ช่วงนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิและในป่าสงวนทางตอนเหนือของนิวซีแลนด์แห่งนี้ ลูกนกกำลังฟักเป็นตัว ผมกับเพื่อนเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัคร ที่พยายามช่วยปกป้องลูกนกจากสัตว์ผู้ล่ารุกราน และจัดข้าวของลงกระเป๋าตามวัตถุประสงค์นี้ เป้ของเราบรรจุถุงยาเบื่อหนูกลิ่นส้ม
เว้นแต่ว่าเป้าหมายของเราไม่ใช่หนูสักตัวเลย เราตามล่าสโตต สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กกินเนื้อที่ถูกนำเข้ามายังนิวซีแลนด์ในทศวรรษ 1870 ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงอย่างยิ่งต่อนกพื้นเมือง สโตตมีรูปร่างผอมเพรียว ใบหน้าคล้ายลูกแมว พวกมันจะน่ารักอยู่หรอก ถ้าไม่ได้เป็นนักฆ่าล้างผลาญขนาดนี้ สโตตสามารถปีนต้นไม้สูง 18 เมตรขึ้นไปฆ่านกพิราบโตเต็มวัย คาบเหยื่อจากที่เกาะคอนลงมายังพื้นดินข้างล่าง เมื่อสโตตสยบนกพิราบได้แล้ว ตามปกติมันจะกดเขี้ยวยาวคู่หนึ่งลงด้านหลังหัวนกแล้วกินสมอง ตามด้วยเครื่องใน และท้ายที่สุดก็กินเนื้อส่วนที่เหลือ สโตตถูกนำเข้ามาควบคุมกระต่าย แต่กลายเป็นว่ามันเก่งเรื่องการฆ่านกที่อาศัยอยู่บนพื้นดินอย่างนกสัญลักษณ์ของเรา คือนกกีวี
ความท้าทายในการล่าสโตตก็คือ พวกมันไม่ไว้ใจกับดักและยาพิษ ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีอื่น คือนำเม็ดยาพิษที่หนูไม่อาจอดใจไหวมาใส่ในสถานีเหยื่อขนาดเล็ก ลักษณะเป็นกล่องพลาสติกหล่อขึ้นรูปและขันตะปูเกลียวติดไว้กับโคนต้นไม้ หนูเป็นสัตว์ผู้ล่ารุกรานเช่นกัน แต่สโตตกินหนูเป็นอาหารด้วย ถ้าเราสามารถวางยาพิษหนูให้มากพอ สโตตที่มากินหนูก็น่าจะตายเช่นกัน ด้วยวิธีนี้ คุณยิงปืนนัดเดียวเท่ากับได้กำจัดสัตว์ผู้ล่าสองชนิดออกไปจากป่า
วิธีคิดดังกล่าวอาจฟังดูโหดร้าย แต่เรามีภารกิจที่สำคัญกว่ามากและเดิมพันสูงสำหรับประเทศนี้ กล่าวคือ สโตต หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างถิ่นที่เป็นสัตว์รบกวนอื่นๆ กำลังทำลายระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนิวซีแลนด์ ตลอดหลายศตวรรษนับตั้งแต่สัตว์เหล่านี้ถูกนำเข้ามา ชนิดพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของเราถูกทำลายล้างไปมากมายเพราะไม่สามารถปรับตัวให้ปกป้องตัวเองจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ล่าสัตว์อื่นบนพื้นดิน ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เรามีโอกาสเร่งขั้นตอนเพื่อลบล้างภัยพิบัติทางนิเวศวิทยานี้ได้ แม้ข้อกังขาทางจริยธรรมเกี่ยวกับ การเข้าแทรกแซงโดยตรงยังคงเป็นเรื่องซับซ้อน กลยุทธ์และเทคโนโลยีสำหรับกำจัดสัตว์ผู้ล่าก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งมีชีวิตในดินแดนที่ต่อมาเรียกกันว่า เอาเทอาโรอา (Aotearoa) ชื่อภาษาเมารีที่ใช้เรียกกลุ่มเกาะนิวซีแลนด์ วิวัฒน์ขึ้นเป็นเวลา 80 ล้านปีโดยไม่มีสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมปรากฏอยู่เลย นอกเหนือไปจากค้างคาวไม่กี่ชนิด จากนั้น เพียงชั่วเสี้ยววินาทีของวิวัฒนาการ สภาพการณ์ดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไปหลังจากมนุษย์เริ่มเข้ามาเมื่อประมาณ 750 ปีก่อน โดยนำภัยคุกคามใหม่ๆมากับพวกเขาระลอกแล้วระลอกเล่า แม้ว่าบางครั้งจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
ทุกวันนี้ สัตว์ผู้ล่ารุกรานที่พบมากที่สุดล่านกกว่า 55 ชนิดจนสูญพันธุ์ รวมถึงนกจับคอนบินไม่ได้ที่เคยมีอยู่บางชนิด ห่านบินไม่ได้สองชนิด และนกน่าทึ่งที่ชื่อ ฮูยา ซึ่งเป็นนกชนิดหนึ่งในวงศ์นกแวตเทิลเบิร์ดที่พบในนิวซีแลนด์เท่านั้น สี่ในห้าของชนิดพันธุ์นกเฉพาะถิ่นที่เหลืออยู่ รวมถึงนกกีวี กำลังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน สัตว์เลื้อยคลานพื้นเมืองร้อยละ 94 ก็ถูกคุกคามในลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับสองในสามของชนิดพันธุ์กบพื้นเมืองของเรา
