สึกบางอย่างอยู่ข้างใน พร้อมกับให้ความสำคัญในสัญญาณที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์มากขึ้น และพยายามหาทางรักษาให้สัตว์เลี้ยงกลับมาเป็นปกติ รายงานจาก The Washington Post เผยว่าเจ้าของสุนัขร้อยละ 8 และเจ้าของแมวร้อยละ 6 ให้ยาแก่สัตว์เลี้ยงเพื่อบรรเทาความวิตกกังวล 

การที่ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงสุขภาพทางจิตของสัตว์มากขึ้นอาจช่วยลดความทุกข์ทรมานที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ได้ ปัญหาเหล่านี้หลายอย่างสามารถป้องกันได้ตั้งแต่แรกด้วยการเอาใจใส่ต่อสัญญาณต่าง ๆ ที่สัตว์เลี้ยงแสดงออกมา ซึ่งอะไรที่เล็กน้อยเหล่านี้อาจพัฒนากลายเป็นความก้าวร้าวได้ในภายหลัง

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.washingtonpost.com

https://www.popsci.com

https://www.theguardian.com

https://www.discovermagazine.com


อ่านเพิ่มเติม : แมวน่ารัก แต่อาจมีผลข้างเคียง?

นักวิทย์ฯ เตือนคนเลี้ยง เสี่ยงโรคจิตเภทเพิ่ม 2 เท่า

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.