เพื่อหยุดยั้งการทำลายล้างนี้ เจ้าหน้าที่นิวซีแลนด์วางแผนตอบโต้ให้มนุษย์ล่าสัตว์ผู้ล่าเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป ย้อนหลังไปเกือบสิบปีก่อนเมื่อปี 2016 จอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในขณะนั้น ประกาศเป้าหมายที่ดูเหมือนกล้าบ้าบิ่นของรัฐบาลในการกำจัดสัตว์ผู้ล่าชนิดหลักๆให้หมดสิ้นภายในปี 2050 สัตว์รุกรานเจ็ดชนิดที่เป็นเป้าหมายเฉพาะเจาะจง ได้แก่ หนูสามชนิด สโตต เฟอร์เร็ต เพียงพอน และพอสซัม
นิวซีแลนด์มีพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน 260,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีสัตว์ผู้ล่ารุกรานแพร่กระจายไปทั่ว ไม่เพียงภูเขาและผืนป่า แต่ยังรวมถึงธารน้ำแข็ง เนินทราย พื้นที่ชุ่มน้ำ และเขตเมืองหลายร้อยแห่ง วิธีใดก็ตามที่จะใช้แก้ปัญหานี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เก้าปีหลังเปิดตัวโครงการปลอดสัตว์ผู้ล่า นักอนุรักษ์ต่างเห็นพ้องกันว่า กลยุทธ์ควบคุมสัตว์ ผู้ล่าที่ใช้อยู่ แม้แต่การใช้ยาพิษฆ่าสัตว์ผู้ล่าสองชนิดพร้อมกัน และเทคนิคอื่นๆที่พัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาจะไม่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายสัตว์ผู้ล่าเป็นศูนย์เมื่อถึงปี 2050 หรืออาจไม่มีทางเลย ขนาดพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์ใหญ่เกินไป ทรัพยากรที่สามารถนำไปใช้ได้มีน้อยเกินไป และความเสียหายข้างเคียงยากเกินกว่าจะจัดการ
แต่การบรรลุเป้าหมายอันยากยิ่งใดๆจำเป็นต้องอาศัยการคิดใหม่ในทุกเรื่องเสมอ ขณะนี้ นักนิเวศวิทยา นักชีววิทยา ผู้สร้างกับดักสัตว์ นักจริยธรรม และวิศวกร กำลังทำเช่นนั้นอยู่ พวกเขาผสมผสานจุดแข็งของตนเพื่อเรียนรู้จากอดีต ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ถึงจะมีอุปสรรค ความก้าวหน้าที่พวกเขากำลังทำก็ช่วยให้พวกเขาคิดภาพถึงอนาคตใหม่ที่มีความหวัง นั่นคือ นกปลอดภัย สัตว์ผู้ล่าหมดไป
ชาวนิวซีแลนด์หลายหมื่นคนพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเต็มใจเข้าร่วมความพยายามนี้ โรงเรียนหลายแห่งสอนนักเรียนให้รู้วิธีดักและฆ่าสัตว์ผู้ล่าอย่างกรุณา โดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการอนุรักษ์ ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญการกำจัดสัตว์ผู้ล่าต้องการเร่งความก้าวหน้าด้วยการขยายผลที่เกิดจากอาสาสมัครเหล่านี้ แดน ทอมป์กินส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัทเพรเดเตอร์ฟรี 2050 จำกัด ซึ่งจัดสรรทุนรัฐบาลให้แก่นวัตกรรมในอนาคต กล่าวว่า งานหนึ่งที่มีความสำคัญลำดับแรกๆ คือการลดเวลาที่ใช้บำรุงรักษาอุปกรณ์ฆ่าสัตว์ผู้ล่าในภาคสนามให้สั้นลงอย่างมาก
กับดักที่ตั้งใหม่เองซึ่งมีเครื่องจ่ายเหยื่อล่ออัตโนมัติกำลังทำเช่นนั้นอยู่ กับดักนี้สามารถทำงานอัตโนมัติได้นานหลายเดือนพร้อมกับส่งสถานะการจับเหยื่อและข้อมูลอื่นๆให้เจ้าหน้าที่โครงการได้รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนสัตว์ผู้ล่าและกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งปัจจุบัน กับดักยังจำเป็นต้องถูกติดตั้งภายในกล่องหรือโครงสร้างที่มีช่องเปิดกว้างแค่พอให้สัตว์ผู้ล่าเป้าหมายเข้าไปได้ แต่ป้องกันไม่ให้สัตว์ที่ไม่ใช่เป้าหมายถูกดักโดยบังเอิญ ปัญหาคือสัตว์ผู้ล่ามากมายระแวงกับดัก
ที่กล่าวมานี้กำลังเปลี่ยนไปด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอช่วยระบุสัตว์ผู้ล่า ซึ่งเอื้อให้นำไปใช้กับกับดักที่เปิดกว้างได้ กับดักเหล่านี้ซึ่งคาดว่าจะนำไปใช้ครั้งแรกในปีนี้จะลั่นก็ต่อเมื่อสัตว์ผู้ล่าเป้าหมายเข้ามาใกล้และกล้องที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ยืนยันชนิดแล้ว นอกจากนี้ ขณะที่กับดักแบบดั้งเดิมต้องให้สัตว์เป้าหมายดัน ดึง หรือยืนบนกระเดื่องเพื่อลั่นกลไก กับดักปัญญาประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องใช้ปฏิกิริยาในระดับนั้น และยังมั่นใจได้ว่าสัตว์ผู้ล่าจะตายทันทีโดยเกิดความผิดพลาดน้อยมาก และที่สำคัญ เกิดความเสียหายข้างเคียงน้อยกว่า
ตอนนี้นิวซีแลนด์พร้อมสำหรับการกำจัดสัตว์ผู้ล่าปริมาณมากแบบอัตโนมัติในระดับที่ไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสัตว์บางคนแย้งว่า ประชาคมผู้กำจัดสัตว์ผู้ล่าไม่ได้สะสางนัยทางจริยธรรมที่ชัดเจนเสมอไป “ผมไม่ได้ต่อต้านหลักการของเพรเดเตอร์ฟรี 2050 ครับ” ไนโอ โบโซแลย์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิทยาศาสตร์และชีวจริยศาสตร์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่มหาวิทยาลัยแมสซีย์ในนิวซีแลนด์ กล่าวและเสริมว่า “แต่ถ้าคุณจะทำอะไรที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่มีความรู้สึกเป็นล้านๆตัวละก็ คุณมีหน้าที่ทางจริยธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อพวกมันอย่างดีที่สุด”
ผู้วิพากษ์วิจารณ์ยังเห็นว่า ความพยายามกำจัดสัตว์ผู้ล่ายังไม่ได้มาตรฐานความกรุณาที่เหมาะสม “โครงการกำจัดสัตว์ต่างถิ่นทั้งหมดในนิวซีแลนด์…พึ่งพาการใช้สารพิษซึ่งทราบกันดีว่าทำให้สัตว์ทนทุกข์อย่างหนักและตายด้วยความทรมาน” เจน กูดดอลล์ นักอนุรักษ์ เขียนในบทวิจารณ์ของเธอเกี่ยวกับจริยธรรมของโครงการกำจัดสัตว์ผู้ล่า “ยิ่งอ่านโครงการนี้มากขึ้น ฉันก็ยิ่งเป็นห่วงมากขึ้นค่ะ”
สำหรับขณะนี้ แม้จะมีปัญหาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ สารพิษยังคงจำเป็นอย่างยิ่งต่อภารกิจปลอดสัตว์ผู้ล่า แต่ตามที่เจมส์ รัสเซลล์ นักนิเวศวิทยาและนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ทำงานฟื้นฟูประชากรสัตว์ใกล้ สูญพันธุ์ อธิบายให้ผมฟังว่า การพิจารณาสวัสดิภาพสัตว์ต้องพิจารณาทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายสัตว์ผู้ล่าและฝ่ายเหยื่อเขาให้ความเห็นว่า ความเสียหายที่สัตว์ผู้ล่าก่อกับสัตว์พื้นเมืองรุนแรงกว่าความเสียหายที่เราก่อขึ้นจากการจัดการพวกมันมาก “การปรากฏของสัตว์ผู้ล่าเลี้ยงลูกด้วยนมในเอาเทอาโรอาเป็นความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในอดีตครับ” รัสเซลล์กล่าว “เช่นเดียวกับการที่เราพยายามแก้ไขความอยุติธรรมทางสังคมในอดีต ผมเชื่อว่าเราควรพยายามแก้ไขความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในอดีตครับ”
การไม่ทำอะไรเลยก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมเช่นกัน “การไม่ทำอะไรกับสัตว์ผู้ล่าก็เท่ากับยอมให้มันฆ่าตามอำเภอใจครับ” เบรนต์ บีเวน ผู้จัดการโครงการเพรเดเตอร์ฟรี 2050 ประจำกรมอนุรักษ์ธรรมชาติของรัฐบาล กล่าวและเสริมว่า “เราต้องเลือก และเป็นทางเลือกที่มีผลตามมาทันทีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะเป็นทางไหนดี สัตว์พื้นเมืองหรือสัตว์ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน เราก็ตัดสินให้มีสัตว์ตายอยู่ดี”
เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย โรบิน แฮมมอนด์
แปล ปณต ไกรโรจนานันท์